เนื้องอกในมดลูก/ซีส ผู้หญิงใครเคยมีประสบการณ์นี้มั่งเอ่ย


         หากจะกล่าวถึงโรคที่ผู้หญิงทุกคนไม่อยากเจอ ก็ต้องรวมถึงเนื้องอกในมดลูกด้วยอย่างแน่นอน ภาวะเนื้องอกนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทั้งช่วงวัยเจริญพันธุ์และวัยทอง อีกทั้งยังมีสถิติการเกิดถึงร้อยละ 20 ของประชากรเพศหญิงทั้งหมด นับเป็นอีกโรคที่หากใครต้องเผชิญก็จะพบกับผลกระทบต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจตามมามากมาย ดังนั้นหญิงสาวยุคใหม่ทุกคนควรทำความรู้จักกับอาการเนื้องอกบริเวณนี้ให้มากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คุณเกิดโรค รวมทั้งเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สาเหตุ

        1. ฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของก้อนเนื้องอก สาเหตุนี้มักเกิดกับหญิงสาววัยเจริญพันธุ์ช่วงวัย 30-40 ปี
        2. เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศบางตัวในรังไข่หรือมดลูก
        3. หากมีเนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์ ก็สามารถถูกภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงกระตุ้นให้ก้อนเนื้อโตขึ้นได้
        4. พันธุกรรม หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้มาก่อน
อาการ

        "เนื้องอกในมดลูก" นั้นจะเริ่มเกิดจากขนาดเล็ก แล้วจะถูกกระตุ้นให้โตขึ้นช้าๆ จนทำให้เกิดอาการผิดปกติในร่างกาย เช่น  
         1. มีเลือดออกกระปริดกระปรอยหรือเลือดประจำเดือน รวมทั้งตกขาวมากผิดปกติ
         2. ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะลำบากเพราะกระเพาะปัสสาวะโดนเนื้องอกเบียด
         3. ท้องผูก ขับถ่ายไม่สะดวก
         4. รู้สึกปวดท้องน้อย หน้าท้องขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อคลำสำรวจอาะพบก้อนเนื้อ
         5. ปวดหน่วงบริเวณหลังส่วนล่าง รวมถึงอาจปวดรุนแรงในบางครั้ง  รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
การรักษา

         ปัจจุบันมีวิธีการรักษาเนื้องอกด้วยเทคโนโลยีทันสมัยหลายวิธี แต่ทั้งนี้การเลือกทางรักษานั้นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกายของผู้ป่วย อายุ ขนาดของก้อนเนื้องอก ความต้องการในการมีบุตร อาการที่เกิดขึ้น ซึ่งควรปรึกษาแพทย์อย่างรอบคอบก่อนเลือกวิธีการ

         1. เฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อ สำหรับผู้ที่มีขนาดเนื้องอก ไม่โตมาก รวมถึงไม่มีอาการข้างเคียงแทรกซ้อนใดๆ  โดยเฉพาะหญิงวัยทองหากถึงช่วงหมดประจำเดือนก้อนเนื้องอกก็จะค่อยๆ ยุบตัวและมีขนาดเล็กลงได้เองจนไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย
         2. ผ่าตัดมดลูกทิ้งหรือตัดเฉพาะส่วนเนื้องอก สำหรับผู้ที่มีขนาดก้อนเนื้องอก ใหญ่มาก รวมถึงพบอาการแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาข้างต้น  ซึ่งการจะเลือกผ่าตัดส่วนใดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้อ สุขภาพของผู้ป่วยและความต้องการมีบุตรด้วย แต่วิธีการผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างคือ ก้อนเนื้อเล็กๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่อาจได้รับการกระตุ้นจนมีขนาดโตขึ้นมาอีกได้
         3. ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการสอดสายเข้าไปเพื่อฉีดยาใส่ก้อนเนื้อ ทำให้ก้อนเนื้อในมดลูกค่อยๆ ฝ่อและสลายไปในที่สุด
          หากใครพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเกิดเป็นโรคเนื้อร้ายนี้ขึ้นมา อย่าเพิ่งตกใจหรือวิตกกังวล ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาให้เร็วที่สุด นอกจากนี้การหมั่นไปตรวจภายในเป็นประจำก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ดังนั้นเหล่าหญิงสาวทั้งหลายไม่ควรกลัวการตรวจภายใน และควรหันไปเข้ารับการตรวจทุกปีอย่างสม่ำเสมอค่ะ

ขอบคุณที่มา http://www.healthydeejung.com/?p=1470
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่