"รสนา" จวก รมต.พลังงาน อย่าขายผ้าเอาหน้ารอด แนะแก้ กม.ปิโตรฯ ก่อนเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1423286828





(6 ก.พ.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงประเด็นการเปิดสัมปทานปิโตเลียม รอบ 21 และพิจารณาเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบเเบ่งปันผลผลิตอีกครั้ง โดยระบุว่า



(FB link: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=761340123942553&id=236945323048705)

รมต.พลังงานอ้างว่าต้องเปิดสัมปทานรอบ21 ไม่งั้นจะขายหน้าต่างชาติ

ขอให้ท่านรมต.ลองศึกษาประวัติสมเด็จโต วัดระฆัง ที่ไม่ประดับประดาวัดเพื่อต้อนรับเจ้านาย โดยกล่าวอมตวาจาว่ายอม "ขายหน้าเอาผ้า(เหลือง)รอด" คือไม่ทำตามคำพังเพยไทยที่ว่า "ขายผ้าเอาหน้ารอด"

ท่านรมต.ควรยอม "ขายหน้าเพื่อเอาผ้ารอด" โดยเฉพาะผืนผ้าที่ว่านั้นคือ "ผืนแผ่นดินของคนไทยทั้งปวง" ซึ่งไม่ใช่สมบัติของท่านคนเดียว ที่จะเที่ยวเอาไปขายเพื่อรักษาหน้าตาของท่าน



และว่า       


(FB Link: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=760902500652982&id=236945323048705)

"สัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 กับการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทย"

ได้ฟังข่าวเย็นวันนี้ (5ก.พ 2558) ว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประกาศจะมีการสงวนสิทธิแปลงสัมปทาน3แปลงที่มีศักยภาพที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยว่าจะขอสงวนสิทธิเปลี่ยนไปใช้"ระบบแบ่งปันผลผลิต" ( Production Sharing Contract) ในอนาคตเมื่อมีการแก้ไขกฎหมาย โดยจะให้สัมปทานไปก่อนในการเปิดสัมปทานรอบที่21 ที่รัฐบาลยังคงยืนหยัดจะเปิดรับการขอสัมปทานในวันที่18ก.พ2558นี้

สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประกาศนั้นน่าจะเป็นคำลวงเพื่อลดกระแสการต่อต้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21จากประชาชนทั่วสารทิศหรือไม่?

พ.ร.บ.ปิโตรเลียม2514 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เอกชนที่จะมาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศต้องได้สัมปทานจากรัฐเท่านั้น การอ้างว่าจะเขียนข้อสงวนสิทธิเพื่อขอเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต จะเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายที่ระบุว่าต้องใช้ระบบสัมปทานเท่านั้นได้อย่างไร?

และไหนๆ คิดจะขอสงวนสิทธิแล้ว ก็แสดงว่ามีเจตนาจะแก้ไขกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็น "ระบบแบ่งปันผลผลิต" เหตุใดไม่แก้ไขกฎหมายเสียให้เสร็จก่อน ค่อยดำเนินการเปิดให้เอกชนมาขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือเรื่องการจัดการกับข้อพิพาท ที่รัฐจะเพิกถอนสัมปทานเอกชน ปรากฎว่าในกฎหมายปิโตรเลียมที่ถูกออกแบบและเขียนโดยที่ปรึกษาฝรั่งอเมริกัน ทำให้รัฐสูญเสียอำนาจความได้เปรียบเหนือเอกชนในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศ ในกฎหมายปิโตรเลียมกำหนดว่าหากมีข้อพิพาทที่รัฐจะเพิกถอนสัมปทานด้วยเหตุใดก็ตาม ต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ

ในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม 20 รอบที่ผ่านมา ในระยะแรก ระบุไว้เพียงให้รัฐกับเอกชนตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายของตนฝ่ายละคน และให้อนุญาโตตุลาการทั้ง2ฝ่าย ไปตกลงเลือกอนุญาโตตุลาการคนที่3 กันเอง แต่ในการเปิดสัมปทานรอบหลังๆ ได้ระบุว่า อนุญาโตตุลาการคนที่3 ที่เป็นเสียงชี้ขาดนั้น ให้ "ประธานธนาคารโลก" หรือ "ประธานศาลแห่งสมาพันธรัฐสวิส" เป็นผู้แต่งตั้ง

การกำหนดเช่นนี้ ย่อมทำให้เอกชนต่างชาติมีอำนาจเหนือรัฐบาล เพราะ 2 เสียงในอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นฝ่ายของเอกชนต่างชาติ ดังที่เห็นอยู่เสมอว่ากรณีพิพาทที่รัฐบาลไทยมีกับบริษัทต่างชาติในระบบอนุญาโตตุลาการ รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายแพ้และเสียค่าโง่มาโดยตลอด

ตามปกติแล้วระบบอนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องที่ใช้กับทางธุรกิจถ้ารัฐบาลไทยไปกู้เงินต่างชาติเขาก็มักจะบังคับให้รัฐบาลต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการเพื่อคงความได้เปรียบของเขา ส่วนการให้สัมปทานปิโตรเลียม เป็นการที่ต่างชาติมาขุดสมบัติในบ้านเรา ควรแล้วหรือจะให้เขามามีอำนาจกำหนดเงื่อนไขกับเงิน และทรัพย์สินในกระเป๋าของเรา??

ในอดีตที่ประเทศไทยเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับต่างชาติมาเป็นเวลานาน เป็นความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับประเทศ และบุรพกษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่5 เป็นต้นมาได้พยายามต่อสู้เพื่อปลดปล่อยบ้านเมืองให้ปลอดพ้นจากพันธนาการของต่างชาติในทางศาล

จนมาประสบความสำเร็จหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงงานแรกของรัฐสภาไทย ที่สามารถยกเลิกการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาลได้สำเร็จ

มาวันนี้เรากลับสละอำนาจศาลไทยในการดูแลคุ้มครองประโยชน์บ้านเมือง ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่รัฐบาลไทยจะรีบแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่ล้าหลัง ที่ทำลายประโยชน์บ้านเมือง เพื่อปลดล็อคพันธนาการ ที่ต่างชาติวางกลไก เงื่อนไขมาจัดการกับทรัพย์สินในกระเป๋าของเรา

สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแถลงเรื่องการสงวนสิทธิแปลงสัมปทาน 3 แปลง ไว้เพื่อเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบอื่น จึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือกฎหมายปิโตรเลียมบัญญัติไว้

ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงคิดมโนไปเองโดยไม่มีหลักกฎหมายรองรับ ก็น่าจะเป็นเพียงคำลวงเพื่อลดกระแสต่อต้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 เท่านั้นกระมัง!?!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่