(บทความการเมือง) ระบบอุปถัมภ์ศักดินา ภัยร้ายที่เกาะกินสังคมไทย

กระทู้คำถาม
.....คนไทยเราโดนปลูกฝั่งจากสภาพสังคม ธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต และเริ่มต้นมาจากระบบ”ศักดินา” ที่ถูกบังคับ ให้ยึดมั่นในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเห็นได้จากความสัมพันธ์ของคนไทยจะเป็นแบบ ผู้ใหญ่-ผู้น้อย ความสัมพันธ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังที่เรียกว่า "ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย"

     ระบบอุปถัมภ์ ประกอบด้วย กลุ่มอุปถัมภ์ ซึ่งหมายถึง ขุนนางเก่าในระบบศักดินา ที่จับกลุ่มกันด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ คล้ายกลุ่มสมาชิกที่มีการจัดลำดับสมาชิกเป็นชั้นลดหลั่นกันไป โดยอาจมีผู้นำคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่ที่แน่ๆคือมีผู้ตามหลายคน ผู้นำจะรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองและมีฐานะสูงกว่าผู้ตาม ผู้นำสามารถผูกพันยึดเหนี่ยวผู้ตามให้จงรักภักดีอยู่ภายใต้อิทธิพลด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ เช่น เงินทอง ทรัพย์สิน หรืออำนาจให้อย่างถ้วนหน้าแต่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งต่อมาเรียกว่าระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้อง ระบบนี้มีลักษณะสำคัญ

     ผู้อุปถัมภ์ อาจเรียกว่า ผู้นำ หรือผู้ใหญ่ มีภาระหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ดูแล คุ้มครองและปกป้องบริวารของตนซึ่งได้แก่ ผู้ตาม ลูกน้อง หรือผู้น้อย ซึ่งรวมเรียกว่าผู้ถูกอุปถัมภ์ ไม่ว่าผู้ถูกอุปถัมภ์จะถูกหรือผิด ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากในอดีตขุนนางหรือข้าราชการไม่มีเงินเดือนประจำเหมือนในสมัยปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับ “ของกำนัล” จากไพร่ซึ่งเป็นลูกน้องของตน และจากค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นการตอบแทนต่อของกำนัลที่ได้รับจากไพร่ ข้าราชการแต่ละคนจึงมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ของตนจากรัฐและคนอื่น ๆ และในบางกรณี ข้าราชการจะช่วยให้ไพร่ของตนก้าวหน้าขึ้นไปมีตำแหน่งสูงและมีอำนาจมากขึ้นด้วย การที่ผู้ใหญ่พิทักษ์ปกป้องผู้น้อยที่กระทำความผิด เห็นได้จากการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หรือไม่สนใจการร้องเรียน หรือแม้กระทั่งหาทางออกให้ลูกน้อง ไม่ลงโทษอย่างจริงจังเข้มงวด หรือย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นซึ่งอาจไปกระทำความผิดเช่นเดิมนี้ในพื้นที่อื่นต่อไป

     และผู้ถูกอุปถัมภ์หรือผู้น้อยมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ เริ่มจากพยายามแสวงหาผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ มีอิทธิพล และมีบารมีไว้สนับสนุนและคุ้มครอง โดยหาช่องทางเข้าไปฝากเนื้อฝากตัว เข้าเป็นพวก และเกาะติดผู้ใหญ่ไว้เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต อันเป็นลักษณะของการหวัง "พึ่งใบบุญหรือพึ่งบารมี" การไม่เข้าเป็นพวกเดียวกันกับผู้ใหญ่ อาจถูกมองว่าเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อเข้าไปเป็นพวกพ้องก็ยิ่งทำให้ระบบพวกพ้องมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น

     นอกจากนี้ ลูกน้องต้องคอยติดสอยห้อยตาม เป็นสมุนเป็นบริวาร ปรนนิบัติรับใช้ประดุจบ่าวไพร่ คอยเออออห่อหมก และเป็นลูกขุนพลอยพยักอยู่เสมอ โดยใช้คำพูดที่ว่า "ครับผม ๆ" หรือ "ถูกครับพี่ ดีครับท่าน" รวมทั้งต้องคอยเคารพยกย่อง สรรเสริญเยินยอผู้ใหญ่ และมือไม้อ่อนตลอดเวลา ในลักษณะ “ผู้น้อยค่อยประนมกร” ดังนั้น การที่ผู้น้อยคอยห้อมล้อม ยกย่องสรรเสริญ และเอาอกเอาใจผู้ใหญ่จนเรียกว่าเป็นการ "ก้มหัวให้” เหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้น้อยได้รับการแต่งตั้งหรือปูนบำเหน็จรางวัล โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของผู้น้อยจึงมิได้อยู่ที่ผลงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเป็นพวกเดียวกับผู้ใหญ่ ดังคำกล่าวที่ว่า "ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน แต่อยู่ที่คนของใคร"

     ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีสังคมใดอยู่โดยไม่มีพวกพ้องหรือไม่พึ่งพาอาศัยกัน แต่ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ยัดเยียดให้ยึดถือระบบอุปถัมภ์ประการนี้ เป็นไปในลักษณะที่มากเกินกว่าความจำเป็นหรือมากเกินกว่าเหตุ จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศทั้งในแง่ของผู้ใหญ่และผู้น้อย กล่าวคือ ในแง่ของผู้ใหญ่ จะทำให้ลืมตัว รวมอำนาจและใช้อำนาจในทางมิชอบได้ง่าย สนใจและปูนบำเหน็จรางวัลให้เฉพาะคนใกล้ชิด ไม่มีโอกาสใช้คนที่มีความรู้ความสามารถได้มากเท่าที่ควร เกิดระบบเส้นสายหรือการวิ่งเต้น เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่มีเส้นสายจะก้าวหน้าได้ยาก และยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้น้อยกระทำความผิดอีกด้วย เพราะผู้น้อยจะคิดว่าถึงอย่างไรก็มีผู้ใหญ่คอยช่วย มีเส้นสาย มีเกราะคุ้มกัน

     ส่วนในแง่ของผู้น้อย ผู้น้อยที่ไม่ประจบสอพลอจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ ผู้น้อยจะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ท้อแท้ใจ และทำงานไปวันหนึ่ง ๆ อย่างไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อยได้ก่อให้เกิดความเกรงใจซึ่งโดยปรกติผู้น้อยจะเกรงใจผู้ใหญ่ ความเกรงใจที่ผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ในบางครั้งก็กลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ เช่น คนไทยเกรงใจผู้มีอำนาจ เช่น นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ไม่แสดงความคิดเห็นตอบโต้ต่อหน้า วางเฉย ไม่ขัดคอ ผู้มีอำนาจจะพูดอย่างไรคนไทยก็จะเป็นผู้ฟัง บางครั้งทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ผู้น้อยอาจถูกเขม่นและในภายหน้าไม่อาจไปขอความช่วยเหลือหรือพึ่งบารมีได้

     ระบบศักดินา ที่น่าจะหายไปจากสภาพสังคมไทย ตั้งแต่สมัยที่ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกไพร่ แล้ว แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อข้าราชการระดับสูง ยังกระทำตัว เป็นผู้ใหญ่ ที่ใครๆก็ต้องกราบไหว้และขอพึ่งบุญบารมีอยู่เหมือนเมื่อครั้งอดีตอยู่

     และเมื่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ทำให้เกิดมีระบบ "ตัวแทน" ประชาชน หรือที่รู้จักกันในชื่อเต็มๆว่า ระบบประชาธิปไตยขึ้น กลุ่มอุปถัมภ์ศักดินาก็สั่นคลอนและเพียรทำทุกวิธีทางที่จะกลับเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้สั่งการอีกครั้ง โดยไม่ได้คิดจะเป็น ตัวแทนผู้บริหารตามเจตจำนงของระบบประชาธิปไตยเลย กี่ครั้งแล้วเล่า ที่กลุ่มศักดินาอุปถัมภ์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นถี่ยิบในประวัติศาสตร์การปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยของชาติไทย

     ดังนั้น จงอย่าได้แปลกใจเลย ที่สภาพในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้จึงพยายามฟื้นฟูระบบศักดินาขึ้นมาใหม่ และเพียรกระทำทุกทาง ให้ระบบศักดินาสามารถกระทำได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งถูกคว่ำไป เป็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจน



    บทความของผมจบแล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากสื่อออกไปยังไม่จบ ผมอยากชักชวนปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย มาร่วมกันเขียนบทความที่น่าอ่านกันอีกครั้งเถอะครับ เชื่อว่ายังมีหลายๆคนรออ่านบทความดีๆที่ตั้งใจเขียนมาให้อ่านกันอยู่ ผมเองก็จะกลับมาเริ่มเขียนใหม่อีกครั้ง แม้จะมีคนอ่านน้อยก็ไม่เป็นไร เพราะยังไงอย่างน้อยก็ได้ภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ได้กระทำเรื่องดีๆให้สมกับความรู้และสติปัญญาของตนเอง

ขอบคุณครับ
นายพระรอง

ผมเขียนของผมจบแล้ว กำลังตั้งนะโม 3 จบ เพื่อหวังว่า
ข้อความของผมจะสามารถส่งผ่านไปให้คนที่ต้องการอ่านบทความได้อ่านกันนะครับ เพี้ยง..........

*แก้ไขคำผิด
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่