บทวิจารณ์ละครเวที HEAR THE WIND SING สดับลมขับขาน โดย Pat Sangtum

กระทู้สนทนา
เป็นงานวิจารณ์ที่อยากให้ผู้ชมและทีมงานได้อ่านแลกเปลี่ยนความเห็น
งานเขียนจากผู้ที่มีประสบการณ์ทางดนตรีและศิลปะ และถ่ายทอดมาในงานเขียนชิ้นนี้
ช่วยขยายมุมมองละครได้กว้างและลึกขึ้น
ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่ ข้อเขียน และ รูปภาพ แล้วครับ
.......................

The wind of change

Blows straight into the face of time

Like a storm wind that will ring the freedom bell

For peace of mind

(อัลบั้ม Crazy World, Scorpions 1991 )



สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง คือเรื่องราวใน Hear the Wind Sing สดับลมขับขาน ละครเวทีที่สร้างบทขึ้นจากหนังสือของ Murakami (1979) ซึ่งถือว่าเป็นผลงานภาษาญี่ปุ่น ที่ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษหายากเล่มหนึ่ง เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดโดยตัวละคร ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 21 ปี ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ปิดซัมเมอร์  ตัวละครหลัก มีอยู่ 2 ตัว แลกเปลี่ยนโลกทัศน์ ปรัชญาและมุมมองของชีวิตต่อกัน ตัวนำเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิต ที่ผ่านมากับผู้หญิงสามคน  โดยผู้หญิงเหล่านั้น มี “เสียง” ของตนเอง

สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจก่อนอื่นคือ ห้วงเวลาของเหตุการณ์ ซึ่งเป็นปี 1972 แต่เหลื่อมล้ำเข้าไปในช่วงปลายของยุค 60s มิติของเวลา ถ่ายทอดด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่นการพูดถึง JFK ดนตรีของเอลวิส และวงดนตรีบรรเลงเพลงสดของวงบีชบอยส์ โดยเฉพาะเพลง California Girls แม้จะไม่ได้ใช้เพลงต้นฉบับ แต่ดนตรีเด่นชัดในสไตล์ของศิลปินที่กล่าวมา


บทสนทนา ระหว่างตัวละครหลัก สะท้อนถึงการแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต และการมองผ่านบริบททางการเมือง และวัฒนธรรม เช่น JFK เป็นสัญลักษณ์ของการแสวงหาความเท่าเทียมกัน  เอลวิส คือร็อคแอนด์โรล ซึ่งโอบอุ้มปรัชญาและปรากฎการณ์ที่พ่วงไว้กับดนตรีแนวนี้  เช่นการใช้สิ่งเสพย์ติด และเสรีภาพทางเพศ ส่วนบีชบอยส์ หมายถึงโลกทัศน์ที่เน้น สุขนิยม ความใสซื่อและความอ่อนประสพการณ์ บทสนทนาบางส่วนชวนให้คิดว่า นิยามของ “อิสรภาพ” คืออะไร...

เราจะพบอิสรภาพได้ ผ่านความรู้ต่างๆ จากการอ่าน หรือเราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีจุดหมาย ดื่มสุรา มั่วเซ็กส์ ฯลฯ

หากสามารถเข้าใจบรรยากาศ ของ ห้วงเวลา และสาระที่ตัวละครพูดถึงได้แล้ว เรื่องราวของละคร Hear the Wind Sing ก็จะเริ่ม make sense และมีความต่อเนื่องมากขึ้น เพราะการผูกเรื่องราวนั้น ตัดไปมาระหว่าง ปัจจุบัน (1971) กับอดีตที่ผ่านมา  ทั้งนี้เพราะ Hear the Wind Sing ไม่มีพล็อตที่ถักร้อยต่อเนื่อง และไม่มีพล็อตหลัก เป็นเหมือนภาพต่อที่ผู้ชมจะต้องนำชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบกันเอง แต่รู้ว่าภาพที่ต่อเสร็จแล้ว จะเป็นภาพที่มาจากช่วงต้นของยุค 70s ที่มีบริบท ทางการเมือง วัฒนธรรม และสังคม อยู่ร่วมกัน  และเมื่อเรื่องราวต่างๆ ถ่ายทอดจบ ช่วงซัมเมอร์ ก็ผ่านพ้น ได้เวลาที่จะต้องกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง



ในพื้นที่โรงละครเล็กๆ แต่ไม่รู้สึกอึดอัด ใช้พร็อพ ที่ไม่มากมาย แต่การแสดง ที่ใช้ท่าทางในเชิงสัญลักษณ์และการใช้เฟอร์นิเจอร์ เป็นสัญลักษณ์ แทนภูมิทัศน์ ต่างๆ เป็นไปอย่างไหลลื่น นักแสดงทุกคน ใช้ vocal acting ได้อย่างเป็นธรรมดา น้ำเสียงในการถ่ายทอด ไม่ overdramatized ไม่ใช่โทนเสียง หรืออารมณ์ของตัวละครในละครทีวีหลังข่าว  แต่เป็นเสียงที่สมจริง เสียงจากความรู้สึกของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญ ทีทำให้ผู้ชมไม่อึดอัด และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ต่างจากเวลานั่งชมละครเรื่องอื่นที่นักแสดงใช้ท่าทางและ “น้ำเสียง” กันเกินธรรมชาติ

สาระสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ละครเสนอ คือเรื่องของ “ความเหงาและโดดเดี่ยว” ซึ่งนอกจาก จะต้องทดแทนด้วยการมีแฟน หรือมีคู่นอนแล้ว ก็การยึดติด ผูกพันกับผู้คนที่แม้จะไม่เคยพบกันเลย เช่นความผูกพันระหว่างดีเจรายการวิทยุและผู้ฟัง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดีเจช่วยคลายเหงาให้กับผู้คนนับไม่ถ้วน ที่เฝ้ารอจะฟังเพลง ฟังเสียงดีเจพูดคุย เฝ้ารอฟังเพลงที่ขอ แต่ความผูกพันนี้ เป็นความสัมพันธ์สองทาง เพราะไม่ใช่แต่เพียงผู้ฟัง  ที่รอให้ดีเจมอบความสุขให้แต่ฝ่ายเดียว  ดีเจเอง ก็มีความเหงาในชีวิต และเกิดความผูกพันกับผู้ฟังเช่นกัน  แต่ผู้ชมต้องไม่ลืมว่า ลักษณะการจัดรายการย้อนไป 40กว่าปีก่อน  กับดีเจวิทยุในปัจจุบัน มันต่างกันคนละภพ

การแสวงหา “คำตอบ” ให้กับตนเอง เป็นสิ่งที่ไม่มีเส้นแบ่งของยุคสมัยขีดกั้น พฤติกรรมของตัวละครใน Hear the Wind Sing เป็นสิ่งที่เรายังคงสัมผัสได้รอบตัว ตลอดมาทุกยุคสมัย
  
   แม้ว่าแนวดนตรีจะกลายเป็น เทคโน หรือ R&B..
   แม้ว่าความเสมอภาคระหว่างเพศ ระหว่างกลุ่มชน จะมากขึ้น..
   แม้ว่าประเภทของสิ่งเสพย์ติดจะเปลี่ยนไป..
   แม้ว่าการแสวงหาคู่นอน จะมีรูปแบบที่สำเร็จรูปมากกว่าเดิมหลายเท่า...  

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่ได้พัดผ่านแล้วสงบไป แต่อยู่ที่ว่า เราจะได้ยินสายลมนั้น หรือไม่


........................................
Hear the Wind Sing ...สดับลมขับขาน      

โดย 206 performing trope จากนวนิยายเรื่องแรกของฮารูกิ มูราคามิ  
สำนวนแปลของ นพดล เวชสวัสดิ์
ดัดแปลงบทและกำกับการแสดง อภิรักษ์ ชัยปัญหา

จัดแสดง เสาร์ที่ 4- อาทิตย์ที่ 12 ก.ค. 2557  ณ โรงละคร ทองหล่อ อาร์ต สเปซ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่