รีวิววิธีการยกเลิกการทำประกัน “โดยไม่ตั้งใจ”

สวัสดีค่ะ เนื่องจากช่วงนี้มีคนมาตั้งกระทู้บ่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องไม่รู้ตัวว่าทำประกันไป ทำยังไงดีอยู่บ่อย ๆ ไม่คิดว่าครอบครัวของตัวเองจะได้มีโอกาสอินเทรนกับเค้าบ้าง กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกอยากบอกขั้นตอนในการยกเลิกการทำประกันกับธนาคารโดยไม่ตั้งใจ (เฉพาะกรณีที่รู้ตัวเร็ว ไหวตัวทัน) ผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
        เริ่มเรื่องเลยนะคะ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 คุณพ่อกับคุณแม่เดินทางไปที่ธนาคารแห่งหนึ่งในช่วงเวลาบ่าย ขอตั้งชื่อว่า ธนาคาร ABC เพื่อเปิดบัญชีฝากประจำ ทางธนาคารได้เชิญชวนให้ออมกับอีกโครงการหนึ่งเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่า และรายละเอียดมากมายที่ทำให้คุณแม่เข้าใจว่าเป็นการฝากประจำอีกโครงการหนึ่ง คุณแม่จึงตกลงออมกับโครงการนี้เพิ่มเติม พร้อมทั้งถามย้ำว่า นี่ไม่ใช่ประกันชีวิตใช่ไม๊คะ ไม่ทำอะไรเพิ่มเติมทั้งนั้นนะคะ ทางพนักงานก็ยืนยัน ว่าไม่ใช่การทำประกัน คุณแม่จึงเข้าใจว่าเป็นการฝากประจำ ธนาคารจึงให้เซ็นเอกสารมากมาย ไม่มีการกรอกใบสมัคร มีแต่เพียงการเซ็นชื่อในเอกสารเท่านั้น
        หลังจากนั้น พนักงานได้ให้สมุดบัญชีฝากประจำมาหนึ่งบัญชี และใบเสร็จรับเงิน พร้อมแจ้งว่าจะต้องเอาเข้าเงินเข้าบัญชี ปีละ 100,000 บาท ด้วยความสงสัยคุณแม่จึงถามกลับไปอีกว่า อีกโครงการทำไมถึงไม่มีสมุดบัญชี พนักงานแจ้งว่า เอกสารจะส่งให้ในภายหลัง คุณแม่จึงบอกกลับไปว่า เปิดบัญชีแค่ฝากประจํานะคะ ถ้ามีอย่างอื่นมาด้วย จะถอนเงินทุกบัญชีออกให้หมดเลย พร้อมทั้งเก็บข้อสงสัยไว้ว่าทำไมอีกโครงการถึงไม่มีสมุดบัญชี และทำไมถึงต้องเอาเงินเข้าปีละ 100,000 บาท ต่อเนื่องทุกปี ส่วนจะเป็นเวลากี่ปีคุณแม่จำไม่ได้ เพราะไม่เคยเจอโครงการฝากประจำเป็นลักษณะเช่นนี้
        หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน คุณแม่จึงเอาใบเสร็จให้ดิฉันดู พบว่าในใบเสร็จนั้น เป็นการนำเงินเข้าบัญชีของบริษัท ABCLIKE ASSURANCE (นามสมมติ) ทำให้ดิฉันมั่นใจว่า นี่ไม่ใช่บัญชีฝากประจํา แต่เป็นการให้ทำประกัน วันรุ่งขึ้นจึงโทรติดต่อ กับบริษัท ABCLIKE ASSURANCE

ถ้าใครพึ่งพลาดสดๆ ร้อนๆ ขอให้ตั้งสติและทำตามนี้ได้เลยนะคะ
1.    ติดต่อสอบถามเข้าไปที่บริษัทว่า กรมธรรม์ของบุคคลดังต่อไปนี้ มีการส่งเรื่องเข้ามาที่บริษัทแล้วหรือยัง
2.    โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารมักจะยังไม่ส่งเรื่องเข้าไปในบริษัททันที ยังพอจะมีระยะเวลาที่เราจะกลับตัวได้ทัน ขอให้ติดต่อไปยังสาขาที่เราทำประกันนั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องรอให้ได้รับกรมธรรม์แล้ว
3.    ยื่นความประสงค์ว่าต้องการยกเลิกการทำประกัน ซึ่งเอกสารที่ขอยกเลิกการทำประกัน เท่าที่เห็น ก็จะเป็นใบคำร้องขอยกเลิก สำเนาบัตรประชาชน และสมุดบัญชี ที่เราต้องการให้ทางบริษัทโอนเงินเข้ามา และเพื่อความปลอดภัยกรุณาระบุบนสำเนาบัตรประชาชนว่า ใช้ในการยกเลิกการทำประกันกับบริษัท (ระบุชื่อบริษัทประกัน) เท่านั้น พร้อมระบุวันที่ให้ชัดเจน
4.    ให้เราขอให้ทางธนาคาร ทำสำเนาเอกสารการยกเลิกทำประกันให้กับเราอีกชุด ทุกใบที่เป็นหลักฐานในการยกเลิกการทำประกันเพื่อป้องกันในกรณีที่ธนาคารไม่ได้ส่งเรื่องเข้าไปยังบริษัทประกัน
5.    หลังจากนั้น ทางธนาคารจะส่งเรื่องเข้าไปยังบริษัท เพื่อทำการยกเลิก และเงินจะถูกโอนเข้ายังบัญชีที่เราแจ้งไว้ แนะนำว่าต้องเป็นบัญชีที่มีชื่อเดียว พวกบัญชีที่มี และ/หรือ เพื่อ อะไรพวกนั้น เค้าจะโอนกลับมาให้เราไม่ได้ ก็จะส่งกลับมาเป็นเช็คแทน โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ โดยจะไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้น ได้รับเงินเต็มจำนวน
6.    รอ จนกว่าเงินจะเข้า ระหว่างรอให้ติดต่อไปยังบริษัทประกันนั้น ๆ ตามเรื่องตลอดด้วยค่ะ ไม่ใช่รออย่างเดียว หากเงินไม่เข้าก็ค่อยมานั่งคิดกันใหม่

หลาย ๆ คนกำลังเกิดคำถาม ว่า ทำไมคนสูงอายุถึงถูกหลอก และถูกหลอกได้อย่างไร เค้าไม่รู้เลยเหรอว่ากำลังทำประกันอยู่ บอกเลยว่า ไม่รู้เลยสักนิด สรุปปัญหาจากการทำประกันโดยไม่ตั้งใจครั้งนี้ของผู้สูงอายุที่บ้านได้ประมาณนี้นะคะ
1.    เซ็นเอกสารโดยไม่อ่าน เพราะเนื่องจาก พนักงานแจ้งว่าจะเขียนกรอกเอกสารที่เหลือให้ และไว้ใจเพราะคิดว่าเป็นธนาคารไม่น่ามาหลอก
2.    เอกสารเกี่ยวกับการทำประกันเป็นเอกสารที่เข้าใจได้ยาก บางครั้งก็ไม่เข้าใจเสียด้วยซ้ำ สำหรับผู้สูงอายุแล้วมันแทบจะเรียกว่าเป็นภาษาต่างดาวเลยทีเดียว ดังนั้นการเซ็นเอกสาร มักจะเกิดจากข้อมูลที่ได้รับจากคำพูดของพนักงาน
3.    เกรงใจจนไม่กล้าถาม ไม่กล้าปฏิเสธ
4.    พนักงานที่ทำประกัน ไม่บอกว่าเป็นการทำประกัน แต่บอกว่าเป็นการออมเงิน (ตรงนี้ไม่มีหลักฐานเพราะเป็นการพูดปากเปล่า)
5.    ถูกชักจูง โดยแจ้งว่า จะได้รับดอกเบี้ย ที่สูงกว่า การออมทรัพย์แบบอื่นโดยไม่แจ้งระยะเวลาที่เอาประกัน
6.    ถูกบีบคั้นด้วยเวลา เช่น ช่วงเวลาใกล้ปิดธนาคาร จะถูกเร่งให้เซ็นเอกสารให้เสร็จโดยไว
7.    สำหรับสำเนาบัตรประชาชน บางคนไว้ใจธนาคารมากจนไม่เซ็นกำกับว่า ใช้เพื่อทำอะไร ในวันที่เท่าไหร่

        หากเป็นในกรณีที่ผ่านไปหลายวันแล้ว จนได้รับกรมธรรม์ ก็สามารถที่จะยกเลิกได้ หลังจากได้รับกรมธรรม์ไม่เกิน 15 วัน หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทนั้นๆ ซึ่งในรายละเอียดตรงจุดนี้ สามารถหาอ่านได้ในกระทู้อื่น ๆ
        ดิฉันหวังว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์ ให้แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย ส่วนรายละเอียดของธนาคาร สาขา หลักฐานการทำประกันหรือชื่อพนักงานผู้รับเรื่อง ขอสงวนไว้ เนื่องจากเนื้อหาที่พิมพ์นี้ ต้องการเพียงให้ผู้อ่านได้ทราบแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดการทำประกันโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้ต้องการประจานบริษัทหรือพนักงานให้เสียหาย รวมถึงไม่ต้องการให้ผู้อ่านคิดเหมารวมว่าเป็นการหลอกลวงจากพนักงาน

ปล. ถ้าหากบ้านไหนมีผู้สูงอายุ และท่านจำเป็นต้องทำธุรกรรมอะไรก็ตามแต่อย่าลืมพาลูกหลานไปด้วยนะคะ เพราะแค่จะเอาเงินไปฝาก ก็จะมีคำแนะนำให้ออมเงินแบบอื่น ๆ โน่นนั่นนี่ด้วย
ปล2. ขอให้ผู้สูงอายุทุกท่านโชคดี รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย (จากความไม่รู้เท่าทัน) ทั้งสิ้น
ปล3. อย่าไปทับถมกันนะคะ เค้ารู้แล้วแหละ
ปล4. แก้ไขข้อความตรวจความถูกต้องเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น
ปล5. คนขายประกันจะต้องแจ้งเสมอว่าเป็นการขายประกัน ตามประกาศคณะกรรมการกํากับและสงเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
เรื่อง กําหนดหลักเกณฑวิธีการออก การเสนอขายกรมธรรมประกันภัย และการปฏบัติหนาที่ของตวแทนประกันวินาศภัย นายหนาประกันวินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2552 [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่