เจ้าของบริษัท กิจการ ห้างร้าน ขนาดเล็กควรรู้ไว้ !!!! กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เนื่องจาก..เปิดบริษัททำเกี่ยวกับเว็บไซต์ค่ะ
ทำตามกฏหมายกำหนดถูกต้องทุกอย่าง รวมถึงการเอาเข้าประกันสังคมด้วย
แม้บริษัทจะเล็กและมีพนักงานประจำน้อยมาก  3 คน เพราะฟรีแลนซ์ที่รับงานไปทำมีมากกว่า
เปิดมาได้แค่ 2 ปี และอยู่ในระหว่างขยายกิจการ

แต่..เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว แม่บ้านที่ออฟฟิศ ได้ทำการเคลมค่ารักษาจากประกันสังคม
เพราะศีรษะเป็นแผลถาก เลือดออก จากการถูบันไดออฟฟิศแล้วลุกไม่ทันระวัง ศีรษะไปโดนมุมฝ้า
เราเป็นคนไปโรงพยาบาลเอง เขียนเรื่องให้เองเรียบร้อย
ไม่มีการเย็บแผล แค่เอ็กซ์เรย์กับฉีดกันบาดทะยัก
ปัจจุบัน แม่บ้านลาออกไปแล้ว แม่บ้านอายุ 56 ปีแล้ว เริ่มทำงานไม่ไหว (เหลือพนักงานน้อยลงไปอีก)

ทางหน่วยงาน"สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด....." เรียกเข้าพบ
ซึ่งเป็นการเรียกเข้าพบ 50 บริษัทพร้อมกัน (จากบริษัทที่มีประวัติการยื่นเคลมประกันสังคมจากอุบัติเหตุ)

เรื่องแรกที่เจ้าหน้าที่แจ้งเลยคือ..จะต้องให้ทุกโรงงานที่มาเข้าร่วมประชุมวันนี้เสียค่าปรับ 50,000 บาท
เพราะไม่มีการแจ้ง แบบ สปร.๕ (ตามพรบ.ความปลอดภัยฯ) ให้กับทางสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงทราบ
หลังจากมีอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน เค้าอ้างอิงประวัติจากประกันสังคมค่ะ


แต่ทาง..สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะมีการอนุโลมให้ เพราะถือว่าส่วนมากไม่รู้

**ก่อนจบการเข้าร่วมประชุม ก็ได้ถามเรื่องการยื่นแบบ สปร.๕ กลายเป็นว่าใช้เฉพาะกรณีคนงานตายหรือบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น !!!
ห๊า..าาอะไรนะ ตะกี๊คือ"ขู่หรืออะไรอ่ะว่าต้องจ่าย 50,000 บาท"

คำถามคือ..ต้องกรอกแบบฟอร์มอันอื่นอีกไหม ??? หากถ้าลูกน้องประสบอุบัติเหตุเจ็บเล็กน้อย

เรื่องที่สอง ใจความหลัก ๆ ของการเรียก 50 บริษัทเข้าไปคราวนี้คือ..การต้องมี จป. (เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย)
ซึ่งมีการแจกเอกสารเกี่ยวกับ "กฏกระทรวง" กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2549 ประมาณว่า...
ใช้บังคับกิจการ หรือ สถานประกอบกิจการ ที่มีความเสี่ยง 14 ประเภท เช่น การทำเหมืองแร่ การก่อสร้าง (ตามรูปเอกสารนี้)



คำถามคือ..บริษัทที่ทำอยู่ตอนนี้เกี่ยวกับเว็บไซต์ ประกอบกิจการไม่ตรงตาม 14 ข้อนี้เลย ต้องมี จป. ไหมคะ
เพราะในวันนั้นเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบเอกสารที่เรายื่นให้ แจ้งว่าบริษัทเราไม่ต้องมี จป. เนื่องจากไม่เข้าข่าย 14 ข้อ


แต่..นักวิชาการแรงงานชำนาญการ ที่เป็นคนชี้แจงวันนั้นบอกว่า ต้องมี จป. ไม่มีไม่ได้
แล้วก็ไปเอา พรบ.อันใหม่ ของปี 2554 มาให้เรา พร้อมแจ้งว่า..ยังไงเราก็ต้องมี จป. (เอกสารที่เจ้าหน้าที่ถ่ายมาให้)






และแจ้งเพิ่มเติมว่า จะมีจดหมายตามมาอีกเรื่องการมี จป.
โดยที่เราต้องส่งคนไปอบรมตามที่เค้า มีกำหนดการจัดขึ้น และแน่นอน"มันมีค่าใช้จ่ายในการอบรม เพื่อเป็น จป. ต่าง ๆ ในแต่ละระดับ"

งงสิครับท่าน..หน่วยงานเดียวกัน เจ้าหน้าที่คนนึงบอกต้องมี จป. เจ้าหน้าที่อีกคนบอกไม่ต้องมี จป.

** คำถามคือ..อย่างนี้ทุกกิจการ ห้างร้าน บริษัท โรงงาน ในประเทศต้องมี จป. หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ไม่มีข้อยกเว้นใช่หรือไม่

เรื่องที่สาม เจ้าหน้าที่ชี้แจงเรื่อง การอบรม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (จป.)แต่ละแบบ
คือระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร  ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ
ที่แต่ละบริษัทจะต้องมี โดยบังคับตามกลุ่มกิจการ และ จำนวนพนักงาน
ว่าจะต้องมี จป. ระดับอะไรบ้าง จำนวนกี่คน อะไรประมาณนี้ ซึ่งสำนักงานสวัสดิการฯมีจัดอบรม จป.ในแต่ละระดับ มีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน
และไม่ใช่หลักร้อย แต่เป็นหลักพันถึงหลายพันในการอบรม จป. แต่ละระดับ / 1 คน (อย่างหน่วยงานจังหวัดนี้ เก็บคนละ 2,700 บาท)

เราก็สอบถามว่า..มีพนักงานประจำแค่ 3 คน เป็นโปรแกรมเมอร์ แอดมิน ดีไซน์เนอร์กราฟฟิก แล้วจะส่งใครไป
เค้าก็บอกว่า..หัวหน้าแต่ละฝ่าย ยังไงก็ต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และต้องมีของแต่ละฝ่ายด้วยซ้ำ (เราก็..หาาาา อะไรนะ)

ภายใน 30 วันหลังจากที่ได้หนังสือ ฉบับต่อไป หากไม่มีการแต่งตั้งตามกำหนดถือว่าผิดกฏหมายมีโทษปรับเป็นเงิน
โดยที่หนังสือที่ได้รับมา เป็นแบบนี้..(ตามรูปเอกสาร)





ซึ่งพอเรากลับมาอ่านเรื่อง กฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย ปี 2549
ที่แบ่งระดับ จป. จากสถานประกอบกิจการแต่ละประเภทนั้น ยังไงก็ไม่เข้าข่ายสักอันที่จะต้องมี จป.

ตามที่หนังสือคำสั่งพนักงานตรวจความปลอดภัย อ้างถึง คือ มาตรา ๘ มาตรา ๑๓ มาตรา ๗๔ ตามพรบ.2554 นั้น (ตามรูปด้านบน)
เหมือนจะแปลได้ว่า..ทุกบริษัท ห้างร้าน โรงงาน ไม่ว่าจะทำกิจการเกี่ยวกับอะไรก็ตาม ต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือ จป. ทุกที่ ใช่ไหม ???
อย่างบริษัทเราทำเว็บไซต์ มีพนักงาน 3 คน ถูกระบุว่า ต้องมี จป.ทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหารเลยหรือ ????
เพราะถ้าไม่ทำตามคำสั่ง ภายในสามสิบวัน ต้องจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งปรับทั้งจำ

ทั้งหมดคือ..ไม่เข้าใจในกฏหมายที่ออกมาเท่าไหร่ว่า ตกลงต้องมี จป. หรือไม่ ในเมื่อบริษัทเล็กแค่นี้ เพราะส่วนมากเป็นฟรีแลนซ์
อีกทั้งกิจการไม่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระหว่างทำงาน
และทำไมบริษัทที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ทำสิ่งทอ ทำอาหาร ฯลฯ ไม่เห็นมีเค้ามี จป. กันเลยสักที่ อย่างน้อยพนักงานเป็นสิบ ๆ คน
ไม่มีการเรียกเข้าพบด้วยซ้ำ (อาจจะเป็นเพราะไม่มีการเคลมจากประกันสังคมหรือไม่)

ที่สำคัญกว่านั้น..คือทำไมไม่บังคับใช้ พรบ.ของ 2554 แทน 2549 ไปเลย ว่าทุกบริษัท กิจการ ห้างร้าน โรงงาน ทุกที่ต้องมี จป. ให้หมด
ไม่ใช่มาถึงแจกเอกสาร 2549 เสร็จ พอแย้งว่า ไม่อยู่ในข่ายกิจการที่ระบุ 14 ข้อ ก็ไปหากฏหมายใหม่มาบังคับใช้กับเรา งงมาก ???

ท่านใดพอชี้แจงเรื่องการบังคับกฏกระทรวง เกี่ยวกับกิจการที่จะต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย แต่ละระดับ
มีความรู้ช่วยหน่อยเถอะค่ะ  ปวดหัวมากจริง ๆ โดนขู่ตลอดว่าจะจับปรับ จับปรับ ทั้งๆที่เราพยายามทำความเข้าใจ

พอโทรไปถามหน่วยงานนี้ กลับบอกว่ากิจการเราไม่ใช่ไม่ต้องมี จป. แต่จดหมายกลับมาออกคำสั่งให้มี จป.

มึนไปสิบตลบ..ช่วยหน่อยเถอะค่ะ Y____Y







***พี่เจ้าหน้าที่ที่ออกหนังสือคำสั่ง ติดต่อกลับมาแล้วนะคะ โทรการเข้ามาที่ออฟฟิศ
เข้าไปดูรายเอียดการสนทนาได้จากความคิดเห็นที่ 27 ค่ะ



ส่วนความคิดเห็นที่ 25 เชื่อว่าเป็นพี่เจ้าหน้าที่ที่ออกหนังสือท่านนั้น มาตอบเอง

แล้วจะรอคำตอบจากกรมสวัสดิการฯ เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างที่พี่เจ้าหน้าที่บอกนะคะ
ว่ากิจการ จัดทำเว็บไซต์ ที่มีพนักงานอันน้อยนิด กับอุปกรณ์คอมไม่กี่เครื่อง จะต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยไหม ????

เพราะถ้าหากกรมสวัสดิการฯ ชี้แจงมาว่า กิจการเล็กขนาดนี้ จะต้องจัดตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ก็แสดงว่าต้องมีทั้งประเทศแล้วล่ะค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 28
น่าเห็นใจเจ้าของกระทู้ที่ต้องมาวุ่นวายเพราะ ข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ข้าราชการต้องปฏบัติงานตามกฎหมาย แต่คนที่บังคับใช้กฎหมายยังอ่านกฎหมายไม่แตกฉาน ความซวยเลยตกอยู่กับประชาชน ห้างร้าน
ความคิดเห็นที่ 27
ได้รับการติดต่อกลับมาแล้วค่ะ..เมื่อประมาณหนึ่งชั่วโมงที่แล้ว

พี่เจ้าหน้าที่ ที่เป็นคนออกหนังสือคำสั่ง ชี้แจงว่า..
1.ส่งเอกสารมาผิด จะแก้ไขโดย ออกหนังสือยกเลิกคำสั่งฉบับที่ให้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมาให้ แล้วจะส่งคำสั่งใหม่ตามมาตรา 16 มาแทน
2.เจ้าหน้าที่ยังเน้นย้ำว่า ตามมาตรา 16 ตาม พรบ. (คำอธิบายมาตรา หาอ่านจากความคิดเห็นที่ 25 เพราะเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ท่านนี้มาตอบเอง)
มีผลบังคับให้ "ทุกธุรกิจในประเทศ ไม่ว่าเล็กใหญ่ พนักงานมากหรือน้อย ทุกคนต้องได้รับการอบรม จป. อยู่ดี"

และเจ้าหน้าที่ท่านนี้จะทำหนังสือสอบถามไปยังกรมสวัสดิการฯ เกี่ยวกับกิจการ จัดทำเว็บไซต์ ที่ทั้งบริษัทฯมีอุปกรณ์แค่ คอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง พริ้นเตอร์ 1 เครื่อง  ว่า..ตรงกับกิจการ 14 ประเภทที่กฎกระทรวงบังคับอันไหนบ้าง  แล้วจะเอาคำตอบจากกรมส่งมาให้อีกครั้ง

เพราะเจ้าหน้าที่ท่านนี้บอกว่า..เคยมีคนทำหนังสือไปสอบถามเรื่องนี้ และกรมสวัสดิการฯ ตอบกลับมาว่า "กิจการจัดทำเว็บไซต์" จะต้องมีการจัดตั้ง..เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย

3.พอสรุปสุดท้าย..การออกหนังสือคำสั่งครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะยกเลิกให้ก่อน จนกว่าจะได้คำยืนยันจากกรมสวัสดิการฯเกี่ยวกับกิจการอีกครั้ง


แล้วหนูจะรอคำตอบจากกรมสวัสดิการฯ ตามที่พี่บอกนะคะ



หนูไม่เข้าใจว่า พี่เจ้าหน้าที่อุตส่าห์มาโพสข้อกฎหมายที่บังคับใช้ ในความเห็นที่ 25 เมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ในเมื่อเป็นประโยชน์ พี่จะลบทำไมคะ ?????
ความคิดเห็นที่ 20


จป.วิชาชีพ
ความคิดเห็นที่ 33
บริษัทแม่ผมโดนแบบนี้ครับ

บริษัทเราเป็นบริษัทเล็กๆ สมัยก่อนขายได้ดีกำไรเลยมาก
แต่หลังๆไม่ดี มีขาดทุนบ้างอะไรบ้าง กรมสรรพพากรก็หาว่าเราโกง เลี่ยงภาษี
แม่ก็คิดว่าเราไม่โกงจะต้องกลัวอะไร ส่งหลักฐานไปพร้อมว่าไม่โกง
แต่การส่งหลักฐานที่ว่าเราไม่โกงไป กลายเป็นว่าเรายอมรับว่าโกง

จึงปรับเป็นเงิน 2 แสนกว่ามั้งนะครับถ้าจำไม่ผิด แม่ผมเครียดมา
ร้องไห้วันละหลายๆรอบ สุดท้ายต้องจ้างทนายไปว่าความอีก
อยู่ๆเราก็ต้องมาเสียเวลา เสียความรู้สึก เสียค่าทนาย เพราะอะไรรู้มั้ยครับ

กรมสรรพากรบอกว่า ทุกบริษัทโกงกันหมด นี่คือหลักการคิดของเค้าครับ -*-
เค้าก็เลยมาไล่ปรับบริษัทเล็กๆแบบเรา แล้วเค้าก็ได้ผลงาน ได้เลื่อนขั้น
พระเจ้า คนที่เขาไม่รู้เรื่องกฏหมายก็ปิดกิจการไปเป็นแถบๆ
บริษัทใหญ่ๆโกงเป็นว่าเล่นไม่ไปปรับ เพราะคอรัปชั่น เจริญดีแท้ประเทศเรา
คนรวยก็รวยต่อยอดไปเรื่อยๆ คนจนก็โดนกดจนโงหัวไม่ขึ้น เหอะ!!

(ถ้าเล่าถูกผิดบ้างก็ขออภัย ผมเล่าเท่าที่รู้ๆหรือจำได้เท่านั้นครับ)
ความคิดเห็นที่ 16
จากที่ทำงาน จป.ว.มา ส่วนใหญ่บริษัทจะทำประกันกันชีวิตไห้ครับเมื่อเกินอุบัติจากการทำงานก็จะใช้ประกันชีวิต ก็จะจบไม่ต้องส่งเอกสารอะไรตามเลย

สงสัยอีกอย่าง ทำไมเค้าไม่ใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนหละ เพราะมันเป็นอุบัติเหตุจากการทำงาน ส่วนประกันสังคมใช้ในกรณีเจ็บป่วยทั่วไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่