การทำสมาธิ แค่ไม่กี่นาทีทำไมถึงมีอานิสงค์มากมายนัก

มีหลายคนแล้วค่ะที่แนะนำว่า หลังจากสวดมนต์ให้ทำสมาธิ
แค่ครั้งละ 5 - 10 นาที ก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้น
เลยนึกไปถึงตอนเด็กสมัยเรียนหนังสือ หลังเคารพธงชาติเสร็จ
ครูก็จะให้นักเรียนยืนทำสมาธิ 1 นาที และแผ่เมตตา

สงสัยว่าเวลาการทำสมาธิไม่นาน และจิตน่าจะยังไม่นิ่งด้วย
จะส่งผลให้เกิดผลดีได้จริงหรือ? และเมื่อเราแผ่เมตตา สรรพสัตว์จะได้อานิสงค์จากการแผ่เมตตาจริงมั้ย?
เพราะรู้สึกว่าตัวเรายังไม่สามารทำสมาธิให้นิ่งได้จริง ๆ เลย
แล้วเราจะเอาอะไรไปเผื่อแผ่ให้สรรพสัตว์หรือเจ้ากรรมนายเวร

จขกท. ไม่มีความรู้ลึกซึ้งเรื่องการทำสมาธิเลยนะคะ
ได้ยินแต่คนพูดกันเยอะ เลยสงสัยอยากรู้ข้อเท็จจริงค่ะ
ขอคำแนะนำจากห้องศาสนาด้วยค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 6
เพราะมันเล่นกับจิตโดยตรงนะสิครับ

ในการทำบุญ ทำกุศลทั้งหมด ที่คนทั่วๆไปเข้าใจกันนั้น  มันแค่สร้างสิ่งเร้า เพื่อให้มีผลกระทบกับจิตทั้งนั้น

แม้การทำบุญชั้นต่ำที่สุดหรือการบริจาคทาน มันก็เป็นแค่การทำสิ่งเร้าหรือสิ่งโน้มน้าวให้เกิดปฏิกริยาทางบวกขึ้นกับจิตนั่นเอง  จุดสำคัญมันคือมีสิ่งเป็นบวกเกิดขึ้นกับจิตหรือไม่ในขณะนั้น   เช่น มีคนๆหนึ่งทำบุญใส่ซองกฐินที่เพื่อนร่วมงานเดินมาขอให้ช่วยทำบุญ แต่คนๆนั้นไม่อยากทำแต่จำเป็นต้องทำ อาจจะเกรงใจ หรือเอาหน้า หรือทำตามๆกันไปก็แล้วแต่ เขาก็อาจจะไม่ได้บุญเลย อาจจะเกิดกรรมดี แต่ก็ไม่ได้บุญอยู่ดี เพราะสิ่งที่เขาทำเป็นแค่กริยาอาการเท่านั้น ไม่ได้โน้มน้าวหรือสร้างสภาวะทางบวกให้กับจิตของเขาเลย   แต่ต่างกัน ถ้ามีคนหนึ่งทำบุญบริจาคหรือทำบุญด้วยวิธีใดๆแล้ว  มีอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้ร่วมทำบุญด้วยเลย แต่เกิดพบเห็นหรือรับรู้เข้า และคนทีรับรู้เกิดปฏิกริยาทางบวกขึ้นในใจ ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ทำบุญด้วยกริยาอาการหรือการกระทำนั้นเองโดยตรง แต่เรื่องราวนั้นโน้มน้าวให้ใจเขาเป็นบวกหรือกุศล เขาก็จะได้บุญนั้นเช่นกันหรืออาจจะเท่าๆกันด้วยซ้ำ  คุณคงได้ยินคำว่า "อนุโมทนา" ใช่หรือไม่ นั่นคือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง (แต่ต้องเกิดขึ้นจากใจเขาจริงๆ)


ถ้าผู้ใดจับหลักการได้ จะง่ายขึ้นไปอีก  ใน บุญกริยาวัตถุ 10 ที่ว่าง่ายแล้ว  แต่ถ้าจับหลักการเรื่องจิตได้ จะง่ายขึ้นไปอีก  คือไม่ต้องหาสิ่งเร้าหรือสิ่งโน้มน้าวแล้ว แต่สร้างขึ้นให้มันเกิดขึ้นโดยตรงในใจเราเองนั่นเอง คือสภาวะที่เป็นบวกทั้งหลาย หรือสภาวะกุศลทั้งหลาย เป็นต้น

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทางสายเอกและบุญสูงสุดในพุทธศาสนา ไม่ใช่ทำสมาธิเพื่อให้จิตนิ่งนะครับ คุณเข้าใจผิดแล้ว  จิตนิ่งถ้าเรียกกว้างๆแบบความเข้าใจของคนทั่วไปว่าสมาธิก็ได้ มันคือการตั้งมั่นและให้เกิดจิตนิ่ง ถ้าเรียกให้ถูกต้องคือ สมถะ  แน่นอนคนไทยทั่วไปเมื่อพูดถึงเรื่องสมาธิ ก็นึกไปว่าจิตนิ่ง หรือสมถะนั่นเอง  

แต่ตัวที่ได้ผลมากที่สุดและเป็นทางเดียว ไม่ใช่จิตนิ่งหรือไม่ใช่ฤาษีชีไพร ไม่ใช่โยคี  คือ ทางที่พุทธองค์บอกว่าเป็นทางสายเอก คือ สติ ครับ

สติ กับ สมาธิ คนละตัวกันครับ  แต่การนั่งสมาธิก็สามารถฝึกสติได้ เช่น อานาปานสติ นั่นเอง    การทำอานาปานสติ  มักจะได้ทั้งสติและสมาธิพร้อมกันครับ จึงเป็นสิ่งที่ควรแนะนำและแนะนำกันมาเป็นพื้นฐาน    

จิตนิ่งเป็นเรื่องของ สมาธิในเชิงสมถะครับ คือทางของพวกฤาษี โยคีทั้งหลาย  แต่สิ่งที่พุทธองค์พบคือทางของสตินะครับ  

หนังเรื่องพระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนล่าสุดนี้ ตอนที่ตรัสรู้  ถ้าคุณได้ดู จะเห็นว่าก็พูดถึงเรื่อง สติ หรือการตื่นรู้ใช่มั้ยครับ จะเห็นว่าในฉากนั้นพระองค์เน้นและพูดเรื่องสติมาก แต่ไม่พูดถึงสมาธิเลย

สติมีผลมหาศาลและง่ายมากครับถ้าจับหลักการได้และฝึกฝน จนเป็นอัตโนมัติ และคมชัดขึ้นเรื่อยๆ

การนั่งสมาธิในพุทธศาสนาตัวสำคัญสุดไม่ใช่นั่งเพื่อให้จิตนิ่งหรือเพื่อฝึกสมาธินะครับ แต่เพื่อฝึกสติ  ซึ่งคุณจะนั่งหรือไม่นั่ง  หรือจะ กิน ขี้ ปี้ นอน อยู่ก็ฝึกสติได้ตลอดเวลาครับ

ฉะนั้นอย่าสนใจเรื่องจิตนิ่งให้มากนักเพราะคุณกำลังเข้าใจผิด  จิตนิ่งก็ดีครับเป็นสิ่งที่ดีทีเดียว เสริมพลังของจิต สร้างความสงบพื้นฐาน และเป็นหนึ่งใน มรรค 8    แต่ตัวเด่นสุดใน มรรค 8 คือตัว ตัวสติ  

ให้คุณเรียนรู้นะครับ ว่าสติคืออะไร แล้วก็ฝึกฝนมันนะครับ  แล้วคุณจะเห็นผลทันทีที่จับหลักการได้ และทำมัน   และคุณจะเป็นคนที่ ตื่นตัว ว่องไว มีความสุขได้ง่ายแม้แค่ลมพันผ่านผิวหนัง หรือแม้แค่หายใจก็มีความสุขแล้ว  คุณมีความทุกได้ยากเพราะสติมันคั่นไว้หมด  สติเป็นธรรมะเชิงบวกอย่างเดียว ผิดกับสมาธิในเชิงสมถะหรือที่คุณเรียกว่าจิตนิ่งเพราะสิ่งนั้นจะเป็นบวกหรือลบก็ได้ครับ

ถ้าคุณเข้าใจไปว่าการทำสมาธิเพื่อจิตนิ่ง แล้วมุ่งไปทางนั้นอย่างเดียว ระวังเพี้ยนด้วยนะครับ พวกที่นั่งสมาธิแล้วเพี้ยนๆทั้งหลาย ทำแล้วเห็นนั่นเห็นนี่ ได้ยินนั่นได้ยินนี่ ส่วนมากแล้วคือพวกที่เข้าใจแบบคุณนะครับว่าเป้าหมายเพื่อจิตนิ่งหรือสมถะ  ผมไม่ได้บอกว่าการฝึกจิตนิ่งหรือสมถะจะทำให้เพี้ยนนะครับ ถ้าคนมีปัญญาและรู้เท่าทันก็ไม่มีปัญหา  

แต่ถ้าคุณฝึกทางที่พุทธเจ้าบอกว่าทางสายเอก คือ สติ ไม่มีวันเพี้ยนครับ เพราะมันคือการตื่นรู้ คืออยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่จินตนาการ ไม่ใช่การบังคับ ไม่ใช่การนึกคิดอะไรทั้งนั้น แต่คือการอยู่กับปัจจุบันขณะนั้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆตอนนั้นนั่นเอง

อานาปานสติ ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก หรือสมาธิที่นิยมกัน คือการมีสติอยู่กับลมนั่นเอง สติคือสติ  ปาน คือ ปราณะ คือปราณ หรือคือลมนั่นเอง  ก็คือลมหายใจของเรานี่เองครับ   ถ้าเน้นไปทางสติคือมีสติกับลมหายใจ ในรูปแบบไหนก็ได้ในเรื่องที่เกิดขึ้นจริงตอนนั้นของลมหายใจ เช่นการรับรู้ การเข้า การออก  หรือการสำผัสรู้ก็ได้ หรืออะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นจริงของลมตอนนั้นหรือเอฟเฟคที่เกิดขึ้นจากลมตอนนั้น    แต่ก็มีมีอีกพวกหนึ่งกลุ่มหนึ่งที่บางครั้งเขาทำไปเพื่อเน้นสมถะหรือเน้นจิตนิ่ง พวกนี้ส่วนมากใช้วิธีบริกรรม เช่น พุท โธ  ยุบ พอง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นการท่องหรือเสริมขึ้นจากสิ่งที่เกิดจริงๆ  ถ้าทำแบบนี้จะได้ผลในเชิงจิตนิ่งมากกว่า  ซึ่งถ้าทำแบบนี้แล้วไม่มีปัญญากำกับ ไม่รู้เป้าหมายในสิ่งที่ทำ ระวังจะเพี้ยนเห็นนั่นเห็นนี่  หรือจะได้แต่สมถะอย่างเดียว จะเอื่อยเฉื่อยเชื้องช้า หรือไม่สามารถนำสมาธิไปประยุกต์กับการทำงานได้ดีเท่าที่ควร  เพราะจะมีความสุขมากเฉพาะได้นั่งทำสมาธิเท่านั้น แต่พอไปทำงานมันไม่ได้นั่งสมาธิไง  ซึ่งผิดกับเรื่องสติที่เกิดขึนได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรอยู่


สรุปนะ

1. เพราะมันเล่นกับจิตโดยตรง ไม่ต้องใช้สิ่งเร้า

2.การสร้างความสุข เพื่อการตื่นรู้ และสบาย มีความสุขได้ง่ายและความทุกได้ยาก และเอฟเฟคทางบวกอื่นๆอีกเยอะแยะ ซึ่งเป็นทางสายเอก คือการฝึกสติ ไม่ใช่การฝึกให้จิตนิ่งหรือที่เรียกตามศัพท์ว่า สมถะ

สติคือแค่รู้ ไม่ใช่ตัวตัดสิน ไม่ใช่ตัวปรุงแต่ง  สติคือรู้อยู่ ซึบซาบอยู่ ในสิ่งนั้นๆ  คือเซนเซอร์ของประสาทสำผัสทางกายและสภาวะทางใจ

ถ้ามีคนบอกว่า  ตั้งสติก่อนสตาร์ท  นั่นคือสติภาษาไทย ไม่ใช่สติภาษาพุทธ   ตั้งสติก่อนสตาร์ท ตัวนั้นคือสัมปชัญญะ ไม่ใช่สติ

สติคือเซนเซอร์คือแค่การรับรู้ คือสิ่งตรงหน้า   สัมปชัญญะ คือตัวตัดสินว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ หรือกำลังจะทำอะไร  แน่นอนส่วนมากแล้ว สติกับสัมปชัญญะควรใช้คู่กันหรือช่วยกันทำงาน

ฉะนั้นการฝึกสติคือแค่การฝึกรู้นั่นเอง อะไรก็ได้  และการฝึกให้รับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ผลมันจะเกิดขึ้นเอง จะมีการเปลี่ยนแปลงจากข้างในครับ การมองโลก เข้าใจโลก เปลี่ยนไป มีความเป็นอิสระ

สรุปอีกรอบ เมื่อคุณฝึกสมาธิ ให้เน้นไปในเชิงสติเป็นหลักนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่