"หมอเอิ้น พิยะดา" โพสต์ "สิ่งที่ควรรู้ไว้ เมื่อความเศร้าสิงหัวใจจนคิดฆ่าตัวตาย"


เครดิตข่าวจาก  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


แพทย์หญิงพิยะดา หาญชัยภูมิ หรือ "หมอเอิ้น" จิตแพทย์หญิงซึ่งมีอีกบทบาทหนึ่งในวงการเพลงคือเป็นนักแต่งเพลงเบื้องหลังเพลงดังมากมาย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ค Earn Piyada ว่า


สิ่งที่ควรรู้ไว้ เมื่อความเศร้าสิงหัวใจจนคิดฆ่าตัวตาย

30 .07.58

เป็นวันที่เอิ้นพาครอบครัวไปทานข้าว ความรู้สึกอยากแต่งเพลงหลังจากหายไป 3ปีมีอยู่ในใจตลอดเวลา แต่อยู่ๆวันนั้นก็คิดจริงจังว่า อยากทำเพลงใหม่ อยากชวนศิลปินที่เคยร่วมงานกันมาร้อง

ภาพวง sqweez animal ก็ผุดขึ้นในหัวทันที

"ไม่เคยจะห่างกัน" ที่เคยเขียนไว้ยังเป็นเพลงที่ไม่ว่าเอิ้นจะไปร้องที่ไหนคนก็จะร้องตามได้เสมอ

เมื่อหยิบมือถือเปิด facebook เพื่อจะส่งข้อความไปหาวิน ก็เห็นข่าวการตายของสิงเต็มหน้าเฟสไปหมด



เอิ้นรู้ทันทีว่าคนรอบข้างและแฟนเพลงคงเสียใจมาก แม้แต่คนที่รู้จักกันกลายๆ เคยร่วมงานกันเพียงครั้งยังรู้สึกใจหาย แต่เอิ้นไม่เคยคิดที่จะเขียนอะไรเกี่ยวกับการจากไปครั้งนี้ แม้ว่าเราจะเคยร่วมงาน แม้ว่าเราเป็นจิตแพทย์ ไม่เคยตั้งใจเสพข่าว เพราะข่าวจะขึ้นมาเองตลอดเวลา

ข่าวในระยะแรกยังเป็นเรื่องของสถานการณ์

ต่อมาเริ่มเป็นการวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิต

เริ่มมีการโพสภาพหลักฐานที่คิดว่าสนับสนุนสิ่งที่คิดเอาว่าใช่เช่น จดหมายที่เขียนทิ้งไว้ก่อนกระโดดตึกซึ่งสิงห์เขียนชัดเจนว่าถึงคนที่เค้ารักเท่านั้น ข้อความในมือถือที่สิงห์ส่งให้เพื่อน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ของสิงห์ คนรักของสิงห์และคนในครอบครัวของสิงห์

จนล่าสุดมีการพาดหัวข่าวว่า คนใกล้ตัวเผย.....................(ชี้นำว่าความรักคือสาเหตุของการฆ่าตัวตาย แล้วใครที่อ้างว่าใกล้ตัว) ไม่ยุติธรรมเลยที่การเขียนข่าวเพื่อให้คนสนใจแล้วคลิ๊กอ่านเพื่อขายโฆษณาที่ซ่อนอยู่ภายใน จะกลับมาทำให้ชีวิตของคนคนนึง ต้องตกเป็นจำเลยสังคมว่าทำให้คนที่เธอรักต้องฆ่าตัวตาย

เอิ้นจึงตัดสินใจว่าเราคงจะต้องเขียนอะไรบางอย่างทีพอจะเป็นความรู้และเป็นประโยชน์กับเหตุการณ์นี้เสียที

ในมุมของคนที่เป็นหมอที่มีหน้าที่ดูแลผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตายโดยตรงและในฐานะเพื่อนร่วมวงการเพลง

นี่คือสิ่งที่อยากให้ทุกคนได้รับรู้ เมื่อชีวิตเราหรือคนใกล้ตัวมีความเศร้าสิงในหัวใจ จนคิดฆ่าตัวตาย



- รู้มั้ยว่าความหมายของการพยายามฆ่าตัวตายคืออะไร

การพยายามฆ่าตัวตายเป็นการร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

oจุดมุ่งหมายของเขา คือเพื่อหาทางออกต่อปัญหา

o เป้าหมาย คือ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้อะไรอีกต่อไป

o ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ความทุกข์ทรมานใจที่ยากจะทนได้

o ปัจจัยบีบคั้น (stressor) ได้แก่ ความผิดหวัง ไม่สมหวัง

o ภาวะอารมณ์ ได้แก่ ความรู้สึกสิ้นหวัง หมดหนทาง

o ความรู้สึกภายใน ได้แก่ ความรู้สึกสองจิตสองใจ

o สภาวะความคิดอ่าน (cognitive state) ได้แก่ คือความคิดหรือการมองสิ่งต่าง ๆ คับแคบลง

o พฤติกรรม ได้แก่ การพยายามหนีไป ณ ขณะนั้น

o พฤติกรรมที่มีกับผู้อื่น คือ การบ่งบอกถึงเจตนาสิ้นสุดชีวิต

o สิ่งที่พบบ่อย ได้แก่ รูปแบบการปรับตัวต่อปัญหาที่เป็นเช่นนี้มาตลอด

เราอาจคิดว่าการที่เขาฆ่าตัวตายแสดงว่าเขาได้ตัดสินใจแน่นอนแล้วคงเปลี่ยนใจเขายาก แต่จริงๆ แล้วจากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่คนที่ฆ่าตัวตายจะมีความรู้สึกสองจิตสองใจ จริงๆ แล้วเขาอยากมีชีวิตอยู่ แต่เขาทนความปวดร้าว ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นไม่ไหว ถ้าความทุกข์นี้ลดลงหรือได้รับการช่วยเหลือหรือมีคนชี้แนะ ความคิดอยากตายมักหายไปในที่สุด

จากบทความของ : ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล

- รู้มั้ยว่าสาเหตุการณ์ของการฆ่าตัวตายเกิดจากอะไรได้บ้าง

• การศึกษาของศาสตราจารย์ Schneidman พบว่าคนเราไม่ได้ฆ่าตัวตายเพราะเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่เป็นการเก็บความทุกข์มากมาย หลายเรื่อง จนถึงจุดที่รู้สึกว่าเก็บต่อไปไม่ไหวและไร้ทางออก

• การมีอาการของโรคซึมเศร้ารุนแรง (มาจากความคิดว่าตัวเองไร้ค่า)

• การมีอาการหลงผิด หรือหูแว่วประสาทหลอน (หนีความกลัวจากความหลงผิดว่าจะมีคนมาทำร้าย หรือมีเสียงสั่งให้ทำร้ายตัวเอง) พบได้ในโรคจิตเภท หรือการใช้สารเสพติด

- รู้มั้ยว่าทำไมการฆ่าตัวตายมักถูกผูกโยงกับโรคซึมเศร้า

เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความคิดอัตโนมัติที่ควบคุมได้ยากว่าเราก็แย่ คนอื่นไม่ดี โลกนี้ไม่น่าอยู่ จึงมีโอกาสสูงที่จะมีความคิดฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นจากความรู้สึกเศร้า

- รู้มั้ยว่าโรคซึมเศร้ากับความเศร้าต่างกันอย่างไร

ความเศร้าเป็นภาวะ เหตุมีก็เศร้า เหตุหายก็หายเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นความรู้สึกเศร้าที่ฝังลึก ยากจะจางหาย เป็นต่อเนื่องยาวนานแม้ไม่มีเหตุของความเศร้า

- รู้มั้ยว่าเราควรช่วยเหลือคนที่พยายามฆ่าตัวตายอย่างไร

"รับรู้" "รับฟัง" "เข้าใจ"

"รับรู้" รู้ว่าเค้ากำลังทุกข์ที่สุดในชีวิต รู้ว่าเค้ามีความคิด รู้ว่าอย่ากลัวกับการถามอย่างตรงไปตรงมาว่า "มีความคิดทำร้ายตัวเองใช่มั้ย?" "ทำอย่างไร?" แค่รู้ว่ามีคนรับรู้ความทุกข์ ใจก็เบาไปกว่าครึ่ง

"รับฟัง" เปิดโอกาสให้เค้าระบายความอัดอั้นตันใจอย่างเต็มที่ พูดให้น้อยตั้งใจฟังให้มาก

"เข้าใจ" เข้าใจสาเหตุของความทุกข์จนเป็นที่มาของความคิดฆ่าตัวตาย และแสดงความเข้าใจนั้นออกมาให้เค้ารับรู้ เช่น โอบกอด ท่าทีห่วงใย น้ำเสียงนุ่มนวล

- รู้มั้ยว่าเมื่อไรเราควรเป็นผู้สรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายของผู้อื่น

เมื่อเรามีหน้าที่เกี่ยวข้องเช่น แพทย์ชันสูติ เจ้าหน้าที่ตำรวจหากเป็นคดี ญาติพี่น้องใกล้ชิด

- รู้มั้ยว่าการสรุปการฆ่าตัวตายของผู้อื่นโดยไม่รู้จริงมีผลอย่างไร

• ผู้ตายเสียหาย ถูกมองว่าอ่อนแอ ทำไม่เรื่องแค่นี้ต้องคิดสั้น

• ผู้เกี่ยวข้อง เสียหายถูกมองว่าเป็นสาเหตุให้คนอื่นฆ่าตัวตาย โดยไม่รู้ว่าเป็นความจริงแค่ไหน เกิดความสงสัยในตัวเองไปตลอด (เสมือนตายทั้งเป็น)

• สังคมและเยาวชน สนใจแต่เรื่องผู้อื่น เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

- รู้มั้ยว่าคุณค่าของผู้เขียนข่าวคืออะไร

การเป็นผู้ถ่ายทอดความจริงที่เป็นประโยชน์เพื่อให้คนที่ได้อ่านนำไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเองและให้อาหารสมองที่ดีกับอนาคตของชาติ(ช่างเป็นงานที่มีคุณค่าต่อคนเองและสังคมเหลือเกิน)

ดังนั้น ไม่รู้จริง อย่าเขียนเลย มันบาป




ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ค Earn Piyada
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1438754275
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่