วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

อุปสรรคของการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากผู้นำรัฐบาล ข้าราชการและประชาชน บทความนี้มุ่งเน้นพิจารณาศึกษาอุปสรรคที่เกิดจากประชาชนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะอุปนิสัยบางประการของประชาชนคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 30 ประการ ดังต่อไปนี้

1. เชื่อเรื่องเวรกรรม คนไทยมีความเชื่อมูลฐานในเรื่องเวรกรรม กฎแห่งกรรม หรือสวรรค์นรก โดยเชื่อว่าคนที่มีฐานะและความเป็นอยู่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต เช่น คนมีฐานะร่ำรวยมีอำนาจวาสนาเพราะเมื่อชาติก่อนหรือแม้กระทั่งชาตินี้ คนนั้นหรือบิดามารดาของคนนั้นได้สร้างบุญกุศลไว้มาก จึงเกิดมารวยและสบาย ตรงกันข้ามคนที่มีฐานะยากจน เพราะเมื่อชาติก่อนได้สร้างบาปกรรมไว้มาก และทำบุญน้อยจึงเกิดมาลำบากหรือเกิดมาใช้เวรใช้กรรมในชาตินี้ ซึ่งเห็นได้จากถ้อยคำที่ว่า ถ้าคนรวยตายเรียกว่า “สิ้นบุญ” แต่ถ้าคนจนตายเรียกว่า “สิ้นเวรสิ้นกรรม” หรือ "หมดเวรหมดกรรม" เป็นต้น และถ้าหากคนใดไม่เชื่อเรื่องเวรกรรมก็จะถูกห้ามหรือเตือนในทำนองที่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" นอกจากนี้แล้ว ถ้าสิ่งใดหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็จะกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องของสวรรค์นรกบันดาล เช่น ส่วนหนึ่งเห็นได้จากคำว่า "สวรรค์มีตา"

การที่คนไทยเชื่อและยอมรับสภาพความแตกต่างของคนในเรื่องฐานะและอำนาจนั้น มีส่วนสำคัญทำให้คนไทยที่มีฐานะยากจนและไม่มีอำนาจขาดความกระตือรือร้นในการพึ่งตนเองหรือพัฒนาฐานะของตนเอง เพราะเชื่อว่าทำอย่างไรก็ไม่มีทางร่ำรวย มีฐานะ มีหน้ามีตาหรือมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “แข่งเรือแข่งแพแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้” และเมื่อใดก็ตามที่พบอุปสรรค ความยากลำบาก หรือทำสิ่งใดไม่สำเร็จตามใจปรารถนาก็จะเกิดความท้อแท้ใจได้ง่ายพร้อมกับอ้างว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “ดวง” ซ้ำร้ายยังตีความ "สันโดษ" คลาดเคลื่อนอีกด้วย โดยเข้าใจว่าหมายถึง "พอใจในสิ่งที่มี" ทำให้ไม่ดิ้นรนต่อสู้ ไม่กระตือรืนร้น ปล่อยชีวิตไปตามสบาย ทั้ง ๆ ตนเองที่มีความรู้ความสามารถหรือมีศักยภาพที่จะทำงานอื่นได้อีกมาก แต่ไม่ยอมทำ คำว่าสันโดษนั้นน่าจะหมายถึง "ให้พอใจในสิ่งที่มีถ้าสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้" เช่น คนบางคนเกิดมาพิการ สันโดษสอนให้คน ๆ นั้นพึงพอใจและยอมรับในสิ่งที่มีและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้นั้น ในเวลาเดียวกัน ก็ควรพยายามหาสิ่งอื่นมาชดเชยหรือทดแทน เช่น มุมานะทำงานให้เป็นผู้ชำนาญในด้านอื่นที่ไม่ต้องใช้คุณสมบัติที่ขาดไปนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณีคนไทยยังมีอุปนิสัยที่ชอบพูดตอกย้ำต่อไปไม่จบสิ้น เข้าลักษณะ "ถล่มตัวเองให้สะใจ" หรือ "จำในสิ่งที่ควรลืม และลืมในสิ่งที่ควรจำ" ทั้งนี้ เป็นลักษณะของการไม่มุมานะ ไม่พยายามปรับปรุงแก้ไข หรือแม้กระทั่งไม่คิดให้กำลังใจแก่ตนเองในทำนองที่ว่า “พลาดไปประการหนึ่งเป็นครู” "ล้มแล้วรีบลุก" "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" "ไม่มีใครสมบูรณ์ที่สุด" (nobody is perfect) หรือ "บางครั้งชนะ บางครั้งแพ้" (sometimes we win, sometimes we lose หรือ we win some, we lose some)

ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ฝังใจอยู่กับความเชื่อเรื่องเวรกรรมนี้ ทำให้คนไทยปล่อยตัวปล่อยใจไปตามเวรตามกรรม โดยปล่อยตัวตามสบาย ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มุมานะดิ้นรนต่อสู้ ไม่ทะเยอทะยาน และไม่เข้ามาร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะความรู้ความสามารถของคนไทยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และคุ้มค่า

2. ถ่อมตัวและยอมรับชนชั้นในสังคม จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า ก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โครงสร้างของสังคมไทยได้แบ่งเป็น 2 ชนชั้น ชนชั้นแรก คือชนชั้นปกครอง ซึ่งประกอบด้วยเจ้า นาย หรือขุนนาง อีกชนชั้นก็คือ ชนชั้นที่ถูกปกครอง ประกอบด้วยไพร่ คนธรรมดา สามัญชนและชาวนา แม้เวลาจะล่วงเลยมา โครงสร้างชนชั้นในสังคมดังกล่าวยังคงมีให้เห็นแต่อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ชนชั้นที่ได้เปรียบกับชนชั้นที่เสียเปรียบ หรือชนชั้นร่ำรวยกับชนชั้นยากจน สำหรับชนชั้นปกครองในปัจจุบันก็คือ นักการเมืองระดับสูง ข้าราชการระดับสูง พ่อค้านักธุรกิจนายทุน และคนร่ำรวย ส่วนชนชั้นที่ถูกปกครองคือ คนธรรมดาสามัญ ชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน หรือชาวบ้าน เป็นต้น

การแบ่งคนในสังคมออกเป็น 2 ชนชั้นนี้ มิใช่เป็นเรื่องแปลกหรือน่าเสียหาย เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมทั่วโลก แต่ส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศคือ การที่คนไทยถ่อมตัวหรือเจียมเนื้อเจียมตัวและยอมรับสภาพที่เป็นผู้ถูกปกครองด้วยดีตลอดเวลา เช่น ยอมรับสภาพที่ยากจน พอใจรายได้ที่มีอยู่ ให้ความเคารพเชื่อฟังและยกย่องผู้มีอำนาจอย่างเกินกว่าเหตุ ไม่โต้เถียงโต้แย้งผู้มีอำนาจ ไม่แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง และไม่พัฒนาตนเอง เหล่านี้ย่อมเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมี "จิตใจ" ทำนองเดียวกับการเป็นผู้ถูกปกครอง ถึงกับมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า การเลิกทาสเกิดมาช้านานแล้วแต่บางคน "กายเป็นไท แต่ใจเป็นทาส" และถึงแม้ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีของไทยได้สอนให้คนไทย "อ่อนโยน แต่อย่าอ่อนแอ" แต่กลับมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ "อ่อนโยนและอ่อนแอ"

ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ถ่อมตัวหรือเจียมเนื้อเจียมตัว ซึ่งบางครั้งแสดงออกในลักษณะที่ "ชอบถล่มตัวเอง" และทำตัวเป็น "ผู้น้อยต้อยต่ำ" อยู่ร่ำไป รวมตลอดทั้งการยอมรับชนชั้นในสังคมประการนี้ ไม่เพียงเพิ่มช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมให้มากขึ้นเท่านั้น ยังมีส่วนทำให้ผู้มีอำนาจและประชาชนใกล้ชิดกันน้อยลง ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจที่ขาดคุณธรรมอาจ "เหลิงอำนาจ" และเข้าใจว่าตนเองเป็น "เทวดาเดินดิน"

3. ยึดถือระบบอุปถัมภ์  คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ยึดมั่นในระบบอุปถัมภ์ซึ่งเห็นได้จากความสัมพันธ์ของคนไทยจะเป็นแบบผู้นำ-ผู้ตาม ลูกพี่-ลูกน้อง หรือผู้ใหญ่-ผู้น้อย ความสัมพันธ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังที่เรียกว่า "ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย" ระบบอุปถัมภ์ ประกอบด้วย กลุ่มอุปถัมภ์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่มีการจัดลำดับสมาชิกเป็นชั้นลดหลั่นกันไป โดยมีผู้นำคนเดียวและมีผู้ตามหลายคน ผู้นำจะรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองและมีฐานะสูงกว่าผู้ตาม ผู้นำสามารถผูกพันยึดเหนี่ยวผู้ตามให้จงรักภักดีอยู่ภายใต้อิทธิพลด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ เช่น เงินทอง ทรัพย์สิน หรืออำนาจให้อย่างถ้วนหน้าแต่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งต่อมาเรียกว่าระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้อง ระบบนี้มีลักษณะสำคัญ

3.1 ผู้อุปถัมภ์ อาจเรียกว่า ผู้นำ ลูกพี่ หรือผู้ใหญ่ มีภาระหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ดูแล คุ้มครองและปกป้องบริวารของตนซึ่งได้แก่ ผู้ตาม ลูกน้อง หรือผู้น้อย ซึ่งรวมเรียกว่าผู้ถูกอุปถัมภ์ ไม่ว่าผู้ถูกอุปถัมภ์จะถูกหรือผิด ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากในอดีตขุนนางหรือข้าราชการไม่มีเงินเดือนประจำเหมือนในสมัยปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับ “ของกำนัน” จากไพร่ซึ่งเป็นลูกน้องของตน และจากค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นการตอบแทนต่อของกำนันที่ได้รับจากไพร่ ข้าราชการแต่ละคนจึงมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ของตนจากรัฐและคนอื่น ๆ และในบางกรณี ข้าราชการจะช่วยให้ไพร่ของตนก้าวหน้าขึ้นไปมีตำแหน่งสูงและมีอำนาจมากขึ้นด้วย การที่ผู้ใหญ่พิทักษ์ปกป้องผู้น้อยที่กระทำความผิด เห็นได้จากการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หรือไม่สนใจการร้องเรียน หรือแม้กระทั่งหาทางออกให้ลูกน้อง ไม่ลงโทษอย่างจริงจังเข้มงวด หรือย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นซึ่งอาจไปกระทำความผิดเช่นเดิมนี้ในพื้นที่อื่นต่อไป

3.2 ผู้ถูกอุปถัมภ์หรือผู้น้อยมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ เริ่มจากพยายามแสวงหาผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ มีอิทธิพล และมีบารมีไว้สนับสนุนและคุ้มครอง โดยหาช่องทางเข้าไปฝากเนื้อฝากตัว เข้าเป็นพวก และเกาะติดผู้ใหญ่ไว้เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต อันเป็นลักษณะของการหวัง "พึ่งใบบุญหรือพึ่งบารมี" การไม่เข้าเป็นพวกเดียวกันกับผู้ใหญ่ อาจถูกมองว่าเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อเข้าไปเป็นพวกพ้องก็ยิ่งทำให้ระบบพวกพ้องมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ ลูกน้องต้องคอยติดสอยห้อยตาม เป็นสมุนเป็นบริวาร ปรนนิบัติรับใช้ประดุจบ่าวไพร่ คอยเออออห่อหมก และเป็นลูกขุนพลอยพยักอยู่เสมอ โดยใช้คำพูดที่ว่า "ครับผม ๆ" หรือ "ถูกครับพี่ ดีครับท่าน" รวมทั้งต้องคอยเคารพยกย่อง สรรเสริญเยินยอผู้ใหญ่ และมือไม้อ่อนตลอดเวลา ในลักษณะ “ผู้น้อยค่อยประนมกร” ดังนั้น การที่ผู้น้อยคอยห้อมล้อม ยกย่องสรรเสริญ และเอาอกเอาใจผู้ใหญ่จนเรียกว่าเป็นการ "ก้มหัวให้” เหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้น้อยได้รับการแต่งตั้งหรือปูนบำเหน็จรางวัล โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของผู้น้อยจึงมิได้อยู่ที่ผลงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเป็นพวกเดียวกับผู้ใหญ่ ดังคำกล่าวที่ว่า "ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน แต่อยู่ที่คนของใคร"

ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีสังคมใดอยู่โดยไม่มีพวกพ้องหรือไม่พึ่งพาอาศัยกัน แต่ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ยึดถือระบบอุปถัมภ์ประการนี้ เป็นไปในลักษณะที่มากเกินกว่าความจำเป็นหรือมากเกินกว่าเหตุ จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศทั้งในแง่ของผู้ใหญ่และผู้น้อย กล่าวคือ ในแง่ของผู้ใหญ่ จะทำให้ลืมตัว รวมอำนาจและใช้อำนาจในทางมิชอบได้ง่าย สนใจและปูนบำเหน็จรางวัลให้เฉพาะคนใกลชิด ไม่มีโอกาสใช้คนที่มีความรู้ความสามารถได้มากเท่าที่ควร เกิดระบบเส้นสายหรือการวิ่งเต้น เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่มีเส้นสายจะก้าวหน้าได้ยาก และยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้น้อยกระทำความผิดอีกด้วย เพราะผู้น้อยจะคิดว่าถึงอย่างไรก็มีผู้ใหญ่คอยช่วย มีเส้นสาย มีเกราะคุ้มกัน

ส่วนในแง่ของผู้น้อย ผู้น้อยที่ไม่ประจบสอพลอจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ ผู้น้อยจะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ท้อแท้ใจ และทำงานไปวันหนึ่ง ๆ อย่างไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อยได้ก่อให้เกิดความเกรงใจซึ่งโดยปรกติผู้น้อยจะเกรงใจผู้ใหญ่ ความเกรงใจที่ผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ในบางครั้งก็กลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ เช่น คนไทยเกรงใจผู้มีอำนาจ เช่น นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ไม่แสดงความคิดเห็นตอบโต้ต่อหน้า วางเฉย ไม่ขัดคอ ผู้มีอำนาจจะพูดอย่างไรคนไทยก็จะเป็นผู้ฟัง บางครั้งทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ผู้น้อยอาจถูกเขม่นและในภายหน้าไม่อาจไปขอความช่วยเหลือหรือพึ่งบารมีได้

4. ไม่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่า คนไทยไม่ยอมรับคนที่มีอายุไล่เลี่ยกันหรือต่ำกว่า สืบเนื่องมาจากระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้องที่ติดตรึงอยู่ในจิตใจของคนไทยมานาน ได้มีส่วนทำให้คนไทยนิยมยกย่องเฉพาะผู้ที่มีอาวุโสกว่าตนเป็นส่วนมาก ส่วนแนวคิดที่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่ามีแนวโน้มที่จะปรากฏให้เห็นในสังคมหรือในประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบเลือกตั้งหรือการเลือกตั้ง โดยถือว่าถ้าผู้ใดได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน แม้จะอายุน้อยก็ถือว่าได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ สังคมหรือประเทศนั้นต้องยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกทั้งระบบเลือกตั้งจะต้องเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม การซื้อสิทธิ์ขายเสียงมีน้อย แต่สำหรับสังคมหรือประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบอาวุโส และระบบเลือกตั้งยังคงไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว อุปนิสัยที่ไม่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่าก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป แต่มีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่น เด่นชัด และมีฐานะร่ำรวย

ลักษณะอุปนิสัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่กำลังความคิดและกำลังกายของทรัพยากรมนุษย์ส่วนหนึ่งไม่ได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ความมีอาวุโสน้อยจะถูกนำมากล่าวอ้างและถูกกีดกันโดยผู้มีอาวุโสมากกว่า

อ่านต่อได้ที่ http://www.wiruch.com/articles%20for%20article/article%20thai.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่