คิดอย่างไรกับ 13 ปี สสส. จ่ายค่าสื่อสารฯ เกือบ 4 พันล้าน

กระทู้สนทนา


ชูสถิติคนสูบบุหรี่-ซื้อเหล้าลด แต่รายได้จากภาษีบาปกลับเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบางอย่างในรายงานประจำปี 2557 ของ สสส. ที่ชวนตั้งคำถาม

– สสส. อ้างว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ร่วมกันผลักดันให้คนไทย ลด ละ เลิก การสูบยาสูบทุกประเภท ส่งผลให้แนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลงโดยลำดับในช่วงปี 2534-2554 จาก 12.26 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32 ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2534 ลดเหลือ 11.40 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.70 ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2554

– นับตั้งแต่การก่อตั้ง สสส. จนถึงปัจจุบัน (2544-2557) อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากเดิมถึงร้อยละ 22 ทำให้มีผู้สูบบุหรี่ลดลง 1.21 ล้านคน

– รายงานประจำปี 2557 ของ สสส. ยังอ้างข้อมูลของสำนักบัญชีประชาชาติ ที่ระบุว่า แนวโน้มคนไทยซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (2550-2557) จาก 1.54 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.39 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากอัตราการสูบบุหรี่และการซื้อแอลกอฮอล์ของลดลงจริง ก็น่าจะส่งผลต่อรายได้ของ สสส. ที่จะต้องลดลงตาม เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของ สสส. มาจาก 2% ของภาษีสรรพสามิตที่รัฐเก็บจากการขายยาสูบ สุรา และเบียร์

แต่จากการตรวจสอบเงินบำรุงกองทุนที่ สสส. ได้รับ ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา (2544-2557) รวมเป็นเงินกว่า 35,848 ล้านบาท มีอยู่เพียง 2 ปีเท่านั้นที่ สสส. ได้รับเงินบำรุงกองทุนจากภาษีบาปในปีนั้นน้อยกว่าปีก่อนหน้า คือในปี 2549 ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษียาสูบเป็น 79% ทำให้การบริโภคยาสูบลดลง และในปี 2552 ที่มีการขึ้นภาษีเบียร์จาก 55% เป็น 60% ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลง จนเก็บภาษีเบียร์ได้น้อยกว่าปีก่อนถึงกว่า 4 พันล้านบาท ส่วนปีอื่นๆ รัฐเก็บภาษีบาปได้เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้รายได้ของ สสส. เพิ่มขึ้นด้วย

โดยในปี 2557 สสส. แจ้งว่ามีรายได้จากเงินบำรุงกองทุนที่มาจากภาษีบาป 4,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแรกก่อตั้ง ในปี 2544 ที่ได้เงินจากภาษีบาป 1,526 ล้านบาท คิดเป็น 266% หรือกว่า 2 เท่าครึ่ง

รวมระหว่างปี 2545-2557 สสส. ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีบาปรวมกัน 35,484 ล้านบาท

– สสส. ได้ชี้แจงเรื่องข้อสังเกตข้างต้นไว้ในรายงานประจำปี 2557 ด้วยว่า งบประมาณของ สสส. เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่า สสส. ล้มเหลวในการลดการบริโภคสุราและยาสูบใช่หรือไม่ เงินภาษีที่ สสส. ได้รับจึงเพิ่มตาม?

“แต่ความจริงปรากฏว่างบประมาณของ สสส. มีสัดส่วนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณของหน่วยงานด้านสาธารณสุขอื่นๆ ดังนั้นในภาพรวมจึงถือได้ว่างบประมาณของ สสส. ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่กลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง การที่มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเกิดจากการเพิ่มอัตราภาษีเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะการเพิ่มภาษีทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น โดย สสส. ได้ส่วนแบ่งจากการเพิ่มเม็ดเงินเพียง 2% และการเพิ่มภาษีแต่ละครั้งจะมีผลต่อการลดการบริโภคสิ่งเสพติดเหล่านี้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม การนำงบประมาณของ สสส. มาเปรียบเทียบกับงบประมาณของหน่วยงานด้านสาธารณสุขอื่นๆ แล้วระบุว่า มี “สัดส่วนลดลง” ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เพราะการขึ้นหรือลงของงบประมาณของหน่วยงานด้านสาธารณสุขอื่นๆ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย

นอกจากนี้ การขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตของสุราและยาสูบก็ไม่ได้ขึ้นทุกปี อาทิ อัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ ระหว่างปี 2547-2557 หรือ 11 ปีที่ผ่านมา มีการขึ้นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือในปี 2550 ที่ขึ้นจาก 79% เป็น 80%, ในปี 2552 ที่ขึ้นจาก 80% เป็น 85% และในปี 2555 ที่ขึ้นจาก 85% เป็น 87%

CR : http://thaipublica.org/2015/05/thaihealth-2015/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่