มหัศจรรย์ภาษาใน “ข้างหลังภาพ” โดย อาจารย์พรธาดา สุวัธนวนิช

ผมมีโอกาสได้ไปอบรมในโครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในวาระครบรอบชาตะกาบ 110 ปี”ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)  ซึ่งเป็นการเขียนนวนิยายโดยการแกะรอยนวนิยายของศรีบูพาเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ซึ่งจัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับกองทุนศรีบูรพา ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา  โดยการอบรมในครั้งนี้สำหรับผู้ที่ได้เคยอ่านนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” มาแล้ว  ผมจึงขอสรุปคำบรรยายไว้สำหรับการกลับมาทบทวนในภายหน้า  และเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจในการเขียนนวนิยาย

การอบรมในวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2558    ในช่วงเช้าเป็นการบรรยายในหัวข้อ มหัศจรรย์ภาษาใน “ข้างหลังภาพ”  ซึ่งเป็นการบรรยายให้ความรู้โดย อาจารย์ ดร.พรธาดา  สุวัธนวนิช  อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ซึ่งผมขอสรุปเป็นหัวข้อดังนี้





-อ.พรธาดา บอกว่า ความมหัศจรรย์ของนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้มีเยอะมาก  โดยตั้งข้อสังเกตว่า  ทำไมทุกครั้งที่มีคนแตะต้อง มรว.กีรติ จะต้องมีคนออกมาปกป้องเสมอ คือถ้ามีใครวิจารณ์ตัวละคร มรว.กีรติอย่างรุ่นแรงก็จะมีคนมาออกรับแทนในทันที

-ผู้หญิงเกือบทุกคนที่อ่านจะพูดเป็นเสียงด้วยกันว่า “คุณหญิงกีรติน่าสงสาร”  บางคนคิดว่าให้ท่าเสียขนาดนั้นนพพรยังไม่รู้อีก ในขณะที่ผู้ชายอย่างนพพรก็ต้องการความรัก  ต้องการให้ มรว.กีรติ พูดคำว่า “รัก”  พยายามทุกอย่างแต่ตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงรู้สึกอย่างไร

-อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เคยบอกไว้ว่า “คุณหญิงกีรติพยายามทำทุกอย่างให้ตัวเองดูดี   เพื่อให้ผู้ชายดู” มรว.กีรติประสบความสำเร็จว่าดูดีเมื่อมีนพพร ถึงตัวเธอจะตายก็ไม่ยอมเอ่ยปากบอกว่า “รัก”  ไม่มีผู้หญิงคนไหนในยุคสมัยนั้นที่กล้าหาญชาญชัยขนาดนี้

-คำ ผกา จากรวมบทวิจารณ์ชื่อ “กระทู้-ดอnทaง” บอกไว้ว่า “สงสารคุณหญิงกีรติ พร้อมทั้งสมน้ำหน้าไปด้วย”  โดยธรรมชาติของผู้หญิงทุกยุคทุกสมัยเหมือนกันหมด คือต้องการความรักจากชายคนที่ตัวเองรัก  แต่สังคมในยุคก่อนยังมีกรอบอะไรบางอย่างอยู่ที่ทำให้ผู้หญิงแสดงออกมากไม่ได้

-สำหรับเรื่องความมหัศจรรย์ภาษาใน “ข้างหลังภาพ” นี้ อ.พรธาดาขอแบ่งออกเป็น 3 อย่างคือ 1.ภาษาที่ใช้เล่าเรื่อง 2.ภาษาที่ใช้สร้างตัวละคร 3.ภาษาที่ใช้แสดงทัศนะ

(1) ภาษาที่ใช้เล่าเรื่องนั้น  จะมีการสร้างลางบอกเหตุไว้ตลอด การเล่าเรื่องก็ไม่บอกทุกสิ่งทุกอย่าง   เล่าเฉพาะมุมมองในเรื่องเท่านั้น

-วิธีการเล่าเรื่องของ “ข้างหลังภาพ” นี้สามารถใช้เป็นแม่แบบสำหรับการเขียนนวนิยายได้เลย  คือมีการเล่าเรื่องที่สมบูรณ์จนไม่อาจแก้ไขเองให้เปลี่ยนไปจากเดิมได้

-ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเรื่องที่ขึ้นต้นว่า “3 วันลุล่วงไปแล้ว ....” วลีแรกทำให้คนอ่านสนใจที่จะติดตาม เมื่ออ่านต่อไปก็ก็จะรับรู้ได้ว่า ข้าพเจ้า(ในเรื่อง)มีอะไรบางอย่างที่ไม่ต้องการให้ภรรยารู้ เป็นภาพที่เพื่อนวาดแต่ทำไมเมื่อภรรยาถามจึงสะดุ้ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นลางบอกเหตุในตอนต้นเรื่องด้วยว่าเรื่องนี้อาจจะจบไม่สวย

-การเปิดเรื่องแล้วคนอ่านอยากอ่านต่อนั้นถือว่าเป็นศิลปะของการเขียนเปิดเรื่อง

-การเล่าตามลำดับเรื่องเน้นที่การพัฒนาความสำคัญของตัวละครเป็นหลัก  โดยอ.พรธาดานับได้ทั้งหมด 26 ตอน เช่น ตอนที่นพพรยังไม่ได้เจอ มรว.กีรติก็วาดภาพไว้อย่างหนึ่ง ,  ได้ข่าวเจ้าคุณอธิการแต่งงานใหม่กับ มรว.กีรติ , เพลงที่ใช้ในเรื่องก็มีความสำคัญ ฯลฯ

-ฉากที่นพพรปลดผ้าพันคอมาคลุมเท้าให้คุณหญิงกีรตินั้น  อาจจะเป็นได้ว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง  เท้านั้นถือว่าเป็นอวัยวะที่มีส่วนกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้  เหมือนกับใต้วงแขน (รักแร้) หรือต้นคอ

-ในตอนแรกที่นพพรเจอกับ มรว.กีรตินั้น  นพพรยังไม่รู้ตัวเลยว่ารัก มรว.กีรติ  อ.พรธาดา ตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ถ้านพพรไม่รู้ว่าคุณหญิงกีรติไม่ได้แต่งงานด้วยความรัก  นพพรจะกล้าทำ(ที่มิตาเกะ)อย่างนั้นไหม?   เป็นไปได้ไหมว่า  เพราะนพพรรู้ว่าคุณหญิงกีรติไม่ได้รักเจ้าคุณอธิการเลย  ดังนั้นสิ่งที่นพพรทำ (ที่มิตาเกะ) จึงไม่ผิด

-ในเรื่องนพพรรัก มรว.กีรติ แต่นพพรไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตอยู่กับ มรว.กีรติเลย

-ในเรื่องตอนท้าย ๆ ระยะเวลา 2 เดือนที่นพพรแต่งงานไปนั้นเป็นช่วงเวลาที่อาการของ มรว.กีรติ ทรุดหนักมากจนกระทั่งเสียชีวิต

-อ.พรธาดา ตั้งข้อสังเกตว่า  เวลาที่คนไทยดูหนังดูละครนั้น  คนดูอยากดูว่าเรื่องราวมันไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? มากกว่าที่ต้องการรู้ตอนจบของเรื่อง ในบางครั้งคนดูก็รู้ตอนจบของเรื่องอยู่แล้ว  แต่ก็ยังดูเพราะอยากทราบกระบวนการและรายละเอียดมากว่า   ภาษาที่ใช้จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่านี้นั้นน่าสนใจมากขึ้น







-ในเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ความรักของนพพรขึ้นสูงสุดที่มิตาเกะ  แต่ความรักของ มรว.กีรติ เพิ่งจะเริ่มต้น  เพราะ มรว.กีรติ รู้แน่ชัดว่าผู้ชายคนนี้รักตัวเองจริง

-อ.พรธาดา ตั้งคำถามว่า ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะจำความรักในอดีตของตัวเองไม่ได้เหมือนนพพรใช่หรือไม่? (ตอบเขาสิ)

-ในบทที่ 2 ที่ มรว.กีรติเย็บซ่อมเนคไทให้นพพรนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้นพพรประทับใจ  สาเหตุเป็นเพราะว่า  คนที่จากบ้านจากเมืองมาอยู่คนเดียวก็ต้องทำอะไรเอง  พอมีคนอื่นมาช่วยทำให้จึงเกิดความประทับใจ

-ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่มิตาเกะนั้น  มีการสร้างลางบอกเหตุไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง  คือภาพวาดมิตาเกะ

-นักเขียนควรจะสร้างลางบอกเหตุไว้เป็นระยะเพื่อคอยบอกให้ผู้อ่านเตรียมใจไว้ก่อน แม้ว่าจะต้องคอยหลบซ่อนสิ่งสำคัญในเรื่องเอาไว้ตาม  แต่ก็ยังต้องสร้างลางบอกเหตุไว้ด้วย

-การเล่าเรื่องโดยไม่บอกทุกสิ่ง  คือการสร้างปริศนาให้ผู้อ่านได้คิด  เช่น  ในเรื่องผู้อ่านคิดว่าท่านเจ้าคุณอธิการรัก มรว. กีรติไหม?  คนอ่านอาจจะคิดว่าเจ้าคุณอธิการเอ็นดู มรว.กีรติ มากกว่าเพราะเป็นลูกของเพื่อนที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก , ในเรื่องนพพรจะคิดว่าเจ้าคุณอธิการรัก มรว.กีรติ ใช่ไหม? , มรว. กีรติรักนพพรตรงไหน? ฯลฯ  เป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องอ่านแล้วคิดเอาเอง

-หลังจากที่เจ้าคุณอธิการเสียชีวิตแล้ว  มรว.กีรติอยากจะใช้ชีวิตกับนพพรหรือไม่?  ซึ่งการแต่งงานในเรื่องนั้น  อาจจะมีความหมายว่าเป็นการได้ออกมาสู่โลกใหม่ก็เป็นได้

-อ.พรธาดา ให้ข้อสังเกตประการหนึ่งว่า  ผู้ชายจะเรียนรู้ถึงความเป็นหญิงจากพี่สาวของตัวเอง  ถ้าผู้ชายคนไหนไม่มีพี่สาวก็มักจะไปหาพี่สาวเอาข้างนอก   อย่างเช่นบทเพลง “พี่สาวครับ” ของคุณจรัล มโนเพ็ชร

-เรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้มีการจบเรื่องด้วยประโยคที่เป็นอมตะ “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน  ฉันก็อิ่มใจว่ามีคนที่ฉันรัก”

-มุมมองของการเล่าเรื่อง  ดูเหมือนว่าจะมี 2 มุมมอง นพพรคนปัจจุบันที่เป็นผู้เล่าเรื่องกับนพพรในอดีต  เป็นการที่นพพรในปัจจุบันมองย้อนไปดูตัวเองในอดีต

(2) ภาษาที่ใช้สร้างตัวละคร มี 2 แบบ

1. ภาษาที่บอกเล่าถึงตัวละครโดยตรง บรรยายโดยตรงเช่น นพพรพูดถึงความรู้สึกปัจจุบัน (แล้วมองภาพ) นพพรจึงนึกถึงตัวเองในอดีต

2. ภาษาที่ใช้เล่าถึงตัวละครแบบอ้อม ๆ โดยไม่บอกตรง ๆ เช่น ใช่ว่าจะไม่เข้าใจตัวเอง , ใจมันไม่เป็นไปตามใจของตัวเอง ฯลฯ

-ภาษาที่ใช้บรรยายถึงพฤติกรรมที่พิเศษของตัวละคร  เช่น นพพรปลดผ้าพันคอมาคลุมเท้า มรว.กีรติ , การกระทำของ มรว.กีรติ ที่วันไปรับนพพรที่ท่าเรือใส่เสื้อผ้าชุดเดิม สีน้ำเงินลายดอกขาวตัวที่เคยใส่ในวันที่เจอกันครั้งแรก เป็นการบอกนพพรเป็นนัยว่า “ฉันคนเดิม” , มรว.กีรติ ไปเดินเล่นในสวนสาธารณะด้วยการใส่ชุดกิโมโนเพราะต้องการละทิ้งความเป็นไทยไปชั่วคราว , มรว.กีรติ ต้องทำให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอเมื่ออยู่ต่อหน้านพพร  แม้จะป่วยอยู่ยังต้องขอแต่งตัวสวยก่อนที่จะเจอกับนพพร เพราะ “ฉันรักนพพร” อยากให้นพพรจำภาพที่ดีที่สุดของเธอ

-การกระทำของเจ้าคุณอธิการที่เปิดโอกาสให้นพพรได้ใกล้ชิด มรว.กีรติ บ่อย ๆ นั้น  เพราะอยากให้คุณหญิงกีรติได้คุยกับคนที่วัยใกล้เคียงกันใช่หรือไม่?

-มีการบอกถึงตัวละครทางอ้อมในบทสนทนา  เช่น ในเวลาไม่นานนพพรยกย่องคุณหญิงกีรติเป็นถึง 3 อย่าง คุณหญิงเป็นกวี คุณหญิงเป็นจิตรกร คุณหญิงเป็น (เป็นอะไรหว่า?)  บทสนทนานี้เป็นภาพความหลงใหลของนพพรที่ไม่เคยเจอใครดีขนาดนี้ , และที่ มรว.กีรติ บอกนพพรว่า “เธอเป็นโคลัมบัสของฉัน ที่ทำให้ฉันค้นพบสิ่งใหม่”  เป็นการบอกถึงประสบการณ์รักของคุณหญิงกีรติที่ไม่เคยรู้จักความรักมาก่อน

-สิ่งที่เรา(ผู้อ่าน)รู้จัก มรว.กีรติ นั้นเราไม่ได้รู้จักกับคุณหญิงกีรติตรง ๆ แต่รู้จักทางอ้อมจาก จดหมายที่ท่านเจ้าคุณอธิการเขียนบอกถึงคุณหญิงกีรติ , จากพ่อของนพพรที่เล่าถึงคุณหญิงกีรติ , จากน้าของคุณหญิงกีรติที่พูดถึงคุณหญิงกีรติ ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเขียน  วิธีการทำให้รู้จักตัวละครจากมุมมองของตัวละครอื่น ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกว่าคุณหญิงกีรติยังมีความลึกลับอยู่

(3) ภาษาที่ใช้แสดงทัศนะ ซึ่งในเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้ศรีบูรพาได้แสดงทัศนะหลาย ๆ อย่างเอาไว้ เช่น

-ทัศนะของนักเรียนนอกที่ต้องการนำความรู้ความสามารถกลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติ

-ทัศนะที่มีต่อความรู้สึกลุ่มร้อนของวัยหนุ่ม

-ทัศนะที่มีต่อเรื่องการแต่งงาน ศรีบูรพาแสดงให้เห็นว่า การแต่งงานกับความรักนั้นเป็นคนละเรื่องกัน  เช่นบางคนอาจจะแต่งงานเพื่อเงิน หรือเพื่อความต้องการอื่นก็ได้  ซึ่งการแต่งงานเพราะความรักนั้นเป็นแนวความคิดใหม่ (ในสมัยนั้น)  เดิมเรื่องการแต่งงานเป็นเรื่องของหน้าที่ที่ต้องทำตามที่ผู้ใหญ่จัดเตรียมให้ (คลุมถุงชน)  โบราณบอกว่าแต่งงานด้วยความรักนั้นจะไปไม่รอด  เพราะถ้าหมดรักเมื่อใดชีวิตรักก็จะสูญสลายตามไปด้วย หมดรักก็เลิก  ดังนั้นจึงควรแต่งงานด้วยความเหมาะสม

-การแต่งงานของ มรว.กีรติ (แต่งงานกับเจ้าคุณอธิการ) ในเรื่องนั้นเป็นความสบายใจของหลาย ๆ ฝ่าย

-ทัศนะด้านการครองตัวและการใช้ชีวิตของกุลสตรีในสมัยนั้น  ในสมัยก่อนผู้หญิงต้องอยู่บ้านเสมอ  ผู้หญิงออกไปทำงานไม่ได้  ผู้หญิงขายของเก่ากินได้แต่ออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านไม่ได้

-ทัศนะในเรื่องที่ว่า ความงามเป็นอาภรณ์ของผู้หญิง ถ้าไม่สวยก็ต้องทำให้ตัวเองดูดีเสมอ ผู้หญิงคือดอกไม้ที่คงความสวยงามไว้เพื่อโลกนี้  ดังนั้นด้วยความงามของผู้หญิงจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เจอกับอะไรใหม่ ๆ เสมอ

-การสร้างตัวละครนั้นผู้เขียนต้องมีความพิถีพิถัน  สร้างตัวละครด้วยการเล่าเรื่อง จะทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครจากพัฒนาการในเรื่อง คือเรื่องยิ่งดำเนินไปมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้อ่านก็รู้จักตัวละครมากขึ้นเท่านั้น

-อ.พรธาดา ให้ข้อสังเกตว่า  นักเขียนผู้ชายที่รู้จักผู้หญิงได้ดีที่สุดคือ ศรีบูรพา รองลงมาคือ รพีพร ส่วนนักเขียนผู้หญิงที่รู้จักผู้ชายได้ดีที่สุดก็คือ กฤษณา อโศกสิน รองลงมาคือ ทมยันตรี

-นักเขียนต้องรู้จักสวมวิญญาณของอีกเพศหนึ่งให้ได้ (ชายสวมวิญญาณหญิง , หญิงสวมวิญญาณชาย)  โดยใช้วิธีสังเกตจากคนใกล้ตัว  แต่ต้องอย่าให้คนนั้นรู้  คือขอยืมคาแรกเตอร์ (บุคลิก) ของเขามาแต่ไม่ต้องเอาของเขามาทั้งชีวิต

-ในท้ายสุด อ.พรธาดาสรุปให้ฟังว่า การใช้ภาษาของศรีบูรพาในเรื่อง “ข้างหลังภาพ” นี้ถือว่าเป็นส่วนผสมของภาษาที่มีความกลมกล่อมคือผสมกันระหว่าง การเล่าเรื่อง + การสร้างตัวละคร + การแสดงทัศนะ


ท้ายสุดนี้ผมขอขอบคุณท่านอาจารย์ ดร.พรธาดา  สุวัธนวนิช ที่ให้ความรู้อันเป็นประโยชน์สำหรับผม  รวมทั้งขอขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมและกองทุนศรีบูรพา ที่ให้โอกาสผมได้เข้ารับอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้

ขอบคุณครับ


พาพันชอบพาพันขอบคุณ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่