พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปที่ชั่ว : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

บุคคลผู้ใดมัวเมาประมาทไม่ตามรักษาจิตของตน
ให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญในคุณแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ไม่ได้มีบุญคุณ
ไม่ได้มีที่พึ่งอยู่ในจิตใจของตนเลยในปัจจุบันก็ดี  
เมื่อปัจจุบันนี้ไม่มีที่พึ่งอยู่ในจิตใจแล้ว ละโลกนี้ไปแล้ว
มันก็เหมือนกันแล  มันก็ไม่มีที่พึ่งเหมือนกันแหละ  

ก็เร่ร่อนพเนจรไปตามยถากรรมไปอย่างนั้นแหละ


ถ้าหากว่าได้ทำบาปไว้มาก
มันจะวกเวียนอยู่ในวัฏสงสารอย่างนี้ไม่ได้แล้ว
บาปกรรมมันจะฉุดคร่าไปสู่นรกอบายภูมินู่นทันทีเลย

นี่มันเป็นอย่างนี้อันวิถีชีวิตของคนเรา
ต้องให้เข้าใจที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า
“พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว” นั้น
ก็ดังบรรยายมาให้ฟังนี้แหละ

“ทาน” ก็รักษาจิตไม่ให้เกิดความโลภ  ความตระหนี่
เห็นแก่ตัว  ไม่ให้ไปเบียดเบียนเอาสมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน
  
ก็เมื่อของของตนมีตนยังให้ทานได้  เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องอะไรล่ะ
จะไปยื้อแย่งเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน  
แต่ของตนมีอยู่แท้ๆยังให้ทานไปได้นี้นะ
นี้ล่ะมันจึงว่า การให้ทานก็เป็นพระธรรมอันหนึ่งอย่างนี้  
พระธรรม คือ การให้ทานก็รักษาจิตไป

“การรักษาศีล” ก็เป็นพระธรรมอันหนึ่ง
พระธรรมคือศีลก็รักษา มีศีล สำรวมศีลด้วยดีแล้ว
จิตมันไม่คิดไปทางอกุศลแล้ว มันก็มีแต่บุญกุศลเท่านั้นอยู่ในจิตใจ

  บุญเป็นของเย็นมันก็ทำใจสงบอยู่อย่างนั้น
...สงบอยู่ในความคิด  ทำไมถึงว่าอย่างนั้น..
ก็ใจที่ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลนั้นมันสงบ
มันรู้สึกว่าสงบอยู่โดยลำพัง แล้วเมื่อมันมีเหตุอะไรควรคิด
มันก็ "คิดอยู่ในความสงบ" นั้นแหละ

คิดแล้วไม่หลงยินดีไม่หลงยินร้ายไปกับเรื่องที่คิดนั้น  
คิดอะไรก็รู้เท่าอันนั้นอย่างนี้นะ  คิดเรื่องอะไรขึ้นมาก็รู้เท่าเรื่องนั้น  
รู้อย่างไร ..รู้ว่าเรื่องทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  
ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน
นี่แหละการ "รู้เท่าความคิด" รู้อย่างนี้เองนะ

เมื่อรู้อย่างนี้อยู่เสมอจิตมันก็ไม่ยึดถือแล้ว
ไม่ยึดถือความรู้สึกนึกคิดอันนั้นมันก็ปล่อยวางไปเรื่อยๆ
คิดเรื่องอะไรขึ้นมาไม่ยึดถือแล้วมันก็ดับไป  
จิตใจก็เป็น "อุเบกขาญาณทัสสนะ" อยู่อย่างนั้น  
ทั้งรู้ทั้งเห็นความเกิดความดับของสังขารของนามรูปทั้งหลายอยู่อย่างนั้น


  ขอให้พากันใคร่ครวญพินิจพิจารณาดูให้ดี
อันพระธรรมนั้นเป็นของประเสริฐล้ำเลิศอย่างนี้แหละ
ให้พึงพากันศึกษาค้นคว้าว่า ธรรมเหล่านี้มีในจิตของเราหรือยัง  
ธรรมอันหนึ่งได้แก่ “หิริโอตตัปปธรรม” ความละอายในการจะทำความชั่ว
ความกลัว  กลัวต่อความชั่วมันจะตามสนองให้เป็นทุกข์..
อย่างนี้นะมีไหมอยู่ในใจของเราน่ะ ถ้ามี..ผู้นั้นก็ไม่หาญทำความชั่วแล้ว
ใจของผู้นั้นก็บริสุทธิ์จากบาปจากโทษอยู่อย่างนั้น  ก็จึงเป็น “สมาธิ” อยู่เรื่อยไป

...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "พระธรรมคุ้มครองผู้ปฏิบัติได้อย่างไร"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่