ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง เรื่องหลักพื้นฐานในการศึกษาพุทธศาสนา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า พระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ที่มีอยู่ในตำราได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้หลักการอะไรก่อน อย่างเช่น เมื่อจะทำบุญก็เอาปัจจัย ๔ (หรือทรัพย์) ไปถวายพระได้เลย หรือเมื่อจะรักษาศีลก็ไปนุ่งขาวห่มขาวอยู่ที่วัดได้เลย หรือเมื่อจะฝึกสมาธิก็ให้นั่งหลับตากำหนดลมหายใจแล้วพยายามหยุดความคิดให้ได้ หรือเมื่อจะพิจารณาธรรมก็ให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของร่างกายอันได้แก่ความแก่หรือโรคต่างๆที่จะเกิดแก่ร่างกาย หรือพิจารณาถึงความตายว่าจะมีแก่เราเป็นแน่แท้ หรือพิจารณาถึงความทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย เป็นต้น เมื่อปฏิบัติตามคำสอนนี้แล้วก็ถ้ามีบารมีมากพอก็จะบรรลุธรรม (มีดวงตาเห็นธรรม) และนิพพานในชาตินี้ แต่ถ้ายังมีบารมีไม่มากพอก็ต้องทนปฏิบัติไปจนตาย แล้วเกิดมาปฏิบัติใหม่อีกหมื่นชาติแสนชาติ ก็จะบรรลุธรรมและนิพพานได้ในที่สุด

แต่ในความเป็นจริงนั้น การศึกษาหลักคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านี้ เราจะจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการศึกษาก่อนให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจวิธีการศึกษา ก็จะศึกษาผิด เมื่อศึกษาผิดก็ย่อมที่จะรู้ผิดและเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิดก็ย่อมที่จะปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดก็ย่อมที่จะไม่ได้รับผลที่แท้จริง (คือทุกข์ดับลงหรือลดน้อยลงจริง) และอาจได้รับผลที่เลวร้ายอีกด้วย (คือทุกข์เพิ่มมากขึ้นหรือต้องทนปฏิบัติไปจนตายโดยไม่ได้อะไร) แต่ถ้าเราจะได้ศึกษาหลักในการศึกษามาแล้วอย่างถูกต้อง เราก็จะศึกษาได้ถูกต้อง และเกิดความเข้าใจ รวมทั้งปฏิบัติได้ถูกต้อง และบังเกิดผลที่แท้จริงได้

หลักในการศึกษานี้เราจะเรียกว่า  หลักพื้นฐาน ซึ่งก็สรุปอยู่ที่

๑. มุ่งตรงไปที่เรื่องการดับทุกข์ คือเราจะศึกษาเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันเท่านั้น เราจะไม่ศึกษาเรื่องอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์
๒. ศึกษาจากสิ่งที่เรามีอยู่จริง คือจากร่างกายและจิตใจของเราเอง รวมทั้งจากสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้จริงในชีวิตปัจจุบัน โดยเราจะไม่ใช้ความเชื่อใดๆที่เราไม่สามารถสัมผัสได้จริงในปัจจุบันมาศึกษา
๓. ศึกษาโดยใช้เหตุให้ผล คือศึกษาโดยใช้เหตุให้ผลจากสิ่งที่เรามีอยู่จริง ส่วนเรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลเราจะไม่นำมาศึกษา
๔. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือจากพื้นฐานไปหายอด จากง่ายไปหายาก มีการแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างเป็นระเบียบ มีการประสานความรู้ทั้งหมดให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืน จนสามารถอธิบายเหตุผลให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด รวมทั้งมีการสรุปเนื้อหาและบักทึกไว้กันลืม เป็นต้น
๕. เชื่อความจริง คือจะเชื่อทฤษฎีหรือหลักการใดว่าถูกต้องหรือเป็นความจริง ก็ต้องมีการพิสูจน์หรือทดลองปฏิบัติ จนเห็นผลอย่างแน่ชัดก่อนเท่านั้น

หลักพื้นฐานนี้ก็ตรงกับหลักหัวใจของวิทยาศาสตร์นั่นเอง คือพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้หลักวิทยาศาสตร์ แต่สมัยนั้นไม่มีคำว่าวิทยาศาสตร์ พระพุทธองค์ทรงเรียกว่าเป็น สัจธรรม ที่หมายถึง ความจริงแท้ของธรรมชาติ คือทรงสอนให้ศึกษาจากความจริงที่เราทุกคนสามารถสัมผัสได้จริง เมื่อใครได้พบความจริงก็จะเป็นความจริงอันเดียวกัน แต่ถ้าเป็นความเชื่อก็จะไม่เหมือนกัน คือต่างคนต่างเชื่อแม้ในเรื่องเดียวกัน

สรุปได้ว่า หลักพื้นฐานในการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้ จะตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลักที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ก็สรุปอยู่ที่หลักอจินไตย (คือให้ละเว้นเรื่องที่ไม่ควรศึกษา ๔ เรื่อง), หลักกาลามสูตร (หลักในการสร้างความเชื่อให้ถูกต้อง), หลักสันทิฎฐิโก (การศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบัน), และหลักการพึ่งตัวเอง นี่เอง และเมื่อเราเข้าใจหลักพื้นฐานนี้แล้ว จึงค่อยมาศึกษาเรื่องการดับทุกข์หรือหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าทีหลัง จึงจะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในคำสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่