ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง เรื่องวิธีการค้นหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ตำราที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นไม่ผิดเพี้ยน คือถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าใครสอนผิดจากตำรา ก็แสดงว่าคำสอนนั้นไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

แต่ในความเป็นจริงนั้นแม้ตำราก็อาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้ ซึ่งรวมทั้งความรู้จากคนอื่นนั้นเราก็ไม่รู้ว่ามันถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งการคิดคำนวณด้วยเหตุผลของเรา หรือการคิดตามสามัญสำนึกของเรามันก็อาจะผิดเพี้ยนได้ สรุปแล้วก็คือเราจะเชื่อจากตำราหรือใครๆแม้แต่ตัวเราเองว่าถูกต้องหรือเป็นจริงไม่ได้เลย เพราะมันอาจผิดเพี้ยนได้ทั้งสิ้น ซึ่งพระพุทธเจ้าย่อมทรงรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงวางหลักการพิเศษเอาไว้ เพื่อให้สาวกรุ่นหลังได้ค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธองค์ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใครๆหรือจากตำราใดๆทั้งสิ้น

หลักการพิเศษที่จะทำให้เราค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นก็สรุปอยู่ที่ เมื่อพบคำสอนใดก็อย่าเพิ่งเชื่อ แต่ให้นำมาพิจารณาดูก่อน ว่ามีโทษหรือประโยชน์ ถ้าเห็นว่ามีโทษก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ไม่มีโทษ ก็ให้นำมาทดลองปฏิบัติดูก่อน เมื่อได้ปฏิบัติเต็มความสามารถแล้วยังไม่เกิดผลจริงก็อย่าเชื่อ ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าทดลองปฏิบัติดูแล้วเกิดผลจริง จึงค่อยปลงใจเชื่อ และปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป คือหลักการนี้ก็คือหลักในการค้นหาความจริงจากร่างกายและจิตใจของเราเอง โดยไม่เชื่อจากใครๆหรือจากตำราใดๆแม้แต่จากตัวของเราเอง

โดยความจริงก็คือ สิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่จริงตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ซึ่งความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะคัดค้านด้วยเหตุผลได้ (นอกจากคนพาลที่ไม่ยอมรับความจริง) แต่ถ้าคำสอนใดที่ไม่ใช่ความจริงก็จะถูกคัดค้านด้วยเหตุผลได้ ซึ่งตำรานั้นเป็นแค่เพียงสิ่งที่ใช้บันทึกคำพูด ถ้าข้อความในตำรานั้นเป็นความจริง ข้อความนั้นก็เป็นคำสอนที่แท้จริงองพระพุทธเจ้า แต่ถ้าข้อความใดที่ไม่เป็นความจริง ข้อความนั้นก็ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้

โดยตัวอย่างคำสอนที่เป็นความจริงก็ได้แก่  ตำรานั้นอาจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้, หรือความทุกข์ใจคือปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน, หรือทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมาจากเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น, หรือเมื่อทำดีก็จะสุขใจ เมื่อทำชั่วก็จะร้อนใจ, หรือเมื่อจิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเอง มันก็เป็นทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเอง มันก็สงบเย็น (นิพพาน) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือความจริงที่ไม่มีใครจะค้านด้วยเหคุผลได้ ที่เราก็สามารถค้นหาได้จากความจริงที่มีอยู่จริงภายในจิตใจของเรานี่เอง

แต่การที่เราจะค้นพบความจริงได้ เราจะต้องเป็นคนที่มีเหตุผล ยอมรับความจริง (เพราะเหตุผลกับความจริงเป็นของคู่กับ  เมื่อพบความจริงก็จะพบเหตุผล) ไม่มีความเชื่อใดๆครอบงำจิต (ถ้ามีความเชื่อที่ผิดเพี้ยนครอบงำ ก็จะมองเห็นความจริงผิดเพี้ยนไปตามความเชื่อ) ไม่มีความลำเอียง (คือละเอียงเพราะชอบ, เพราะชัง, เพราะไม่รู้, และเพราะกลัว ถ้ามีความลำเอียง ก็จะทำให้เราไม่ยอมรับความจริงเพราะไม่ตรงตามที่เราลำเอียง) และต้องมีจิตที่มีสมาธิด้วย (การมีสมาธิจะทำให้จิตบริสุทธิ์ ตั้งมั่น อ่อนโยน จึงไม่มีความคิดฟุ้งซ่านและลำเอียง (คือมีใจเป็นกลาง) และยังมีสติสมบูรณ์ จึงทำให้มีความจำดีและคิดพิจารณาสิ่งต่างๆได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง จึงทำให้มองเห็นทุกสิ่งตามที่เป็นอยู่จริง  ถ้าไม่มีสมาธิ ก็จะมองเห็นสิ่งต่างๆผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง) เราจึงจะค้นพบความจริงได้

สรุปได้ว่า คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น คือความจริงที่ใครๆจะคัดค้านด้วยเหตุผลไม่ได้  โดยตำราที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราก็ต้องนำมาพิจารณาดูก่อน ว่ามีประโยชน์ต่อการศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์หรือเปล่า? ถ้าเห็นว่ามีโทษก็ให้ละทิ้งเสีย แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็ให้ทดลองนำมาปฏิบัติดูก่อน ถ้าได้ผลจึงค่อยปลงใจเชื่อ และรับเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อย่าเชื่อ ให้ละทิ้งเสีย ซึ่งนี่คือหลักการพิเศษที่จะทำให้เราสามารถค้นพบได้ว่า คำสอนใดในตำราของพุทธศาสนา คือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า หรือเป็นคำสอนที่ปลอมปนเข้าในในภายหลัง จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรสนใจนำมาศึกษาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพี่อที่จะได้ค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และนำคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเราเอง และสังคมประเทศชาติ รวมทั้งแก่โลกกันต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่