จิตมีสติเป็นเครื่องกำกับรักษา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)




" .. จิตมีสติเป็นเครื่องกำกับรักษา ให้ทำงานของตนคือ "อานาปานสติ" เป็นต้น
หรือ "พุธโท" คำใดก็ตาม ธรรมโม สังโฆ แล้วแต่จิตใจชอบ

ให้มีสติอยู่กับคำบริกรรมนั้น ๆ โดยสม่ำเสมอแล้ว
จิตของเราจะมีความรู้เด่น อยู่กับจุดนั้น คือคำว่า “พุทโธ” ก็ดี
อานาปานสติก็ดี คือ ที่ยึดของใจ ได้แก่ ความรู้

ความรู้นี่แหละท่านเรียกว่า “ใจ” หรือเรียกว่า “จิต”
ความรู้นี้ถ้าไม่มีสิ่งเกาะ ไม่มีสิ่งยึด ก็ไม่ทราบว่าความรู้ที่แท้จริงนั้น
อยู่ที่ไหนเป็นอย่างใดบ้าง จึงต้องอาศัยอารมณ์คือ อานาปานสติ
หรือ พุทโธ คำใดคำหนึ่งเข้ามาเป็นเครื่องกำกับจิต


ให้จิตรู้อยู่กับคำว่า "พุทโธ " หรือให้จิตรู้อยู่กับลมที่สัมผัสเข้าสัมผัสออก
สัมผัสอยู่ที่ดั้งจมูกนั้นสืบต่อกัน  ความรู้นั้นจะรวมตัวกันเข้ามาสู่จุดนั้น
เมื่อความรู้รวมตัวเข้ามาสู่จุดที่เราต้องการ ซึ่งกำลังทำงานอยู่นั้น
ได้แก่ อาณาปานสติ เป็นต้น  จิตจะสงบเย็นเข้ามา เย็นเข้ามา
แล้วประมวลความรู้ทั้งหลาย ซึ่งเคยส่ายแส่ไปยังที่ต่าง ๆ เข้าสู่จุดเดียว คือ อานาปานสตินั้น


แม้ลมจะเคยหยาบมาแต่ดั้งเดิม ตามปกติของลมก็ตาม
เมื่อจิตมีความละเอียดจดจ่ออยู่กับลม โดยถ่ายเดียวเท่านั้น
ลมจะค่อยละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา ความละเอียดของลมนั้นเป็นอาการหนึ่ง
ที่จะให้เกิดความสนใจของความรู้ คือ จิตของเรา ให้จดจ่อกับลมนั้น
ด้วยความมีสติ แล้วจิตจะสงบเย็นลงไป ลมก็จะเบาลงไปแผ่วเบาลงไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นสงบ .. "

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่