ลุ้นเอกชนลุยต่อ ยื่นสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

กระทู้ข่าว
“ณรงค์ชัย” ลุ้นเอกชนรายเก่ารายใหม่ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมฯครั้งที่ 21 เชื่อน้ำมันขาลงเป็นแค่ระยะสั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเอกชนที่จะมาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทย

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ครั้งที่ 21 ที่ตนยัง มั่นใจว่า จะมีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามา ยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งรายเก่าและรายใหม่ แม้ว่าระดับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับที่ต่ำอาจไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนก็ตาม แต่เชื่อว่านักลงทุนกลุ่มนี้ จะมองแนวโน้มระยะยาว ไม่มองสถานการณ์ในระยะสั้น

ทั้งนี้ เท่าที่ได้รับรายงานทราบ ว่าตั้งแต่เปิดให้ผู้สนใจเข้ามายื่นคำขอฯตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่มีเอกชนรายใด มายื่นอย่างเป็นทางการ เพราะยังมีระยะเวลาจนถึงวันที่ 18 ก.พ. 2558 แต่มีการสอบถามข้อมูลเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งยอมรับว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลง ของราคาน้ำมันทีเกิดขึ้นไม่มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส่วนที่มองว่าระดับราคาน้ำมันจะตกไป 20-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจะไม่คุ้มกับการลงทุนนั้น เป็นเรื่องที่คิดกันไปเอง และไม่เชื่อว่าราคาน้ำมันจะลดลงไปต่ำขนาดนั้น

“การเปิดสัมปทานฯครั้งนี้มีทั้งหมด 29 แปลง ประกอบไปด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง ภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง และอ่าวไทย 6 แปลง โดยยังยืนยันจะใช้ระบบสัมปทานแบบเดิม แต่มีเงื่อนไขพิเศษที่เป็นการจ่ายผลตอบแทนให้กับภาครัฐ ซึ่งได้พิจารณาวิเคราะห์ดีแล้วระบบสัมปทานเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของคนไทย ผมจึงเชื่อว่าจะมีคนสนใจมายื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม แม้ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับที่ต่ำก็ตามเพราะนักลงทุนเหล่านี้จะมองเหตุการณ์ในระยะยาวมากกว่า เพราะไม่ใช่นักเล่นหุ้นที่มองแค่เหตุการณ์ระยะสั้นๆ ประกอบกับราคาน้ำมันคงไม่ต่ำแบบนี้ไปตลอด ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของเอกชนในการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาขุดสำรวจปิโตรเลียม”

สำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเดิมที่จะหมดอายุลงคือแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน จำกัด และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในปี 2565-2566 ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก โดยทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐ แต่จะมีวิธีการบริหารจัดการ ที่เหมาะสมเพื่อให้การผลิตปริมาณก๊าซฯมีความต่อเนื่อง ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษา

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การเปิดสัมปทานฯรอบใหม่เป็นแนวทางหนึ่งในการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ เพราะกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ในปัจจุบันอยู่ที่วันละ 3,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟุต) ต่อวัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการอยู่ที่วันละ 5,000 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน โดยเชื่อว่าจะยังมีนักลงทุนสนใจเข้ามายื่นเหมือนทุกๆ ครั้ง แม้ว่าราคาน้ำมันจะถูกลง แต่ขณะนี้เทคโนโลยีการขุดเจาะสำรวจ มีการพัฒนาที่ก้าวหน้าไปมาก และเชื่อว่านักลงทุนจะโอกาสนี้ในการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และหลังจากได้ออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนเข้ามายื่นสิทธิสำรวจปิโตรเลียม แล้วได้จัดให้มีการเข้ามาศึกษาข้อมูลของแปลงสัมปทานที่เปิดทั้ง 29 แปลง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในครั้งนี้ โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สนใจทั้งรายเก่า และรายใหม่ แสดงความจำนงเพื่อเข้าศึกษาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่