มัชฌิมาปฏิปทา : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

เพราะพระธรรมวินัยคำสอนพระพุทธเจ้านี่  พระองค์ทรงแสดงไว้
ทั้งทางผิดและทางถูก  ทางผิดพระองค์ก็แสดง ทางถูกก็ทรงแสดงไว้
เพื่อให้ผู้ฟังทั้งหลายนั้นได้รู้จักคัดเลือกว่า เรื่องนี้เป็นทางผิด
เป็นความรู้ผิดเห็นผิด  ไม่ควรดำเนินตาม
เช่นอย่างแสดงไว้ในตอนต้น
แห่ง “พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เรียกว่า ทางอันเป็นที่ไปของดวงจิตนี้
สองเส้นนี้เป็นทางอันลามกซึ่งนักปราชญ์ทั้งหลาย
มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นไม่ทรงดำเนินเดินตามทางสองสายนั้น

สายที่แรกได้แก่ “กามสุขัลลิกานุโยค”  คือ ประกอบตนให้พัวพัน
อยู่ในกิเลสกาม วัตถุกามทั้งหลายไม่รู้จักสร่างจักซา ไม่รู้จักเบื่อจักหน่าย
สายที่สองได้แก่ “อัตตกิลมถานุโยค” ประกอบตนในความเพียร
อันไปในทางที่ผิด ย่อมไม่ได้บรรลุผลที่มุ่งหมายก็เป็นทุกข์เปล่าๆ
เหลือแต่สู้ทุกข์ทนทรมานแต่ร่างกายสังขาร  แต่ไม่ฝึกจิตใจให้เข้าถึงความสงบ
ไม่ทำจิตให้สงบเป็น “พื้นฐานแห่งปัญญา” ก่อน    

พิจารณาอะไรก็พิจารณาไปตามอาการของสิ่งนั้นๆ อาการเหล่านั้น
บางทีก็ผิด บางทีก็ถูกไป   จิตใจที่ไม่สงบไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
มันก็ไหลไปตามอาการนั้นๆ อันหมู่นี้ล่ะได้ชื่อว่า มันเป็นความหลงความเมา
ความไม่ได้ใคร่ครวญด้วยปัญญา แม้จะมีความรู้ท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด
  
เพียงแต่ฝึกตนไปตามสัญญาอันผิดๆพลาดๆไปอย่างนี้นะ

เหมือนอย่างคนแต่ก่อนที่ปรากฏในตำราน่ะ พวกฤาษีดาบส
พากันพิจารณาเห็นว่า  กิเลสนี้มันซ่อนอยู่ในร่างกายนี้แหละ
มันถึงได้ทำใจให้เป็นทุกข์เดือดร้อนไปอย่างนี้  
ผู้ใดมีความเห็นอย่างนี้ก็ทรมานร่างกายนี้ให้บอบช้ำไป

เช่นในตำรานั้นกล่าวไว้ว่า ไปทุบเอาสะเก็ดหินคมๆนั้นมากรีดตามร่างกาย
เพื่อให้เป็นแผลเน่าเฟอะ ส่งกลิ่นเหม็นได้รับความเจ็บปวดทุกขเวทนา  
ถ้าหากว่าตนทำอย่างนี้แล้วจิตใจมันจะได้ไม่รื่นเริง  
จะไม่เพ่งไปในความรักความใคร่เพราะว่ามันเจ็บมันปวด  
แล้วก็มองเห็นร่างกายนี่เป็นแผลเน่าเปื่อยผุพังไปอยู่อย่างนั้น
ใจมันจะได้ไม่ประหวัดไปความรักความใคร่  ความเห็นของบางคนน่ะ
ของพวกฤาษีดาบสน่ะเป็นอย่างนั้นแหละ   ทรมานตนไปนั้นจนกว่าจะตาย
จิตใจก็หาความสงบไม่ได้ ก็เสวยแต่ทุกขเวทนาอยู่อย่างนั้น  
นั่นเรียกว่า เป็นการเดินทางผิดอีกสายหนึ่ง  เรียกว่า ทรมานตนให้เหนื่อยเปล่า

บางคนก็นอนอยู่บนขวากบนหนามก็โดยเข้าใจผิด
คิดว่ากิเลสมันซ่อนตัวอยู่กับรูปกับกายนี้แหละ  เมื่อย่างร่างกายนี้
ให้มันเหือดแห้งไป แล้วกิเลสมันก็จะเหือดแห้งไปตามกันอย่างนี้  
พระบรมศาสดาของเราก็ได้ทรงทำทดลองดูเหมือนกันแหละ
ไอ้ปฏิปทาข้อนี้น่ะแต่แล้วไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
ก็จึงได้ทรงละเลิกเสีย เช่น อดนอนผ่อนอาหาร  ฉันน้อยลงไปโดยลำดับ
จนยังเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็ไม่สามารถที่จะตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณได้
  ดังนั้นพระองค์จึงละเลิกในการอดอาหาร เที่ยวบิณฑบาต
มาบำรุงอัตภาพร่างกายนี้ให้เป็นปกติ


แล้วก่อนที่พระองค์จะเลิกละความเพียรอุกฤษฎ์อย่างว่านี้
ก็มีอุคหนิมิตมาปรากฏในพระทัยของพระองค์ที่ท่านกล่าวว่า พิณสามสาย นั่นแหละ
สายที่แรกดีดเข้าไปทีเดียวก็ขาด  มันเคร่งเกินไป  สายที่สองยานเกินไป
ดีดเข้าไปก็เสียงดังไม่ไพเราะ  ไม่เป็นที่พอพระหฤทัย
สายที่สามไม่เคร่งเกินไปและก็ไม่หย่อนยานเกินไป
เมื่อดีดเข้าไปเสียงมันก็ดังไพเราะเพราะพริ้งดี  

ทรงได้อุคหนิมิตดังนั้นแล้วก็จึงมาเลือกเอา "พิณสายกลาง"
ไม่เคร่งเกินไปและก็ไม่หย่อนยานเกินไปเทียบได้กับข้อปฏิบัติ
ที่จะเป็นไปเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ  ต้องดำเนินทางสายกลาง  
ไม่ให้หย่อนยานเกินไป เช่นการไปคลุกคลีอยู่ด้วยกามคุณทั้งห้า
ยินดีพอใจอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัส
อันเป็นที่น่ารักใคร่พอใจต่างๆ อย่างนี้  ไม่ปล่อยใจ
ไม่ปล่อยจิตใจให้เพลิดเพลินไปในกามคุณนั้น  
เป็นผู้ทวนกระแสจิตเข้ามาภายในปัจจุบัน
เพ่งให้ใจมันคลายอารมณ์น่ารักน่าชังทั้งหลายออกไป
ให้มันคลายความหลงความเมาออกไป  นี่ใจก็จะได้สงบลง
เป็นปัจจุบันแล้วปัญญาก็เกิดขึ้น สามารถที่จะรู้แจ้งในธรรมของจริงได้


เมื่อพระศาสดาทรงพิจารณาพิณสายที่สาม
คือ ไม่เคร่งไม่ยานเกินไปอย่างนี้แล้ว  นั่นแหละพระองค์เจ้า
จึงทรงบำรุงอัตภาพร่างกายนี้ให้เป็นปกติ
ต่อจากนั้นก็ทรง "บำรุงทางจิตใจ"ได้แก่ การนั่งขัดสมาธิ
อยู่บนบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นแล้วเจริญอานาปานสติ
ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน  ทำใจให้เป็นกลาง  วางใจให้เป็นหนึ่ง
ด้วยอำนาจแห่งสมาธิและฌาน   นี่เป็นทางที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้
การไปทรมานร่างกายให้ซูบให้ผอมลงไปนั่นได้เสวยแต่ทุกขเวทนา
จิตใจไม่ปลอดโปร่งเลย จึงไม่เป็นทางตรัสรู้ได้  



ต่อเมื่อมาบำรุงร่างกายให้เป็นปกติ  ฉันก็ไม่ให้มากเกินไป
และก็ไม่ให้น้อยเกินไป   ฉันพอดีๆวันละมื้อ อย่างนี้ก็เรียกว่า
พออาหารมื้อเดียวนี้ก็จะสามารถบำรุงร่างกายนี้ให้อยู่ไปได้ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง  
เมื่อมองเห็นปฏิปทาอย่างนี้จึงได้เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเพียงมื้อเดียว
และก็ไม่มากเกินไป  ถ้าฉันมากไปอาหารทับธาตุ  
นั่งภาวนาจิตใจก็มีแต่ง่วงแต่เหงาหาวนอน  ไม่เป็นอันภาวนา
เพราะฉะนั้นจึงทรงฉันพอดิบพอดี  พอแก่กำลังไฟธาตุ
ที่มันจะย่อยได้ละเอียด  เมื่อไฟธาตุมันย่อยอาหารได้หมดดีอย่างนี้
ร่างกายก็กระชุ่มกระชวยปลอดโปร่ง จิตใจก็พลอยปลอดโปร่งไปด้วย
  ไม่มากไปด้วยความง่วงเหงาหาวนอน  
อันนี้เรียกว่า “ทางมัชฌิมา”  “ทางสายกลาง” นะ  
ดำเนินอย่างนี้แหละ

...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"อุบายแก้ไขจริตนิสัยของตนให้ดีขึ้น"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่