การวางใจ ให้ไกลจากกิเลส (สมเด็จพระญาณสังวร)



" .. ปกติเจ้าของใจจะประมาทอยู่เสมอ ไม่นึกถึงกิเลส
ไม่นึกถึงความโลภ ความโกรธ ความหลงว่า มีอยู่จริง
และมีเต็มไปทุกที่ทุกเวลาหาว่างเว้น
เจ้าของใจที่เป็นปุถุชนประมาทเช่นนี้ด้วยกันทั้งนั้น


แต่เมื่อได้มารับพระมหากรุณาจากพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระปัญญาคุณ
แม้เป็นปุถุชนยังไม่สิ้นกิเลส ก็พึงตั้งใจให้จงดี
รับพระมหากรุณาให้ได้ดังที่ทรงสอนไว้ให้ไกลกิเลส
ให้ไกลความแผดเผาร้อนแรงแห่งกิเลส

เมื่อใดรู้สึกถึงความผิดปกติแห่งใจ เป็นความร้อน
เป็นความกระวนกระวายกระสับกระส่ายหรือวุ่นวายฟุ้งไปไม่สงบเป็นปกติ
เมื่อนั้นให้รู้ว่าได้วางใจลงไปผิดที่แล้วเช่นเดียวกับวางอาหารผิดที่
ไม่มีเครื่องป้องกัน ไม่มีน้ำหล่อกันมด

เจ้าของอาหารจักย้ายที่อาหารเมื่อเห็นมดมาขึ้นฉันใด
เจ้าของใจก็พึงย้ายที่วางใจคือเปลี่ยนความคิดเมื่อเห็นอารมณ์ที่ไม่เป็นปกติฉันนั้น

การย้ายที่วางอาหารหนีมดทำได้ด้วยการหยิบยกเคลื่อนย้ายอาหารไปจากที่เดิม
หรือหาเครื่องมากันหาน้ำมาหล่อ

การย้ายที่วางใจหนีกิเลส ก็ทำได้ด้วยการยกใจจากอารมณ์หนึ่ง
ที่เศร้าหมองด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง ไปสู่อารมณ์ใหม่
ที่ไกลออกไปจากความเศร้าหมองของกิเลสคือไกลจาก โลภ โกรธ หลงนั่นเอง


วิธีหนึ่งอันเป็นวิธีเปลี่ยนที่วางใจ ให้เปลี่ยนอารมณ์เศร้าหมองด้วยกิเลส
สงบความร้อนรนกระวนกระวายฟุ้งซ่าน คือวิธียกคำใดคำหนึ่ง
ที่จะไม่นำใจไปสู่อารมณ์เศร้าหมอง ขึ้นภาวนา
เช่น "พุทโธ" ภาวนา "พุทโธ พุทโธ"


เช่นนี้ เป็นการยกใจย้ายที่ให้ไกลกิเลสได้ แม้เพียงชั่วระยะที่ตั้งใจภาวนาอยู่
แต่แม้ทำบ่อย ๆ ทำเสมอก็เป็นการทำใจให้คุ้นเคย
กับความเป็นปกติ ความสงบ คือ  ความสุขที่แท้นั่นเอง .. "

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่