ณ จุด ๆ นี้ อยากขอตั้งข้อสังเกตเรื่องลิขสิทธิ์ การดัดแปลงงานวรรณกรรม การทำละคร และ ธรรมสิทธิ์

มาถึงขั้นนี้คงเอียนดราม่ากันไปข้างนึง เป็นอันว่าเคสนี้จบกันไปด้วย "ความร้าวฉาน" ระหว่างวงการวรรณกรรมและวงการจอแก้ว  ดังนั้นไม่เจาะจงพูดถึงเคสนั้น เคสไหน ? ก็อันนั้นแหละที่ดราม่าไหนไฟแรงเฟร่อกันอยู่ ตอนนี้ขอพูดถึงประเด็นโดยรวมอยากให้คนเขียนนิยาย คนอ่านนิยาย คนทำละคร คนดูละคร เข้าใจในสิทธิที่ได้รับการรับรอง คุ้มครอง และ มีอยู่ในงานสร้างสรรค์โดยเฉพาะงานวรรณกรรม ในฐานะที่อ่านนิยายด้วย ดูละครด้วย และ สนใจเรื่องกฎหมายด้วย ประกอบกันกับได้อ่านความคิดเห็นมาหลายกระทู้ ที่ยังปรากฎความเข้าใจอยู่ว่า "ลิขสิทธิ์" นั้นเหมือนกับ "กรรมสิทธิ์" และ เห็นคำว่า "สัญญาเช่าซื้อ" แทนคำเรียกขาน "สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ"

1) ลิขสิทธิ์ กับ กรรมสิทธิ์เหมือนกันหรือไม่ ?

ตอบ กรรมสิทธิ์ กับ สิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่เหมือนกัน กรณีการมีกรรมสิทธิ์ จะเป็นสิทธิที่คงทนถาวรมากทำให้ผู้มีกรรมสิทธิ์สามารถจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน รื้อถอน ทำลาย ติดตามเอาคืนทรัพย์สิน และ ไม่สิ้นสุดไปโดยกาลเวลา กรรมสิทธิ์สิ้นสุดไปเมื่อตัวทรัพย์นั้นบุบสลายไป ทรัพย์สินชิ้นหนึ่งมีหลายมิติคือมีมิติด้านความเป็นเจ้าของในลักษณะกรรมสิทธิ์ และ อาจมีมิติด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย เช่น ซื้อหนังสือมาหนึ่งเล่ม เราผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหนังสือได้ จะเผาทำลายก็ได้ ใครมายื้อแย่งไปก็ติดตามเอาคืนได้ เป็นแดนกรรมสิทธิ์ของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถ copy หนังสือแล้วขาย หรือ สแกนแล้วเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตได้  เป็นต้น


ข้อแตกต่าง cr :[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

1.  ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีอำนาจห้ามบุคคลอื่นๆมิให้ลอกเลียนแบบผลงานของเขาได้ หรือมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการบางอย่างเกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ที่ตนเป็นเจ้าของ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นสิทธิเด็ดขาด แต่ไม่ใช่เป็นสิทธิ์ในการผูกขาด (Monopoly)

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ได้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับลักษณะของลิขสิทธิ์ในข้อนี้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า “ลิขสิทธิ์ หมายความว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะทำการใดๆตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น” คำว่าสิทธิแต่ผู้เดียว จึงย่อมเป็นลักษณะของสิทธิเด็ดขาดของเจ้าของลิขสิทธิ์

2.  ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในทางทรัพย์สิน ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่เป็นทรัพย์สินรูปหนึ่ง โดยมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นอำนาจหวงกันมิให้ผู้อื่นมาละเมิดสิทธิทั้งหลายที่ตนมีอยู่ เจ้าของลิขสิทธิ์จึงสามารถโอนสิทธิของตนให้ผู้อื่นไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ หรือสามารถอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตนได้

3.  ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลา ลิขสิทธิ์เป็นสิทธิในทางหวงกันที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้มาเป็นการตอบแทนแก่การทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญา สร้างสรรค์งานขึ้นมาเป็นประโยชน์แก่สังคม และในขณะเดียวกัน ก็คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมที่จะได้ใช้งานนั้นด้วย อายุของลิขสิทธิ์จึงถูกกำหนดไว้ด้วยเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งน่าจะเป็นการตอบแทนที่พอสมควรแก่ผู้สร้างสรรค์งานนั้น ส่วนจะเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความตกลงในประเทศหรือกฎหมายภายในของประเทศนั้น

4.  ลิขสิทธิ์เป็นสหสิทธิ์ หมายความว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ จะมีสิทธิอยู่หลายประการ คือ สิทธิในการทำซ้ำ สิทธิในการดัดแปลง สิทธิ์ในการเผยแพร่ต่อสาธารณะชน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเจ้าของลิขสิทธิ์จึงอาจจะโอนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทั้งหมดรวมกันหรือแยกกันก็ได้ (โดยอาจเป็นการดัดสิทธิเด็ดขาดของตัวเอง คือ เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้อีกต่อไป หรือ ไม่อาจโอนสิทธิดังกล่าวให้บุคคลอื่นนอกจากคู่สัญญาจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา หรือ อาจไม่ตัดสิทธิตนเองก็ได้แล้วแต่ข้อสัญญากำหนด )

5.  ลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากกรรมสิทธิ์ กรรมสิทธิ์เป็นทรัพย์สินซึ่งมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นตัวทรัพย์ และกรรมสิทธิ์จะติดมากับตัวทรัพย์เสมอ และมีอำนาจจำหน่าย จ่าย โอนตัวทรัพย์ และติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนได้ ส่วนลิขสิทธิ์เป็นสิทธิเด็ดขาดที่มีอำนาจหวงกันมิให้ผู้อื่นเข้ามาใช้สิทธิที่เจ้าของสิทธิมีอยู่แต่เพียงผู้เดียว

2)  สัญญาเช่าซื้อ กับ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ(ตามกฎหมายลิขสิทธิ์)เหมือนกันหรือไม่ ?

ตอบ ไม่เหมือนสัญญาเช่าซื้อเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นสัญญาเช่า + ซื้อขาย คือทำสัญญากันเป็นหนังสือระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อ จ่ายค่าตอบแทนเป็นคราว ๆ ตามคู่สัญญาตกลงกัน ระหว่างยังจ่ายค่างวดไม่หมดก็สามารถใช้ทรัพย์สินได้แต่ยังไม่เป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์โอนเมื่อจ่ายค่าตอบแทน (ค่างวด) ครบถ้วน ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหมายความว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้คู่สัญญาใช้สิทธิ(สหสิทธิที่ตนเองมีเหนืองานสร้างสรรค์)บางประการหรือทุกประการก็แล้วแต่สัญญากำหนด (ใช้ได้แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของนะ ) โดยจะมีผลตอบแทนหรือไม่ก็แล้วแต่ข้อสัญญา

3) สิทธิในการดัดแปลงคืออะไร ? ดัดแปลงได้แค่ไหน มีกรอบหรือไม่ ?

ตอบ  ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือ จำลองงานต้นฉบับอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มันก็คือ การทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์นั่นเองแต่ไม่ได้เป็นการ copy ให้อยู่ในรูปแบบเดิม เช่น มีหนังสือหนึ่งเล่ม ถ่ายเอกสารหนังสือเล่มนั้น ออกมาเป็นหนังสือเหมือนเดิม อันนี้คือทำซ้ำ แต่เมื่อดัดแปลง ยกตัวอย่างคือ หนังสือหนึ่งเล่มนำเสนอในรูปแบบอื่น เช่น สไลด์ บทความ  หรือ ในรูปแบบงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างอื่น เช่น ภาพยนตร์  ละคร  เป็นต้น ทั้งนี้อาจจะมีการตัดทอน เรียบเรียง รวบรวม จัดลำดับใหม่

ส่วนใหญ่มักคิดว่าเมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแล้ว จะทำอะไรกับงานนั้นก็ได้ เปลี่ยนแปลงงานอย่างไรก็ได้ ใช่หรือไม่ ? ก็อย่างที่บอก กลับไปดูนิยาม "ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือ จำลองงานต้นฉบับอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่"  สิทธิที่ให้คือตามนี้ "ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้" เหมือนดังเจ้าของงานทำกับงานของตนนั่นแหละ แต่นอกจากสิทธิทางเศรษฐกิจที่ว่ามาแล้วมีสิทธิอีกประการหนึ่งที่คนไม่ค่อยทราบกัน คือ สิทธิทางศีลธรรม (มาตรา 18 พรบ.ลิขสิทธิ์ 2537) ซึ่งแยกออกจากสิทธิทางเศรษฐกิจ (ม.15 พรบ.ลิขสิทธิ์)

        
มาตรา 18  ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิ
   ที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอน
   ลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่
   งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์
และ
   เมื่อผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายทายาทของผู้สร้างสรรค์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับ
   ตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลง
   กันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร


ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็น "กรอบ" ในเรื่องการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ ไม่ว่าสิทธิในการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือ อื่น ๆ ได้โอนไปยังผู้อื่นแล้ว แต่สิทธิตามมาตรา 18 นี้ยังอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์ตลอด และ เป็นสิทธิเฉพาะตัวด้วย (กฎหมายไทยไม่ได้พูดถึงว่าสามารถสละสิทธินี้ได้หรือไม่ ) จะเห็นว่าสิทธิประการหนึ่งในธรรมสิทธิ์คือ

ห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์  

ดังนั้นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ถึงแม้ได้รับอนุญาตแล้วก้ไม่ใช่ว่าดัดแปลงอย่างไรก็ได้มีกรอบคือ "ธรรมสิทธิ์" ตามที่ได้กล่าวข้างต้นนี้อยู่ด้วย พูดง่าย ๆ คือต้องเคารพต้นฉบับไม่ deceive งานเขาให้ตัวผู้สร้างสรรค์นั้นเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณนั่นเอง ไม่ได้หมายความว่าดัดแปลงไม่ได้นะ ขยายเรื่อง ขยายไปเลย ตัดอันนั้นออก เอาอันนี้เข้า จัดลำดับใหม่เล่าจากตอนจบ เล่าจากตรงกลาง อะไรก็แล้วแต่ได้ทั้งนั้น แต่อย่างที่บอกไม่ deceive ให้คุณค่าของงานต้นฉบับด้อยลง ไม่เกิดข้อกังขาในตัวผู้สร้างสรรค์งาน original ว่านี่เธอทำผลงานอะไรออกมา (ทั้งที่ของจริงไม่ใช่) ซึ่งทำให้ผู้สร้างสรรค์เรียกร้องให้ชื่อเสียงเกียรติคุณคืนดี และ ตั้งข้อสังเกตว่าสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ด้วย

ดังนั้น

คนเขียนนิยายก็ควรทราบว่าสิทธิทางเศรษฐกิจโอนไปแล้วสิทธิทางศีลธรรม(ธรรมสิทธิ์)ยังอยู่นะ แต่จะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไรอันนี้แล้วแต่ตัวท่าน และ ที่ปรึกษากฎหมายของท่านเมื่อท่านทำสัญญา (เวลาทำสัญญาท่านควรมีที่ปรึกษากฎหมายรับฟังข้อเท็จจริงและร่างสัญญาด้วย)


คนอ่านนิยาย และ คนดูละครก็ควรทราบว่าการดัดแปลงรวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้มิใช่ว่าจะต้อง strict ตามนิยายทั้งหมดเสมอไปแต่ก็มีกรอบดังกล่าวมา

คนทำละครเองก็ควรทราบว่าสิทธิที่ท่านได้รับมีขอบเขต และ ควรระลึกถึงธรรมสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่