เจาะเวลาหาอดีต "ไพร่"(สาระประวัติศาสตร์ และการเมือง)

.....ผมเกลียดแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ว่า
     มนุษย์คือสัตว์เศรษฐกิจที่มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดในทางเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจและการเมืองที่ต้องเกี่ยวข้องและพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ ได้แก่ การผลิต การบริโภคและการแลกเปลี่ยนหรือการกระจายผลผลิตในรูปแบบต่างๆ มนุษย์ในแง่นี้จึงเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันและต่อสู้ช่วงชิงเพื่อจัดสรรและเข้าถึงอำนาจในการจัดการทรัพยากรต่างๆ ในสังคม เช่น โภคทรัพย์และเกียรติยศชื่อเสียงในรูปแบบต่างๆ

     แต่ครั้นผมจะไปเถียงแนวคิดนี้ก็ใช่ที่ เพราะเมื่อมองสภาพความเป็นจริงในสังคมไทย ก็ล้วนเป็นเช่นนั้น แตกต่างกันบ้างก็ตรงที่ มีเพียงคนกลุ่มเดียวที่ได้ใช้อภิสิทธิ์จากตำแหน่งหน้าที่ เอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่นในสังคมเสมอมา และเมื่อใดที่สภาพเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ ความเท่าเทียม ที่ทุกคนในสังคมสามารถแข่งขันกันช่วงชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมกัน คนกลุ่มนี้จะไม่ยอมรับ และหาวิธีกดบุคคลอื่นให้จมลงและดันตัวเองขึ้นไปสู่อำนาจการปกครองเพื่อเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นร่ำไป

     ในจุดๆนี้ ผมนึกถึงการเลิกไพร่ เพราะไพร่ในอดีต ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ มีเพียงแต่ หน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเท่านั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

สาเหตุการเลิกไพร่ รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้มีการยกเลิกระบบไพร่ มีสาเหตุเนื่องจาก

1 การควบคุมไพร่ที่มีมาแต่เดิมถึงช่วงที่ไร้ประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ ไม่สามารถควบคุมคนได้ ในขณะที่มูลนายอื่นๆได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากไพร่ และใช้ไพร่เป็นอำนาจทางการเมือง
2 ไพร่บางพวกได้รับกดข่มขี่เหงจากมูลนายก็หนีเข้าป่า
3 การเกิดวิกฤตการณ์วังหน้า พ.ศ.2417 แสดงให้เห็นว่ากำลังของไพร่พลที่ถูกฝึกหัดตามแบบทหารตะวันตกสามารถสร้างความไม่มั่นคงให้แก่ราชบัลลังก์ได้
4 จากการทำสนธิสัญญาบาวริ่ง เป็นผลให้เกิดการขยายตัวทางการผลิตและการค้าโดยเฉพาะข้าว ทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อใช้ในการทำนาสูงขึ้น ก่อให้เกิดการอพยพของแรงงานจากต่างถิ่นเข้าไปทำงานในเขตเศรษฐกิจ
5 รัฐหรือหลวง มีความจำเป็นที่ต้องการใช้แรงงานเกณฑ์จากไพร่ลดความต้องการลง
6 เพื่อลดอิทธิพลอำนาจของมูลนายหรือขุนนาง
7 การคุมคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้รัฐบาลต้องคำนึงถึงทัศนะความคิดเห็นของชาติตะวันตก เกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงานกับการสักเลกเป็นเรื่องที่เลวร้าย ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกองกำลังทหารตามแบบตะวันตก เพื่อเป็นการป้องกันประเทศชาติ

     ซึ่งจากสาเหตุทั้ง 7 ข้อในการเลิกไพร่ จะเห็นได้ว่า 3 ใน 7 ข้อนั้น ล้นเกล้าเหนือหัวรัชกาลที่ 5 ทรงต้องการลดอำนาจของขุนนางราชสำนัก ที่อาศัยศักดินาหรือฐานะทางสังคมที่เหนือกว่า กดขี่และบังคับให้ไพร่(ประชาชน)สั่งสมความร่ำรวยหรืออำนาจให้กับตนเอง



     รู้จักกับไพร่  [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้  เนื้อหายาว จึงต้องใส่สปอย เพราะรู้ว่าบางคนไม่ชอบอ่านอะไรที่ยาวๆ


     การยกเลิกไพร่เป็นจุดเริ่มต้นของ สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันภายในสังคม และพัฒนาไปสู่ระบอบการปกครอง ตามที่นักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ได้นำเสนอแนวคิดที่สำคัญในการอธิบายธรรมชาติของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเมือง

     สำนักคิดที่สำคัญได้แก่ เสรีนิยม (Liberalism) กับสังคมนิยม (socialism) นักทฤษฎีในสำนักเสรีนิยมและสังคมนิยมมีความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ตรงกัน เช่น มนุษย์มีจิตที่ว่างเปล่ามาแต่กำเนิด จริยธรรม ความรู้และประสบการณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ภายหลัง ทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติหรือสิทธิในชีวิต อิสรภาพและทรัพย์สิน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมนุษย์ต้องสละสิทธิตามธรรมชาติบางอย่างแล้วมอบอำนาจให้กับรัฐเป็นผู้จัดการ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นรักตัวเอง เห็นแก่ตัว ต้องการที่จะแสวงหาความสุขส่วนตัว อย่างไรก็ตามทั้งสองสำนักมีความแตกต่างกันอย่างมากในการนำเสนอวิธีการที่จะจัดการระบบระเบียบต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและการเมือง

     เพราะฝ่ายเสรีนิยมมอบอำนาจการปกครองให้กับประชาชนทุกชนชั้นในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน
     แต่ฝ่ายสังคมนิยมรวมอำนาจการปกครองไว้กับชนชั้นผู้นำเพียงกลุ่มเดียว

     เมื่อลองมองย้อนอดีตไปดูแล้ว ก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยกเลิกระบบไพร่ ทาส ให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิ เสรีภาพในชีวิตของตนเอง จนในที่สุดนำมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อมามองร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันที่เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนหายไป เหลือทิ้งไว้แต่ “หน้าที่” ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งชนชั้นผู้นำ จึงอดคิดไม่ได้ว่า นี้เรากำลังจะกลับไปเป็น สัตว์เศรษฐกิจ ที่สร้างความมั่งคั่งและสุขสบายให้กับชนชั้นเจ้านายฝ่ายปกครอง เหมือนลักษณะที่ “ไพร่” กระทำในครั้งอดีตอีกกระนั้นหรือ

     ไพร่ในอดีต คือราษฎรที่ต้องใช้แรงกายทำงานถวายเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับถูกขุนนางฉกฉวยใช้เป็นฐานสร้างอำนาจหาผลประโยชน์เข้าตนเอง จึงต้องถูกยกเลิกไป

     แต่ไพร่ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คือประชาชนที่ต้องยอมสละรายได้บางส่วนเพื่อจ้าง “เจ้านาย” มาออกคำสั่ง และต้องปฏิบัติตาม “หน้าที่” ที่เจ้านายเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือแสดงความเห็นใดๆทั้งสิ้น

     สองสถานะไพร่ในสองช่วงเวลาที่ห่างกันเป็นร้อยปี ดูแล้วไม่แตกต่างกันเท่าไรเลยนะครับ ว่าไหม..?



ซึ่งก็ขอระบายความรู้สึกส่วนตัวสักนิดว่า ข้าราชการ คือ บุคคลที่ทำงานให้ประชาชน เพื่อตอบแทนรายได้ที่ได้รับจากเงินภาษีของประชาชน พูดง่ายๆก็คือ “ลูกจ้าง” มิใช่ “เจ้านาย” กรุณาทำความเข้าใจกับสถานะของตัวเองด้วย


     *ป.ล. ไม่ได้เข้ามาร่วมแสดงความเห็นที่นี้เสียนาน แต่ก็อ่านตลอดในบางครั้งที่มีเวลา บรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ จากที่เคยมีกะทู้น่าอ่านมากมายเต็มไปหมด เดี๋ยวนี้เหลืออยู่น้อยจนน่าใจหาย เลยขออนุญาติกลับมาแสดงความคิดเห็นในมุมที่แตกต่างจากปัจจุบันออกไปบ้าง เติมสาระความรู้ลงไปบ้างคงไม่ว่ากันนะครับ และก็ขอต้องอภัยที่มิได้ทักทายใครนะครับ ยอมรับครับว่าจำใครไม่ค่อยได้เพราะแปรสภาพกันไปเป็นตัวเลขกันหมดแล้ว
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐศาสตร์ การเมือง ประชามติ รัฐธรรมนูญ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่