กรมเชื้อเพลิงฯยืนยันการประกาศเพื่อเชิญชวนยื่นขอสัมปทานรอบที่ 21 (เพิ่มเติม) เน้นโปร่งใส สร้างประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ

กระทู้ข่าว
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยืนยันการประกาศเพื่อเชิญชวนยื่นขอสัมปทานรอบที่ 21 (เพิ่มเติม) เน้นโปร่งใส  สร้างประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ

    ตามที่มีกระแสข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์โดยมีเจตนาให้เข้าใจว่าการประกาศเชิญชวนเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (เพิ่มเติม) สำหรับ 3  แปลงในอ่าวไทย   เป็นการทำให้รัฐเสียเปรียบ และการให้สัมปทานไม่มีการแข่งขัน นั้น    
    กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  ขอยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า  ความเข้าใจเช่นนั้นนับเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง   เพราะระบบสัมปทานเป็นการเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเสรี เปิดโอกาสให้บริษัทผู้สนใจลงทุนเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณงาน และปริมาณเงินลงทุน   โดยหากเสนอปริมาณงานและเงินยิ่งมากก็หมายถึงผลประโยชน์ในด้านข้อมูลที่ประเทศจะได้รับจากการสำรวจมากขึ้นตามไปด้วย และหากไม่มีการดำเนินงานตามข้อผูกพันบริษัทผู้ได้รับสัมปทานก็จะต้องจ่ายเงินในส่วนที่ไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวคืนให้รัฐ นั่นก็หมายถึงรัฐได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ ข้อตกลงไว้ภายใต้กฎหมาย     ที่รองรับอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งวิธีการประมูลดังกล่าวมิได้แตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น  ประเทศแคนาดา หรือประเทศอังกฤษแต่อย่างใด
    นอกจากนี้ ในระบบไทยแลนด์ทรีพลัสที่จะใช้ในการบริหารจัดการครั้งนี้ นอกจากผลประโยชน์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยังเปิดช่องทางให้บริษัทแข่งขันเสนอปริมาณเงินได้เปล่า โดยรัฐกำหนดขั้นต่ำไว้แล้ว ทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
    สำหรับกรณีในเรื่องของความโปร่งใสในการพิจารณา จากการดำเนินการที่ผ่านมารัฐมีการเผยแพร่ข้อมูลมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่ามีบุคคลบางกลุ่มสามารถนำข้อมูลของรัฐมาเผยแพร่แก่ประชาชนโดยคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนโปร่งใสมากขึ้น ในการประกาศเชิญชวนเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (เพิ่มเติม) ครั้งนี้ ยังได้ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียด คำขอ และข้อผูกพันด้านปริมาณงานและปริมาณเงินที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณาอีกด้วย
    ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามวิธีการ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ซึ่งสถานที่พิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้เป็นที่กรุงเทพมหานคร ภาษาที่ใช้ให้เป็นภาษาไทย โดยต้องวินิจฉัยชี้ขาดตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย จึงมิได้เสียเปรียบต่างชาติแต่อย่างใด และในการเจตนานำข้อมูลเพียงบางสัมปทานมาเผยแพร่และตีความหมายรวมอาจเพื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนส่งผลต่อความเชื่อมั่นและโอกาสทางด้านการลงทุนด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่