✦ การขาย G to G ให้กับบริษัท GSSG ✦ การขายแบบ X-warehouse ✦

กระทู้สนทนา
ขอนำข่าวเก่ามาให้อ่านกันครับ


สัมภาษณ์ : วัชรี วิมุกตายน เปิดผลสอบสวน G to G ขายข้าวให้จีน ?
updated: 27 มี.ค. 2556 เวลา 14:07:32 น.



คำต่อคำตลอดระยะเวลา 45 นาทีของ "วัชรี วิมุกตายน"ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทุจริตการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 อ้างถึงคำสั่งของ

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความโปร่งใสให้สาธารณชนรับทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน เงื่อนไขการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่คณะทำงานชุดนี้ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำและพิจารณานานถึง 3 เดือนครึ่ง

- โครงสร้างและวิธีการระบายข้าว


คณะทำงานได้ดูถึงกรอบยุทธศาสตร์ในการระบายข้าวและแนวทางการระบายข้าว ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) เป็นผู้กำหนด มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าวขึ้นมาดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ โดยคณะอนุกรรมการจะพิจารณาดำเนินการระบายและตั้งกลไกระบายข้าวในสต๊อกตามจังหวะ เวลา ชนิด และเงื่อนไขการระบายในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดการค้าข้าวทั้งภายในและส่งออก หรือให้ส่งผลน้อยที่สุด

กลไกในการทำงานก็จะให้ตั้งคณะทำงานระบายข้าวขึ้นมา เพื่อดำเนินการระบายข้าวตามมติของอนุกรรมการระบายข้าว และดำเนินการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้นไปก่อน แล้วจึงนำผลสรุปเสนอต่อคณะอนุกรรมการระบายข้าว ซึ่งมีรัฐมนตรีพาณิชย์เป็นประธานอนุมัติ เป็นแนวปฏิบัติหลัก เพื่อให้มีความโปร่งใส เพื่อให้ผู้ต้องการซื้อข้าวได้สามารถเข้าถึง และมีการแข่งขัน เมื่อได้ผู้เสนอราคาที่ดีที่สุดก็จะได้รับความเห็นชอบ หลังจากประธานอนุมัติ ทางกรมการค้าต่างประเทศก็จะส่งเรื่องให้กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ทำสัญญาในกรณีการขายข้าวปกติ

แต่สำหรับกรณีการขายข้าวแบบจีทูจี (G to G) จะต่างกัน โดยหลังจากประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าวอนุมัติแล้ว ทางกรมการค้าต่างประเทศก็จะเป็นผู้ทำสัญญา ก็จะประสาน อ.ต.ก.-อคส.ทำการส่งมอบข้าวที่อยู่ในความดูแลแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งรับชำระค่าข้าวตามที่ได้ตกลงกันไว้ อันนี้คือโครงสร้างและวิธีการดำเนินการ

- ผลการสอบสวน

ทางคณะทำงานได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้วางแนวทางและหลักการ กล่าวคือ ตรวจสอบดูว่า กรณีการดำเนินการขายข้าวของรัฐบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการตามที่ได้กล่าวเบื้องต้นหรือไม่ ซึ่งผลตรวจอพบมีทั้งเหมือนและแตกต่าง สิ่งที่เหมือนกันก็คือมีโครงสร้างการพิจารณาถึงการระบายเหมือนกัน ทั้งยุทธศาสตร์-กลไกการระบาย อำนาจ ตามกรอบยุทธศาสตร์ระบาย 5 วิธี คือการระบายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล, การระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า, การระบายให้กับผู้ประกอบการทั่วไป ทั้งส่งออกและใช้ในประเทศ ขึ้นอยู่กับการประกาศแต่ละครั้ง, การระบายให้กับองค์กร หน่วยงานราชการ ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสาธารณประโยชน์ และการบริจาคให้กับต่างประเทศ

ส่วนที่แตกต่างกันก็คือจะมีรายละเอียดของแต่ละวิธีที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กขช.มอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการระบายข้าวเป็นผู้พิจารณาระบายเหมือนกัน ส่วนในกลไกการระบายก็ได้ตั้งคณะทำงานระบาย

โดยพิจารณาภายใต้กรอบที่อนุกรรมการระบายข้าวกำหนด เมื่อคณะทำงานระบายได้ข้อยุติก็จะดำเนินการระบาย และนำเสนอข้อยุติสุดท้ายให้ประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าวพิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาส่งมอบข้าวต่อไป

แต่ในช่วงรัฐบาลก่อนหน้าชุดนี้ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือการเพิ่มขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่ง คือเมื่อประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าวได้อนุมัติแล้ว ต้องนำผลการระบายที่อนุมัติให้ประธานหรือรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติให้ความเห็นชอบอีกขั้นตอนหนึ่งก่อนดำเนินการทำสัญญาและส่งมอบต่อไป

- การขาย G to G ให้กับบริษัท GSSG

มีการยกประเด็นว่า มีการตรวจสอบหรือไม่ว่า GSSG เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนจริงหรือไม่ แล้วได้มีการดำเนินการแบบ G to G ภายในกรอบที่ กขช.กำหนดไว้หรือไม่ และหลังจากการปฏิบัติตามกรอบนั้นแล้ว ได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามกรอบสัญญาที่ทำไว้หรือไม่

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าสถานะของผู้ซื้อบริษัท GSSG เป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนจริง โดยทางกรมการค้าต่างประเทศได้ตรวจสอบก่อนที่จะเสนอรัฐมนตรีขายข้าวให้กับ GSSG

โดยวิธีการตรวจสอบได้ประสานกับสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน ซึ่งก็ได้ตรวจสอบหลักฐานจากคณะกรรมการควบคุมและบริหารทรัพย์สินแห่งรัฐบาลประชาชนมณฑลกวางตุ้งเรียบร้อยแล้ว

โดยมีหนังสือยืนยันจากคณะกรรมการว่า GSSG เป็นหน่วยงานของรัฐบาลจีนจริง โดยมีนางโล เหวิน ซุ้ย เป็นผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัท และในการดำเนินการรับมอบและชำระเงิน ก็มีหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทน คือนายรัฐนิธ โสจิรกุล กับนายสมคิด เอื้อสุภา

หลังจากกรมการค้าต่างประเทศได้ตรวจสอบแล้วว่า GSSG เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนจริง คณะทำงานระบายเสนอกรอบและเงื่อนไขการเจราจาทั้งหมดให้รัฐมนตรีเห็นชอบก่อนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว

เหตุที่ต้องเสนอรัฐมนตรีก่อน ก็เพื่อตรวจสอบว่า GSSG เป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริงหรือไม่ รวมทั้งแนวทางจะดำเนินการขายให้ GSSG แล้วจึงมอบให้คณะทำงานเจรจาซื้อขาย เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็เสนอผลการพิจารณาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว ให้อนุมัติก่อนทำสัญญา

แล้วทางกรมการค้าต่างประเทศก็ได้ดำเนินการทำสัญญากับทางบริษัท GSSG ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนต่อไป

- การขายแบบ X-warehouse

จะขออธิบายประเด็นการเลือกวิธีการขายข้าว G to G แบบเอ็กซ์แวร์เฮาส์ จะเป็นผลดีกับประเทศอย่างไร ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาของการขาย G to G มีเงื่อนไขการส่งมอบและชำระเงินปกติมี 3 วิธีหลัก คือ 1) ขายแบบ FOB คือเมื่อได้รับออร์เดอร์แล้ว ทางกรมการค้าต่างประเทศจะจ้างบริษัทผู้ส่งออกข้าวมาปรับปรุงตามเงื่อนไขที่ขายและส่งมอบลงเรือแล้วจึงนำเอกสารไปเบิกเงิน 2) วิธีการขายแบบ CIF ดำเนินการเหมือน FOB แต่เมื่อสินค้าลงเรือไปถึงปลายทางแล้วจึงเบิกค่าสินค้า และ 3) การชำระเงินในแบบหน้าคลัง (X-warehouse) เป็นวิธีการที่ปฏิบัติมานับ 10 ปี คือเมื่อเราขายรัฐบาลต่างประเทศแล้ว ทางรัฐบาลผู้ซื้อจะต้องจ้างผู้ส่งออกมาปรับปรุงและส่งมอบส่งออก ซึ่งแต่เดิมหลังมีการส่งออกแล้วจึงจะชำระเงินกัน สำหรับการขายให้ GSSG คือการขายแบบ X-warehouse ซึ่งจะหมดภาระที่หน้าคลัง โดยเงื่อนไขของ GSSG จะแตกต่างจาก X-warehouse ที่ผ่านมาคือมีการะบุในสัญญาว่า เมื่อกรมการค้าต่างประเทศได้เงินแล้วจึงจะสั่งการให้ อ.ต.ก.และ อคส.จ่ายข้าวตามปริมาณที่ได้รับชำระเงินเป็นงวด ๆ ไป ซึ่งเร็วกว่า X-warehouse ที่เคยปฏิบัติมา

เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องขายแบบ X-warehouse ก็คือเราต้องขายข้าวให้ได้ในปริมาณมาก ประกอบกับมีภาระต้องนำเงินจากการระบายข้าวกลับมาใช้ ธ.ก.ส.ตามมติ ครม.ฉะนั้นการขายจะต้องได้รับเงินเร็ว จึงกำหนดเงื่อนไขให้รับเงินก่อนรับมอบสินค้าเป็นการลดภาระและความเสี่ยงของรัฐบาลในการส่งมอบสินค้า

- ขายข้าวทำไมไม่เปิด L/C

ในกรณีที่พูดกันว่า การขายข้าว G to Gทำไมไม่เปิด L/C เพราะแนวทางปฏิบัติของกรมการค้าต่างประเทศมี 3 วิธี คือเปิด L/C โอนเงินผ่านธนาคาร และการจ่ายเช็คเงินสด ซึ่งวิธีการขายข้าว G to G ในอดีต ก็มีการขาย L/C เหมือนกัน แต่พอการขายของรัฐบาลชุดนี้ต้องการความคล่องตัว ก็เลยให้ใช้วิธีชำระเงินสด โดยใช้ทั้งวิธีการโอนเงินเข้าธนาคาร และรับชำระเช็คเงินสดแล้วค่อยจ่ายข้าวออกไป และที่ผ่านมา การขาย L/C ก็เคยเกิดความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลนี้มีการขายข้าวจำนวนมาก ฉะนั้นจะใช้วิธีอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ ต้องบริหารความเสี่ยงตรงนี้ด้วย

ขอสรุปว่า การขายข้าวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรผิดปกติ ทั้งในกรอบการระบาย โครงสร้างการระบาย มีการตั้งอนุกรรมการระบายข้าว สำหรับรัฐบาลชุดนี้ก็ยึดนโยบายและการปฏิบัติที่เคยปฏิบัติมานับสิบ ๆ ปี คือคณะทำงานระบายไปดำเนินการตามมติของคณะอนุกรรมการระบายข้าว พอได้ข้อยุติก็เสนอคณะอนุกรรมการระบายข้าวอนุมัติ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำสัญญาเลยเหมือนเดิม นี่คือข้อแตกต่าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่