ท่ามกลางบรรยากาศลำธารที่มีน้ำใสไหลผ่านจนเห็นหินตะปุ่มตะป่ำ ใบไม้พลิ้วไหวตามแรงลมโชยพัดอ่อน พบชายหญิงนั่งคุยกันอย่างออกรสใต้ต้นไม้ หากกล่าวแค่นี้อาจนึกไม่ออกว่านี่คือบทบรรยายของนวนิยายเรื่องใด แต่หากพูดว่า ‘มิตาเกะ’ คงจะนึกออกว่านี่คือสถานที่ของการเกิดเรื่องราว ‘ข้างหลังภาพ’
นวนิยายข้างหลังภาพ ถูกเขียนจากปลายปากกาของ ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2480 ได้รับยกย่องจากหลาย ๆ คนว่าเป็นงานประพันธ์ที่มีลีลาวาทศิลป์อันละเมียดละไม สำนวนไพเราะเพราะพริ้ง สอดแทรกไปด้วยค่านิยม ขนบธรรมเนียมของไทย ตลอดจนข้อขบคิดในด้านความรัก
ข้างหลังภาพเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นพพร’ นักเรียนไทย อายุ 22 ปี ที่มาเรียนในประเทศญี่ปุ่น โดยนพพรถูกไหว้วานให้ดูแลเพื่อนสนิทของบิดาที่มาฮันนีมูนในประเทศญี่ปุ่น คือ ‘เจ้าคุณอธิการบดี’ พร้อมด้วยภรรยา ‘หม่อมราชวงศ์กีรติ’ ซึ่งการพบกันของนพพรและหม่อมราชวงศ์กีรติในครั้งนี้ ทั้งสองคนไม่ทราบเลยว่า จะนำพาไปสู่โศกนาฏกรรมความรักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นกน้อยในกรงทอง
“เธอจงเห็นใจฉันเถิด เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก ประโลมโลก และเพื่อจะทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด เราจำต้องบำรุงรักษารูปโฉมของเราให้ทรงคุณค่าไว้ จริงอยู่นี่มิใช่หน้าที่อันเดียวหรือทั้งหมดของสตรีเพศ แต่เธอคงไม่ปฏิเสธว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา”
“ผมไม่มีความเห็นแย้งเลยในข้อนี้ เพราะว่านอกเหนือจากความดี บุรุษแสวงความงามในสตรีเพศ”
“ยิ่งกว่านั้น บางทีคุณความดีของสตรีก็ถูกมองข้ามไปเลย ถ้ามิได้มีอยู่ในความงาม”
นี่คือหนึ่งในบทสนทนาระหว่างหม่อมราชวงศ์กีรติและนพพรที่แสดงถึงค่านิยมความงามของผู้หญิงจากรูปลักษณ์ภายนอก ในการพบกันครั้งแรก นพพรคาดคะเนว่าหม่อมราชวงศ์กีรติมีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น แต่เมื่อทราบว่าแท้จริงแล้วเธออายุมากถึง 35 ปี นพพรกลับตกใจและกล่าวว่าเธอพูดปด ซึ่งการที่เธอดูสวยสะพรั่งอ่อนกว่าวัยล้วนมาจากการบำรุงประทินผิวมากกว่าหนึ่งชั่วโมง
ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ความงามมักเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนมองหาเสมอ รองลงมาคือความดีและความสามารถ แม้นจะอุดมไปด้วยความดี หากแต่ไร้สิ้นความงาม สตรีผู้นั้นก็จะถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งหม่อมราชวงศ์กีรตินับว่าโชคดี เพราะเธอมีทั้งความงาม ความเฉลียวฉลาด และเต็มไปด้วยความดี ดังที่นพพรกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าเคยพบสตรีคนใดที่ทรงเสน่ห์และความงามยิ่งไปกว่าหม่อมราชวงศ์กีรติหรือไม่? ข้าพเจ้าเคยพบสตรีคนใดที่ทั้งอ่อนหวานและฉลาดหลักแหลมยิ่งไปกว่าหม่อมราชวงศ์กีรติหรือไม่?’
นอกจากคำกล่าวข้างต้นจะแสดงค่านิยมความงามของผู้หญิง ศรีบูรพายังสอดแทรกข้อเสียเปรียบในการจำกัดเพศสภาพของผู้หญิงที่อยู่ในสังคมผู้ชายเป็นผู้นำ โดยถือเสมือนผู้หญิงเป็นเครื่องรองรับอารมณ์ความใคร่ และเครื่องประดับฐานะเพียงเท่านั้น
“ฉันอยู่บ้านเรียนหนังสือจากครูแหม่มบ้าง บางทีท่านพ่อก็ส่งฉันไปอยู่ในรั้วในวัง รับใช้เจ้านายใหญ่โตองค์หญิงบางองค์ที่เป็นญาติของเรา ฉันใช้ชีวิตวัยสาวในทำนองนี้หลายปี ฉันต้องอยู่ในโลกของเจ้านายนานพอ จนฉันแทบไม่มีโอกาสจะระลึกว่า ความเป็นสาวนั้นมีค่าอย่างที่สุดสำหรับสตรีเพศเพียงใด”
“เพราะว่าเราไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นคนช่างคิด เรามีทางที่เขากำหนดไว้ให้เดิน เราต้องอยู่ในทางแคบ ๆ ตามจารีตประเพณีขนบธรรมเนียม”
กิจวัตรของสตรีผู้สูงศักดิ์ด้วยตำแหน่งหม่อมราชวงศ์ ในยุคที่ยังถือขนบสตรีที่ต้องอยู่ในกรอบ คงหนีไม่พ้นการเข้าไปเรียนวิชากุลสตรีในวังจากเจ้านายชั้นสูง ทั้งการเย็บปักถักร้อย และการอบรมงานบ้านงานเรือน ไม่บ่อยมากนักที่จะมีโอกาสเที่ยวเล่นเหมือนหญิงสาวที่ไร้ฐานันดร
แม้เธอจะได้รับการศึกษาจากครูชาวตะวันตก ก็จะได้เรียนในหลักสูตรลักษณะที่ผู้หญิงพึงมีเช่นกัน ดังที่หม่อมราชวงศ์กีรติกล่าวว่า ถึงเธอจะเรียนหนังสือกับแหม่ม แต่ก็เป็นแหม่มแก่ ๆ ไม่ต่างจากแม่นมของเธอ ทำให้เธอไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้สัมผัสโลกภายนอกผ่านการศึกษา
หากจะหาคำนิยามที่เหมาะสมกับหม่อมราชวงศ์กีรติ คำว่า ‘นกน้อยในกรงทอง’ ดูจะไม่เกินจริง
ออกท่องโลกใหม่
“นพพรเธอเป็นโคลัมบัสของฉัน เธอนำให้ฉันได้มาพบโลกใหม่”
โคลัมบัส หรือ คริสโตเฟอร์ โคลัสบัส นักสำรวจผู้บุกเบิกเส้นทางเดินเรือจนพบทวีปอเมริกา ซึ่งก็ไม่แปลกนักหากหม่อมราชวงศ์กีรติจะเปรียบนพพรเป็นโคลัมบัส เพราะนพพรทำให้เธอเห็นโลกอีกใบที่แตกต่างจากประเทศไทย ทั้งภูมิทัศน์ใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ผู้คนใหม่ ตลอดจนความรักอันลึกซึ้งที่เธอไม่เคยสัมผัสมาก่อน
หากมองบนพื้นฐาน Beauty Standard อาจเรียกได้ว่าเธอโชคดีที่เกิดมาสวย แต่กลับโชคร้ายเรื่องความรัก เพราะความสวยของเธอเป็นภัยมากกว่าโชค ความสวยเป็นสิ่งป้องกันและกีดกันเธอจากโลกภายนอก เมื่อนั้นแล้วการพบความรักจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
นพพรอาจเป็นรักแรกและรักเดียวของหม่อมราชวงศ์กีรติ เพราะการที่เธอแต่งงานกับเจ้าคุณอธิการบดีนั้นไม่ได้เกิดความรัก แต่เกิดจากการที่เธอสิ้นหวังในการรอรักแท้ วันแล้ววันเล่าที่เวลาผ่านล่วงไปจนเธอย่างเข้าอายุ 35 ปี เธอจึงต้องยอมตกลงแต่งงานกับหนุ่มรุ่นราวคราวพ่อ
เป็นอะไรก็เป็นเถิด แต่จงเป็นอย่างดีที่สุด
“แม้มิได้เป็นดวงอาทิตย์ ก็จงเป็นดวงดาว”
ประโยคข้างต้นเป็นหนึ่งในเนื้อเพลงปลอบประโลมใจให้พอใจในฐานะของตน ที่นพพรแปลความหมายจากภาษาญี่ปุ่นตามคำขอของหม่อมราชวงศ์กีรติ
การพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่นั้นนับว่าเป็นเรื่องดี แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกเช่นนั้น มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเสมอ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากแต่แท้จริงแล้วเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างดีที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า ‘แม้มิได้เกิดเป็นดอกซากุระ ก็อย่ารังเกียจที่จะเป็นบุปผาพรรณอื่น ขอแต่ให้เป็นดอกที่งามที่สุดในพรรณของเรา’
หากเราไม่พึงพอใจในตัวเองแล้ว ใครกันเล่าจะมาพึงพอใจในตัวเรา
นอกจากเรื่องการสอดแทรกขนบธรรมเนียมแล้ว ข้อขบคิดเรื่องความรักก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านมุมมองความรักระหว่างหม่อมราชวงศ์กีรติ หญิงผู้มีประสบการณ์ความรักอย่างจำกัด และนพพร เด็กหนุ่มที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ด้วยตัวหม่อมราชวงศ์กีรติเองที่มีอายุ 35 ปี การแต่งงานที่แลกมาด้วยความผาสุกแต่ปราศจากความรักนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ทดแทนกันได้ เพราะนิยามความผาสุกของเธอนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ชีวิตที่อุดมไปด้วยความรัก แต่ยังรวมถึงการได้พบความแปลกใหม่ในอีกโลกหนึ่ง อีกทั้งการแสดงออกความรักของเธอมักจะใช้นัยทางคำพูดมากกว่าการกระทำ ในขณะที่นพพรเห็นแย้งในข้อที่ว่า ความผาสุกที่ไร้ความรักดูแห้งแล้งเหลือเกิน และการแสดงออกความรักไม่จำเป็นต้องตีความนัยให้ซับซ้อน หากรักก็พูดว่ารักเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อนพพรถามหม่อมราชวงศ์กีรติว่า ‘คุณหญิงรักผมไหม’ เธอมักจะตอบบ่ายเบี่ยงหรือตอบประโยคที่สื่อถึงความนัยไว้เสมอ เนื่องด้วยเธอมีสถานะเป็นภรรยาของเจ้าคุณอธิการบดี จึงต้องระมัดระวังการใช้คำพูด แต่ก็ยังคงแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อนพพรในแบบของเธอ อย่างตอนที่ทั้งสองคนร่ำลากันบนเรือ นพพรก็ถามคำถามเดิม แต่เธอกลับตอบว่า ‘รีบไปเสียเถิด ก่อนที่ฉันจะขาดใจ’ ซึ่งนพพรก็ตีความจากคำพูดนั้นว่า ‘ไม่รัก’
แต่แท้จริงแล้วหากนพพรพินิจจากคำพูดและการกระทำของเธอให้ดี เขาจะพบว่าหม่อมราชวงศ์กีรติรักเขาหมดหัวใจ ดังคำที่เธอเขียนใส่กระดาษก่อนจะเสียชีวิตด้วยวัณโรคว่า ‘ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก’ นี่จึงเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่เธอใช้คำว่ารัก ทำให้นพพรคลายความกระจ่างว่าหม่อมราชวงศ์กีรติรักเขาเสมอมา
ฉะนั้นแล้ว คำว่า ข้างหลังภาพ ในเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงกระดาษแข็งแผ่นหนึ่งที่ถัดไปคือผนัง แต่หมายความถึง ‘ข้างหลังภาพ’ ที่มีชีวิตและเรื่องราว ตลอดจนการอ่านเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ได้ความบันเทิง แต่ขณะเดียวกันก็ได้ข้อคิดบางอย่างที่สอดแทรกอยู่ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้นวนิยายเรื่องนี้ไม่มีกาล ไม่ล้าสมัย หยิบมาอ่านเมื่อไรก็ได้ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ก็ยังตราตรึงในใจผู้อ่านไม่เสื่อมคลาย
เรื่อง : ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)
ขอขอบพระคุณบทความจาก
The people
"ข้างหลังภาพ" โศกนาฏกรรมความรักที่แฝงค่านิยมการจำกัดสิทธิสตรี