ความทรงจำผ่านเลนส์กับปีสุดท้ายของนักเรียนสถาปัตย์

สวัสดีครับ วันนี้มาพบกับผมนาย "เด็กน้อยค้นโลก" อีกครั้งครับ

วันนี้ผมมาพร้อมกับประสบการณ์ ครั้งหนึ่งที่เคยไปซุ่มตั้งกล้องส่องนกครับ โดยมาจากการที่ผมต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ในสาขาภูมิสถาปัตยกรรม
ขอพูดถึงตัวโครงการของผมคล่าวๆนะครับ เป็นโครงการสวนสาธารณะ แต่เป็นประเภทสวนสาธารณะเชิงนิเวศน์ โดยจะเน้นการออกแบบที่อิงกับธรรมชาติเดิมที่มีครับ


(ภาพบรรยากาศพื้นที่ในตอนเช้า ในเดือนธันวาคมเป็นช่วงฤดูหนาว สังเกตว่าจะมีหมอกที่บริเวณผิวน้ำข้อนข้างมาก)

บริเวณนี้เรียกว่าเกาะยม อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่บริเวณนี้ปัจจุบันเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้งานอะไร อยู่ใกล้กับตัวเมืองปากน้ำโพมาก แต่มีปัญหาคือที่ดินฝั่งนี้จะต่ำ น้ำท่วมแทบจะทุกปี



จากการลงสำรวจ ลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง ระดับน้ำมีผลต่อพื้นที่มาก ส่งผลให้ธรรมชาติในพื้นที่มีความแตกต่างกันในแต่ละฤดู

ลองดูภาพเปรียบเทียบกันด้านล่างครับ


(ภาพนี้ถ่ายเดือนธันวาคม ปี2013 สังเกตจากในภาพ บริเวณดินทางด้านซ้ายมีลักษณะแตกออกจากกัน ซึ่งสันนิษฐานได้ไม่ยากเลยว่า ก่อนหน้านี้ดินต้องเคยได้รับความชุ่มชื้น หรือพูดง่ายๆว่าในฤดูน้ำหลากจะต้องมีน้ำท่วมถึงบริเวณนี้ )


(ภาพนี้ถ่ายเดือนกุมภาพันธ์ ปี2014 สังเกตุว่ามีพืชพรรณขึ้นตามชายขอบ)
สองภาพนี้บอกเราได้ง่ายๆเลยว่า ช่วงก่อนเดือนธันวาคมต้องเคยมีระดับน้ำจนทำให้พืชพรรณชายน้ำไม่สามารถขึ้นได้ แต่พอเวลาผ่านไปถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ระดับน้ำมีความคงที่พืชก็เริ่มเจริญเติบโต ถ้าธรรมชาติไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็จะเห็นเหตุการณ์แบบนี้วนไปเรื่อยๆ เรียกว่ามาแต่ละฤดูก็เห็นความงานแบบไม่ซ้ำกันเลย

อีกจุดนึงที่น่าสังเกตครับ


(ถ่ายตอนเดือน 6 ปี 2013 )

(ถ่ายตอนเดือน 2 ปี 2014 )
สองภาพนี้มีความคล้ายกันตรงลักษณะภูมิประเทศ ที่มันอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แต่ลองสังเกตที่ดินครับ ทั้งสองภาพดินมีรอยแตกเหมือนกัน แต่รอยแยกนั้นภาพล่างมีมากกว่า สรุปง่ายๆคือ ภาพล่างดินน่าจะขาดความชุ่มชื้นมานานกว่าภาพบนครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของดินด้วย เวลาออกไปถ่ายภาพธรรมชาติ ลองสังเกตพวก detail เล็กๆน้อยๆพวกนี้ดูครับ

ในขั้นตอนการทำงานเสนอความคิด อ.ที่ปรึกษาของผมได้บอกไว้เสมอว่า สิ่งสำคัญของการทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อของผมคือการลงสำรวจพื้นที่ ทำความเข้าใจบริบทต่างๆ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ดังที่ผมยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบด้านบนครับ

ผมได้ลงพื้นตั้งแต่ช่วงฤดูฝนเรื่อยมา จนมาถึงจุดเปลี่ยนก็คือในฤดูหนาวครับ ในช่วงนี้มันจะมีพวกนกอพยพเข้ามา ทำให้ผมต้องมาค้นคว้าเรื่องนกและลักษณะการอยู่อาศัยของมัน นำมารวมเข้ากับข้อมูลของพื้นที่ในแต่ละฤดู และด้วยคำแนะนำต่างๆมากมายจากอาจารย์ที่ปรึกษา ผมจึงกลับไปดูรูปภาพที่ถ่ายมาในช่วงเดือน เวลาต่างๆ และนั่งวิเคราะห์ ใช้ทั้ง Google Earth เปิดย้อนหลังเปรียบเทียบกัน และgpsของกล้องเพื่อระบุตำแหน่งจริง จนมาเป็นงานออกแบบ เรียกได้ว่าเรียนรอดมาอย่างหวุดหวิด

เรามาดูภาพนกและลักษณะธรรมชาติกันต่อดีกว่าครับ ว่ารูปใบนึงมันบอกอะไรเราได้บ้าง


(ถ่ายตอนเดือน 6 ปี 2013 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เริ่มจะเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และมีแมลงปอเยอะมาก เยอะมากกว่าฤดูอื่นอีกครับ)


(ถ่ายตอนเดือน 12 ปี 2013 สังเกตว่าธรรมชาติเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แห้งแล้งกว่าเดิมครับ)




(สิ่งที่ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ก็คือแหล่งน้ำครับ โดยพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นแอ่งจึงเป็นพื้นที่รับน้ำ เห็นภาพง่ายๆเลยครับ มีน้ำ = มีความอุดมสมบูรณ์ )

มาต่อที่เรื่องนก จริงๆนกพวกนี้ก็มีให้พบเห็นได้ในฤดูอื่นครับ เช่น นกปากห่าง แต่จากการที่ผมลงพื้นที่ในช่วงเดือนธันวาคมแล้วพบว่า ในช่วงนี้มีนกหลายชนิดเข้ามาหากินในบริเวณพื้นที่เป็นจำนวนมากครับ






ภาพนกปากห่าง ที่สังเกต นกชนิดนี้ชอบเกาะอยู่บนยอดไม้ หรือไม่ก็ลงมาหากินบริเวณแหล่งน้ำ





พากนกตระกูลนกยาง



นกตีนเทียน


นกกระแตแต้แว้ด เป็นนกประจำถิ่น ที่มันชื่อแบบนี้เพราะมันร้องว่า "กระแตแต้แว้ด" แบบชื่อมันเลยครับ ผมพบอยู่ตามที่โล่งเป็นส่วนใหญ่


นกที่เห็นในภาพคือ นกกระเต็นอกขาวครับ ผมชอบเจ้านกตัวนี้มากเลย พฤติกรรมของมันก็จะเกาะบนกิ่งไม้ และเฝ้ารอเหยือ พอได้จังหวะมันก็จะบินลงไปในน้ำคาบเหยื่อมากิน ตอนที่ผมไปนั่งเฝ้า ก็ได้เห็นพฤติกรรมของมันกับตาเลย ประทับใจมากครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิปจาก youtube ประกอบครับ

สังเกตว่า พวกนกขายาวๆจะชอบหากินตามพื้นที่ที่ขามันหยั่งถืงครับ พวกลักษณะกึ่งเปียกกึ่งแห้ง บางทีก็ยืนแช่น้ำเป็นชั่วโมงเลย
ส่วนพวกนกประจำถิ่นก็จะอยู่ตามที่โล่งซะส่วนใหญ่ครับ




ลักษณะพืชพรรณ สังเกตว่าจะเป็นพวกพืชที่ลำต้นยาวใบโผล่พ้นน้ำ ถ้าต้นไม้ใหญ่ก็จะเป็นพวกไม้ทนน้ำ

ในงานการออกแบบขั้นสุดท้ายผมก็เล่นกับธรรมชาติพวกนี้โดยให้เป็นส่วนพื้นที่เรียนรู้ ผมออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีระดับทางเดินที่แตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ แบ่งเป็น 6 Type บางฤดูก็เข้าไปดูได้บางฤดูก็เข้าไปดูไม่ได้ แต่กว่าจะมาได้ขนาดนี้ เล่นเอาหืดขึ้นคอเหมือนกันครับ เกือบจะไม่จบ ต้องขอบคุณกลุ่มอ.ที่ปรึกษาครับ ที่ช่วยกันขัดเกลาจนได้งานออกมา  

สรุปใจความสำคัญของเนื้อหาที่ทำมาทั้งปีครับ


ชมภาพบรรยากาศเพลินๆครับ










ที่จริงเกาะยมก็คือส่วนตรงกลางปลายแหลมที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยาครับ เป็นบริเวณที่แม่น้ำทั่งสี่สาย ปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกัน

ทางฝั่งแม่น้ำยมก็ยังมีชุมชนที่อาศัยอยู่บนแพให้เห็นบ้าง





ภาพบริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเริ่มต้นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศครับ


ยังมีการสัญจรทางเรือบ้าง โดยใช้สัญจรข้ามไปยังศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ
จากการสอบถามคนเถ้าคนแก่ละคนในพื้นที่ พบว่าการสัญจรทางเรือคือการสัญจรหลักในสมัยก่อน ก่อนที่การสัญจรทางบกจะเข้ามาแทนที่


สิ่งที่ผมได้มาเต็มๆกับการทำวิทยานิพนธ์ครั้งนี้ก็คือเรื่องการถ่ายภาพ ถ่ายมาแล้วสามารถนำมาวิเคราะห์ หาข้อมูล เล่าเรื่องราวได้
รู้จักการเฝ้ารอจังหวะ เข้าถึงธรรมชาติ และการอินไปกับธรรมชาติครับ
เนื้อหามีส่วนที่เป็นวิชาการพอสมควร ถ้าข้อมูลที่ผมให้ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยครับ
เอาละครับผมก็ขอจบเรื่องราวของผมเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ

ขอฝากผลงานด้วยนะครับ
https://www.facebook.com/pages/JFHGroup/263599353846636
https://www.facebook.com/jame.s13.hell
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่