+++ อ่านจบแล้ว จะหายกลุ้มใจเรื่องลูกกินยาก +++

“เลี้ยงลูกยังไง ทำไมถึงผอมขนาดนี้”
“ทำไมไม่เอานู่น นี่ นั่น ให้ลูกกิน”
“เป็นเพราะกินนมแม่ ถึงได้น้ำหนักน้อยแบบนี้”

หลากหลายประโยคที่สร้างความเครียดและความกดดัน
ให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีปัญหาลูกกินยาก โดยเฉพาะช่วงวัย 1-5 ขวบ

ทำให้พ่อแม่หลายคนส่งคำถามมาปรึกษาว่า ทำยังไงดี ลูกกินยากเหลือเกิน
พยายามสรรหาทุกอย่างให้กินแล้ว ลูกไม่เอาเลยสักอย่าง

กังวลกลัวลูกน้ำหนักตกเกณฑ์ มียาหรือวิตามินอะไรพอช่วยได้มั้ยคะ

ซึ่งเมื่อหมอถามข้อมูล ส่วนใหญ่ก็จะแข็งแรงดี หรืออาจจะเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัดบ่อย

ประเมินน้ำหนักและส่วนสูงแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ
บางคนอาจจะค่อนข้างน้อย แต่ไม่ถึงกับตกเกณฑ์

หลายๆครั้งหมอพบว่า ความเครียดหรือความวิตกกังวลของพ่อแม่
อาจจะมาจากความเชื่อ หรือความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องกินและน้ำหนักของลูก ได้แก่

1)    ลูกกินยาก น้ำหนักน้อย แปลว่าพ่อแม่เลี้ยงไม่ดี

ซึ่งไม่เกี่ยวกัน เพราะตามธรรมชาติของเด็กอายุ 1 ขวบเป็นต้นไป
จะสนใจการกินน้อยลง ห่วงเล่นมากกว่ากิน เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ดื้อ เลือกที่จะกินหรือไม่กินอาหารบางอย่าง
หรือชอบอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการปกติตามวัย

2)    อ้วน = แข็งแรง หรือ ผอม = ขี้โรค

หลายครอบครัวได้รับการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ มองว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กน่ารักและแข็งแรง  
ส่วนเด็กที่ผอมหรือน้ำหนักปกติ กลายเป็นเด็กขี้โรค ซึ่งสองอย่างนี้ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
เด็กอ้วนบางคนก็ป่วยบ่อยมาก ทั้งภูมิแพ้ หอบหืด ตรงกันข้ามกับเด็กที่ผอม หรือน้ำหนักปกติ มักจะแข็งแรงดี

3)    เข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ปัจจุบันในบ้านเรามีเด็กอ้วนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เด็กที่น้ำหนักปกติถูกเปรียบเทียบ
กลายเป็นเด็กผอมเกินไป เลยพยายามยัดเยียดเรื่องกินให้เด็กมากขึ้น

  
4)    ลูกไม่กิน แปลว่าผิดปกติ

ปัญหาลูกกินยากเป็นเรื่องที่เจอกันแทบทุกบ้าน
และจากรายงานการวิจัยพบได้ถึง 30-40% ในช่วงวัย 1-3 ขวบ
ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามวัย ไม่ใช่จะติดนิสัยไปจนโต

5)     เปรียบเทียบการกินของลูกกับเด็กคนอื่น        

แม้ว่าจะน้ำหนักเท่ากัน แต่เด็กแต่ละคนอาจกินอาหารได้มากน้อยต่างกัน
ขึ้นกับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม ของเด็กแต่ละคน

และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ เป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวัน
ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น หลังวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายเหนื่อยๆ อาจจะกินได้มากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ก็อาจทำให้เบื่ออาหารไปชั่วคราวได้เช่นกัน

                
6)    คาดหวังมากเกินว่าลูกจะกินหมด  


จากการศึกษาวิจัยพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ จะตักอาหารให้ลูก
ในปริมาณมากกว่าที่ร่างกายของลูกต้องการจริงๆ
เมื่อเด็กกินไม่หมด ทำให้พ่อแม่กังวลและพยายามยัดเยียด  
            
7)    ใช้วิธีดุว่า บังคับ หรือลงโทษ เพื่อให้ลูกกินมากขึ้น

ยิ่งพ่อแม่กังวล พยายามกดดันให้ลูกกินเยอะๆ ยิ่งสร้างความเครียด
เด็กยิ่งต่อต้านการกินและไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร  
เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น อมข้าว ใช้เวลานานในการกินข้าวแต่ละมื้อ
กินไปเล่นไป หรือแม้แต่อาเจียน ซึ่งยิ่งทำให้พ่อแม่เครียดและกังวลมากขึ้น เท่ากับเพิ่มปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น


ทั้ง 7 ข้อที่เขียนมานี้ หวังว่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ คลายกังวลเรื่องการกินและน้ำหนักของลูกได้
เข้าใจธรรมชาติการกินของเด็ก และมีค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการกิน และน้ำหนักตัวของลูก

ใครมีคำถาม หรืออยากแชร์ประสบการณ์ สามารถติดตามได้ที่
Fanpage: Hormone for Kids by Dr.OrN https://www.facebook.com/Hormone-for-Kids-by-DrOrN-113780158959315/?ref=hl
Line ID: @hormoneforkids
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่