อริยสัจสี่ คือ

เนื่องในวันวิสาขบูชา

        ธรรมดาคนเราทั้งหลายจะเรียนรู้สิ่งใด ก็จะค้นหาความจริงของสิ่งนั้น เพื่อที่เราจะได้จัดการกับสิ่งนั้นได้ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา
เช่น เรียนรู้ ฝนฟ้า ก็เพื่อหลบหลีกหรือนำฝนมาใช้ประโยชน์
เรียนรู้เรื่องดิน ก็เพื่อเอาดินมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผัก
ในเมื่อชีวิตของเรานั้นเป็นของสำคัญที่สุด หากรู้จักความจริงของตนได้ก็ย่อมเกิดประโยชน์ที่สุดแก่เจ้าของ
ด้วยเหตุนี้ องค์บรมครูองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญเพียรค้นหาความจริงของชีวิตนี้ และได้ทรงตรัสรู้ในอริยสัจ 4 อันเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา
อันประกอบไปด้วยความจริงของโลก ทรงย่นย่อความจริงเกี่ยวกับตัวเรา ให้เหลือความจริง 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ผู้ใดรู้จักธรรมหรือความจริงทั้ง 4 ข้อนี้ ย่อมพาตนเองให้อยู่รอดปลอดภัย และพาตนนั้นเจริญไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

ความจริงข้อแรก ทุกข์
     
        มนุษย์นั้นเกิดมาพร้อมกับความทุกข์แต่ก็ไม่เข้าใจและไม่รู้จักทุกข์ดีพอว่า ทุกข์นั้นคืออะไร
เราจะเริ่มทุกข์ก็ต่อเมื่อเจอสภาพทุกข์ที่หนักหนาสาหัส
แต่แท้จริง พระศาสดาไม่ได้ทรงชี้แค่ว่า ทุกข์นั้นคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย  
แต่ทรงชี้ว่า ความรู้สึกทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น สุข ทุกข์ ความเบื่อ ความกังวล อะไรที่เรารู้สึกขึ้นมา ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น
ทรงระบุเป็นหมวดหมู่ ชื่อว่า ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ
ทรงสอนให้สังเกตุว่า สภาวะธรรรมที่ปรากฎกับตัวเรานั้น เรารู้สึกอย่างไร ด้วยการฝึกมหาสติปัฎฐาน 4  
เพราะคนเรานั้นไม่เคยสังเกตุตนเอง คนเราสังเกตุแต่เรื่องภายนอก เราจึงไม่รู้จักทุกข์ของตนเองดีพอ
ซึ่งถ้าหากเราสังเกตุความรู้สึกของตัวเราดีๆ เราจะเห็น เราทุกข์ ทั้งวัน
การเจริญสติปัฎฐานก็เพื่อให้รู้ว่า ความรู้สึกต่างๆที่เป็นของเรานั้นมีอะไรบ้างที่ จะก่อเหตุให้เราทุกข์หนัก ความรู้สึกแบบใดบ้างที่เราวางเฉยไปได้ ความรู้สึกใดที่ไม่เป็นภัย และสภาวะตัวใดที่เป็นต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์

ความจริงข้อที่ 2 สมุทัย
      เมื่อเจริญมหาสติปัฎฐานจนรู้จักสภาพทุกข์แต่ละอย่างดีพอ ผู้แตกฉานแล้วย่อมเห็นเหตุได้ว่า
ความคิดนึก การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น และสัมผัส นั้นย่อมเกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจ
เมื่อเกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจ ย่อมเกิดความอยากสัมผัสหรือไม่อยากสัมผัสอีก
เมื่อเกิดความอยากหรือไม่อยาก ย่อมเกิดการยึดติดหมกมุ่น จนกลายเป็นนิสัย
นิสัยย่อมกลายเป็น กิจวัตร ความคุ้นเคย และกิจวัตรย่อมทำให้เราฝังนิสัยสันดาน ถอนตัวออกไปจากสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้  
จนยึดติดเป็นภพเป็นชีวิตเป็นความเป็นตัวตนของเรา ตลอดไป
การรู้เหตุแห่งทุกข์นี้ ทรงชี้ให้เห็นถึงรากของความเป็นตัวเป็นตน ซึ่งจะติดตัวของเราไป
แม้ตายไปแล้วจิตที่คุ้นเคยกับการเสพสิ่งที่ชอบใจนั้นย่อมร้อยรัดให้ดวงจิตเวียนว่ายตายเกิด  
เช่น คนมักโกรธก็มีนิสัยโกรธไม่หาย  คนหมกมุ่นในราคะก็ชอบราคะไม่หาย  นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามีการร้อยรัดจิตใจเราเกิดขึ้นจนยากที่จะถอน
ส่งผลให้ คนเรามีนิสัยสันดานที่แตกต่างกันไป แม้ถูกเลี้ยงดูฟูมฟักอย่างไรก็ตามก็จะไม่ทิ้งนิสัยสันดานเดิมที่ ตนเคยสะสมมา

ความจริงข้อที่ 3 นิโรธ
      เมื่อผู้เจริญภาวนา มองเห็นลำดับของการเกิดทุกข์ เหตุของทุกข์ และการร้อยรัดแล้ว ก็ย่อมเห็นเหตุปัจจัย
เมื่อเห็นเหตุปัจจัยก็ย่อมสามารถดับทุกข์ไปที่ ต้นเหตุ
ดังที่พระบรมศาสดาสอนให้พระอัญญาโกญทัญญะฟังว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ คือ สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา และ คำสอนของพระอัสสชิที่กล่าวให้พระสารีบุตรฟังว่า
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ
"ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น"
เมื่อผู้เจริญภาวนารู้ต้นสายปลายเหตุแล้ว ก็ฝึกจิตให้ปล่อยวางธรรมต้นเหตุของทุกข์ คือ ความอยาก ความชอบ ความหลง ทวนไปจนถึงอวิชชา ย่อมดับทุกข์และแก่นของทุกข์ได้

ความจริงข้อที่ 4 อริยมรรคมีองค์ 8
     การเจริญภาวนาเพื่อรู้ถึงต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์ และการควบคุมจิตเพื่อปล่อยวางได้นั้นมีความยาก ไม่สามารถทำได้โดยใช้พื้นฐานนิสัยเดิมของตน
เพราะกระแสของกิเลสนั้นมีกำลังเนื่องจาก เจ้าของเจริญกิเลสมาช้านาน พระศาสดาทรงประทาน วิธีการหรือขั้นตอน ให้สาวกได้ฝึกฝนตนเองในขณะที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการดับทุกข์ที่สุด ดุจดังราวเกาะ หรือ สะพานที่เดินไปสู่จุดมุ่งหมาย ด้วย อริยมรรคมีองค์ 8 ตราบใดที่มีผู้เจริญมรรคมีองค์ 8 แล้ว พระอรหันต์ไม่ว่างเว้นจากโลก ซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นคือ
1. มีความเห็นที่ชอบ ว่า บุญมี บาปมี นรกมี สวรรค์มี กรรมดีกรรมชั่วมี
2. มีความดำริชอบ ว่าจะคิดทำอะไรก็ตามเพื่อ ออกห่างจากกิเลส
3. มีคำพูดที่ชอบ ไม่ก่อเวร พูดแต่สิ่งที่เป็นจริง
4. มีการกระทำที่ชอบ คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
5. มีการหาเลี้ยงตนเองที่ชอบ คือ ประกอบอาชีพหรือ การเลี้ยงตัวเองอันไม่ก่อบาปก่อกรรมเพิ่มเติม
6. มีความเพียรที่ชอบ คือ เจริญภาวนา ฝึกฝนตนเองในการละกิเลสอยู่เป็นประจำ
7. มีสติชอบ คือ การระลึกรู้ตัว และการเจริญมหาสติปัฎฐาน
8. มีสมาธิชอบ คือ การทำจิตให้ผ่องใส เป็นสมาธิอยู่เสมอ เพื่อกั้นนิวรณ์ต่างๆ ไม่ให้กิเลสก่อตัว อันมีปฐมฌาณเป็นต้น

ผลของการเรียนรู้จัก อริยสัจทั้ง 4 นั้นจะทำให้ผู้ฝึก เกิดดวงตาเห็นธรรม ตามพระศาสดาด้วยตนเอง ดับทุกข์ได้จริง และอยู่กับทุกข์ได้อย่างไม่เป็นภัยเพราะรู้จักทุกข์นั้นเอง ดังเช่น คนรู้จักคมมีดย่อมใช้คมมีดให้เป็นประโยชน์และระวังไม่ให้บาดตัว
พระบรมครู ทรงกำหนดปริญญาไว้ 8 ระดับ หากผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเปลี่ยนจิตตนเองได้เป็น
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล รู้จักทางในการใช้ชีวิต ที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ด้วยตนเอง เป็นผู้ตกในกระแสพระนิพพาน ปิดประตูอบายทั้งปวง
สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล รู้จักทางในการกำจัดกิเลสให้เบาบางและผลในการทำให้กิเลสเบาบาง
อนาคามีมรรค อนาคามีผล รู้จักทางในการกำจัดกิเลสอย่างละเอียด คือ ราคะ โทสะ
และพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล รู้จักทำที่สุดของทุกข์ คือ ต้นสายปลายเหตุอันเป็นรากเหง้าของ ทุกข์ทั้งปวง คือ อวิชชา ให้ดับลง
แล้วจะพบสัจธรรมสูงสุด

ขอบูชาธรรมเพียงเท่านี้ ผิดพลาดประการใดขออภัยครับ
jimmykung วิสาขบูชา 2558
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่