รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ความฝันที่ใกล้เป็นจริง

ไทย-ญี่ปุ่นลงนามเอ็มโอยู พ.ค.นี้ สร้างรถไฟ 2 เส้นทาง ความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และทางคู่กาญจนบุรี-อรัญประเทศ ด้านบอร์ด ทอท.ปรับลดค่าก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ลง 10,000 ล้านบาท พร้อมปลด “ประพนธ์” พ้น ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงผลหารือโครงการความร่วมมือพัฒนาระบบรางร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ได้ข้อสรุปว่าจะให้ญี่ปุ่นก่อสร้างโครงการรถไฟไทย 2 เส้นทาง คือ รถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศระยะทาง 574 กิโลเมตร (กม.) และ รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 670 กม. โดยรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ภายในเดือน พ.ค.นี้

“กระทรวงคมนาคมเห็นว่า รถไฟทั้ง 2 เส้นทางมีความเหมาะสม เพราะเชื่อมโยงเศรษฐกิจฟากตะวันออกไปตะวันตกตอนใต้ของไทย โดยขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลงฉบังไปท่าเรือทวาย ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีแผนขยายการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ไปยังเมียนมาร์ซึ่งจะเชื่อมต่อมาไทยได้ และอนาคตยังมีแผนเชื่อมไปยังเวียดนามด้วย”

ส่วนการสร้างรถไฟทางคู่แม่สอด จ.ตาก-มุกดาหาร จะให้ญี่ปุ่นช่วยศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างตลอดเส้นทาง หลังจากก่อนหน้านี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ศึกษาเฉพาะเส้นทางแม่สอด-พิษณุโลกเท่านั้น รวมทั้งขอให้ญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาและให้คำแนะนำในการวางโครงข่ายรถไฟในภาคตะวันออกของไทย เนื่องจากมีหลายเส้นทางที่อาจทับซ้อนกัน

นายอาคมยังกล่าวถึงความร่วมมือรถไฟทางคู่ไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ว่า จะใช้รูปแบบการลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งานฐานรากและการก่อสร้าง รวมทั้งการเวนคืนที่ดิน จะใช้เงินงบประมาณรัฐและแหล่งเงินกู้ในประเทศ ส่วนงานระบบการเดินรถเห็นตรงกันให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ลงทุนงานระบบกับการเดินรถ โดยใช้เงินกู้จากจีน ซึ่งไทยได้เสนอขอเงื่อนไขเงินกู้พิเศษดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% ระยะเวลา 30 ปี ในจำนวนนี้เป็นระยะเวลาปลอดชำระหนี้ 6-7 ปี

ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวหลังประชุมเตรียมการก่อนร่วมหารือการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ไทย-จีน ครั้งที่ 4 ที่ประเทศจีน วันที่ 6-8 พ.ค.นี้ ว่า มีการสรุปความก้าวหน้าการสำรวจออกแบบและความร่วมมือในการดำเนินงานและการลงทุน การจัดเตรียมบุคลากรเพื่อรับการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งเห็นชอบให้มีการทำรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางเชื่อมต่อจากเวียงจันทน์ไปหนองคาย 30 กม. และมีแผนวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกตลอดเส้นทางอีกด้วย

ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า บอร์ด ทอท.รับทราบการปรับลดราคาในโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ลง 10,000 ล้านบาท จาก 62,503 ล้านบาท โดยการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จะเริ่มได้ในปีนี้ นอกจากนั้น ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ยังมีมติปลดเรืออากาศโทจตุรงคพล สดมณี อดีตผู้อำนวยการสนามบินดอนเมือง พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ทอท. หลังจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยสรุปว่ามีการกระทำผิดร้ายแรงทางวินัย กรณีขุดดินในสนามบินดอนเมืองขาย มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท พร้อมทั้งแต่งตั้งให้นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับ 11 เป็นผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิ แทนนายประพนธ์ ปัทมกิจสกุล มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.นี้.

ที่มา http://www.thairath.co.th/content/496053
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่