สัมมาสมาธิในพุทธศาสนา - สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)






เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิ จึงเป็นข้อสำคัญ เพราะจิตที่เป็นสมาธินั้นคือจิตที่ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในทางที่ถูกที่ชอบ
ย่อมเป็นที่รองรับของกุศลธรรมทั้งหลายได้ด้วย พึงพิจารณาเทียบกันดูว่าเหมือนอย่างมือแบของบุคคล
เมื่อบุคคลแบมือ และวางของอะไรลงไปในมือ ถ้ามือสะบัดแกว่ง ของที่มีอยู่ในมือนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ก็จะต้องตกหล่นไป



แต่ถ้ามือสงบนิ่ง ของที่ตั้งอยู่ในมือนั้นก็ตั้งอยู่ได้ ฉันใดก็ดี จิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย กุศลธรรมทั้งหลายก็ตั้งอยู่ในจิตไม่ได้
แต่ว่าจิตที่สงบแน่วแน่กุศลธรรมทั้งหลายจึงตั้งอยู่ในจิตได้ นี้ว่าในฝ่ายดี แม้ในฝ่ายชั่วก็เหมือนกัน ถ้าจิตไม่ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำ
แม้ความชั่วเองก็ไม่ตั้งอยู่ในจิต ต่อเมื่อจิตตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำ ความชั่วเองจึงตั้งอยู่ในจิตได้
เพราะฉะนั้นแม้ในการกระทำความชั่วทั้งหลาย ก็ต้องมีสมาธิในการทำ แต่ว่านั่นท่านแสดงว่าเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิที่ผิด
ส่วนสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้องนั้น ต้องตั้งอยู่ในทางดี กระทำความดี



เพราะฉะนั้น จึงมีพระสูตรที่แสดงว่า สัมมาสมาธินั้นเป็นตัวหลัก ซึ่งประกอบด้วยบริขาร
คือข้อปฏิบัติอันเป็นเครื่องประกอบเข้ามาอีก ๗ ข้อ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ เจ็ดข้อข้างต้นนั้นเอง
ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ จนถึงสัมมาสติ สติตั้งระลึกชอบ ทั้ง ๗ ข้อนี้ตรัสเรียกว่าเป็นบริขาร คือเครื่องประกอบ
เครื่องที่จะต้องใช้สอยของสมาธิ ก็เหมือนอย่างบริขารเครื่องใช้สอยสำหรับพระภิกษุสามเณรเช่นบาตรจีวรเป็นต้น
เรียกกันว่าบริขาร หรือสมณบริขาร แม้สัมมาสมาธิก็ต้องมีบริขาร ก็คือมรรคมีองค์ ๘ เจ็ดข้อข้างต้นนี้เอง



ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นความว่า สัมมาสมาธิในพุทธศาสนานั้น จะต้องประกอบด้วยมรรคอีก ๗ ข้อเข้ามาด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือว่าจะต้องเป็นความตั้งจิตมั่นอยู่ในทางที่ชอบ ที่จะกระทำความดีความชอบต่างๆ ที่จะให้เกิดปัญญาที่ชอบ
ให้เกิดความประพฤติที่ชอบ จึงจะต้องมีปัญญาที่ชอบ ต้องมีความประพฤติที่ชอบ จะต้องมีสติที่ชอบ ความเพียรที่ชอบประกอบเข้ามา
จึงจะเป็นสัมมาสมาธิในพุทธศาสนา คือเป็นสมาธิอันถูกต้อง  ถ้าหากว่าไม่มีองค์ประกอบอีก ๗ ข้อเข้ามาประกอบด้วยแล้ว
ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิในทางที่ผิดได้



เหมือนอย่างสมาธิของผู้ที่กระทำความชั่วทั้งหลาย ของโจรทั้งหลาย ซึ่งผู้กระทำความชั่วทั้งปวงนั้นต้องมีสมาธิ
แต่ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ และแม้ว่าจะเป็นความดี ไม่ใช่ความชั่ว ความดีก็ยังเป็นชั้นๆ เป็นชั้นกามาพจรหยั่งลงในกาม
ชั้นรูปาพจรหยั่งลงในรูปคือขั้นที่ได้สมาธิมีรูปเป็นอารมณ์ ชั้นอรูปาพจรคือสมาธิที่มีอรูปเป็นอารมณ์
ก็ยังเป็นขั้นๆ ขึ้นไปอีกเหมือนกัน รวมความก็คือว่าสมาธิในขั้นทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ก็ยังเป็นโลกิยะสมาธิ

ต่อเมื่อพ้นจาก กามาพจร รูปาพจร อรูปาวจร จึงจะเป็น โลกุตรสมาธิ  เป็นสมาธิอันประกอบด้วยมรรคอีก ๗ ข้อ เป็น ๘
กำจัดกิเลสอันเป็นเครื่องผูกพันใจ อันเรียกว่าสัญโยชน์ได้ตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป ดั่งนี้ จึงจะก้าวขึ้นเป็นโลกุตรสมาธิซึ่งเป็นสมาธิขั้นสูง



แต่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นเมื่อปฏิบัติในทางที่เป็นกุศล ที่เป็นสัมมาสมาธิไปโดยลำดับ ประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๗ อีกๆ ๗ ข้อ
รวมเป็น ๘ ด้วยกันไปโดยลำดับ ก็ใช้ได้ และในทางของการปฏิบัติก็ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นขั้นๆ ขึ้นไป
คือหยาบไปหาละเอียดไปโดยลำดับ
แล้วก็เป็นไปเอง



เหมือนอย่างขึ้นบันไดไปทีละขั้น ก็ถึงขั้นสูงสุดขึ้นเอง ในทีแรกก็ต้องก้าวขึ้นขั้นต่ำก่อน
จะไม่ก้าวขึ้นขั้นต่ำไปให้ขึ้นขั้นสูงสุดทีเดียวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า
แม้ในการปฏิบัติเบื้องต้นที่เป็นสมาธิในพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นสัมมาสมาธิ และจะเป็นสัมมาสมาธิได้
ก็ต้องประกอบด้วยมรรคอีก ๗ ข้อข้างต้น คือต้องมีทั้งปัญญา ต้องมีทั้งศีล และต้องมีทั้งสมาธิมาประกอบกัน ตามควรแก่ทางปฏิบัติ
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิอันถูกต้องในพุทธศาสนา


ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดทำความสงบสืบต่อไป


.................................................................



เนื้อหาบางส่วนจาก
สัมมาสมาธิในพุทธศาสนา - สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-053.htm



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่