สงฆ์ หรือ สงค์ 2 ความหมายที่เกือบจะเหมือนกัน

กระทู้สนทนา
สงฆ์ หรือ สงค์ 2

By คอลัมนิตส์ชื่อไม่ดัง

.............หากจะพูดถึงพระสงฆ์ สิ่งแรกที่ประชาชนต้องนึกถึงอีกอย่างหนึ่งนอกจากคำว่า ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว คือ "ยศ ตำแหน่ง ของพระสงฆ์รูปนั้น" มันคืออีกความหมายหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าภิกษุรูปนั้นปฏิบัติดีงามหรือไม่ ยิ่งพระยศใหญ่ๆ ตำแหน่งโตๆ แล้วละก็ แสดงให้เห็นถึงได้เลยว่า พระรูปนั้นคงจะเป็นพระที่ปฏิบัติดีงาน ถึงได้ยศสูงขนาดนั้น ยิ่งเป็นชั้นเจ้าคุณขึ้นไปหนิ เป็นที่นับหน้าถือตาของประชาชนในพื้นที่นั้นๆเป็นแน่แท้ และนั้นคือเบื้องหน้าของคำว่า "ยศ" "ตำแหน่ง" แต่เราหาได้รู้ว่าเบื้องหลังของการได้ยศนั้นเป็นอย่างไร มีที่ไปที่มาตรงไหนบ้าง เราจึงจะพูด และสาธยายให้รู้ถึงที่มาของบรรดาศักดิ์ ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ทำไมปัจจุบันพระสงฆ์ทั่วหล้าจึงอยากได้มันมาครอบครองนัก

.............ย้อนไปในอดีตกาลผ่านมาแล้ว ในสมัยกรุงอยุธยาเป็นราชธานี เป็นยุคที่มีสงครามมากมาย ไม่ว่าจะมุมไหนของเมือง ของประเทศล้วนแล้วแต่มีสงครามทุกแห่งหน และแต่ละหมู่บ้านต้องมีผู้นำในสองด้าน คือ 1)ผู้นำทางด้านการปกครอง 2)ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านการปกครองก็คือ หัวหน้าหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ แต่ผู้นำทางจิตวิญาณคือพระภิกษุประจำหมู่บ้านนั้นๆ เมื่อใดที่ผู้นำหมู่บ้านอ่อนแอ ภิกษุจะกลายเป็นได้ทั้งผู้นำทางการปกครองและผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ ยกตัวอย่างหมู่บ้านบางระจัน สิงบุรี มีพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นผู้นำในทั้งสองด้านรองจากขุนรองปลัดชู ซึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นคนที่ประชาชนในหมู่บ้านเคารพกันทั้งหมู่บ้าน แต่หมู่บ้านนี้ได้ผู้นำที่ดีอย่างขุนรองปลัดชู และพระอาจารย์ธรรมโชติ จึงเป็นดั่งกำแพงเหล็กที่คอยป้องกันข้าศึกให้กับอยุธยา

……………ในกรณีของบ้านบางระจัน เป็นหมู่บ้านที่เป็นกำแพงให้กับอยุธยาได้ เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีสำนึกรักในความเป็นไทย จึงไม่มีเหตุการณ์ร้ายๆเกิดขึ้น ในถ้าเป็นกรณีอื่นล่ะ พระที่เป็นใหญ่ได้ขนาดนั้น อาจจะตั้งตัวแข็งข้อกับส่วนกลาง เป็นเสี้ยนหนามคอยทิ่มแทงหัวใจของกษัตริย์ผู้ปกครองแว่นแคว้นได้ กษัตริย์จึงมีดำริ เป็นกุศโลบาย ดึงภิกษุเหล่านี้เข้ามาเป็นพวก แต่จะมีวิธีไหนล่ะที่จะทำให้เขาเหล่านั้นจงรักภักดีต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ก็คงเห็นแต่จะมีวิธีเดียวคือ พระราชทานยศให้เป็นเครื่องบรรณาการให้กับพระผู้ใหญ่ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย คอยเป็นกำลังสำคัญในการสั่งสอน และชักจูงให้ชาวบ้านเหล่านั้นจงรักภักดีต้องสถาบันมหากษัตริย์ได้
............ในกาลเวลาผันผ่านมาจวบจนกระทั่งถึงในสมัย รัชกาลที่4 มีการเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์ครั้งใหญ่ คือการสถาปนาคณะสงฆ์ธรรมยุติ การปกครองสงฆ์ในครั้งนั้นใช้รูปแบบ พระสังฆราชาเป็นสังฆบิดร ดำรงตำแหน่งคอยดูและคณะสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และแต่งตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติขึ้นปกครองคณะสงฆ์มหานิกายอีกที เพื่ออะไร? อันที่จริงแล้วสิ่งที่เล่าขานกันมาก็ไม่แน่นอน แต่จะเอาพื้นฐาน ที่คณะสงฆ์ธรรมยุติเล่าต่อกันมา เอามาเล่าให้ฟัง คือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า สถาปนาขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พระองค์ไม่มีฐานบารมีทางการปกครองเลย เนื่องจากพระองค์ผนวชมานาน การตั้งคณะธรรมยุติขึ้นมา เพราะว่าจะยึดเอาคณะสงฆ์นี้เป็นฐานอำนาจของตนในการปกครอง แล้วสงฆ์สายธรรมยุติในอดีตล้วนแล้วแต่มีประชาชนศรัทธามากกว่าสายมหานิกาย พระองค์จึงสามารถปกครองไพร่ฟ้าประชาชีได้อย่างผาสุก และก็มีการพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้แก่พระผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างจริงจังและถูกต้อง
...............ขอข้ามตอนอื่นมาปัจจุบันเลยแล้วกัน ในปัจจุบัน  สงฆ์ใดมียศ สงฆ์ใดมีตำแหน่ง สงฆ์นั้นถือว่าเป็นผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะอะไร มันก็เพราะว่า สังคมให้การยอมรับในเรื่องยศ ถ้าสังคมไม่ยอมรับ หรือว่า ปฎิเสธยศเหล่านั้น คิดว่าจะมีขึ้นมาได้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องพิจารณาดู จึงเกิดเป็นสิ่งที่สังคมเรียกว่า “กระแสประชานิยม” สงฆ์ทั้งหลายที่บวชเข้ามานานๆ จะได้รับพระราชฐานยศให้สูงขึ้นตามลำดับพรรษาและความดีความชอบ ใครสร้างเยอะก็ได้เยอะ ยกตัวอย่าง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์(ปัญญา อินทปญฺโญ) เจ้าคุณรูปนี้ สร้างอะไรไว้มากมายถึงท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่สิ่งที่ท่านสร้างไว้ ยังเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนต่อไปได้อีกตราบกาลนาน และก็ยกอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใครๆก็รู้จัก หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงตาท่านได้ช่วยประเทศ กู้ชาติเลยก็ว่าได้ ให้หลุดพ้นจากสิ่งที่ชั่วร้าย พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ สมควรแล้วที่จะได้บรรดาศักดิ์เป็นการตอบแทน หรือว่าอาจจะเป็นพระในสังคมนั้นๆที่ประชาชนยอมรับเชิดชู แล้วประชาชนเป็นประจักษ์พยานได้ว่า พระรูปนั้นเป็นพระดีจริงๆ สมณะศักดิ์ที่ท่านเหล่านั้นได้มาคงจะเป็นการยอมรับได้
................พูดอีกรูปแบบหนึ่งคือ “สมณะศักดิ์นั้นได้มาพร้อมตำแหน่งทางการปกครอง” พระมีหลายสายครับ มีทั้งสายปฏิบัติ สายพัฒนา สายบริหาร สายปกครอง ฯลฯ ซึ่งแต่ล่ะสายก็จะสร้างความดีความชอบให้แก่สังคมในคนละรูแบบ พระที่จะก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้จนถึงขนาดชั้นสูงๆ นั้น มีสองสายคือ พระนักบริหาร และพระสายปกครอง แต่สายที่ขึ้นง่ายๆเลยก็คือ สายบริหาร เพราะจะได้อยู่ใกล้ชิดกับพระผู้ใหญ่ที่เป็นสายบริหาร เพราะสายบริหารนี้เองที่เป็นผู้ที่จะนำชื่อพระเถระที่มีคุณสมบัติครบ แล้วพิจารณาเป็นรายรูป คัดเลือกจนเหลือไม่ถึงสิบรูป เข้าเสนอแต่งตั้ง หรือเลื่อนสมณะศักดิ์ แต่ทว่าก่อนหน้านั้นต้องผ่านหลายขั้นตอนซึ่งไม่ขอพูดถึง(เพราะหลายขั้นตอนก็หมดเยอะแล้ว) แต่คงไม่เยอะเท่าขั้นตอนนี้ คือ ในระหว่างการพิจารณาชื่อ หากใครอยากได้ตอนนี้แหละครับ ทุ่มกันหมดตัวเลยทีเดียว ผู้ที่เป็นพระที่คอยพิจารณารายชื่อ ก็รวยเอารวยเอา คำถามคือ ใครเป็นผู้พิจารณารายชื่อเหล่านั้น ก็เป็นพระด้วยการนี่แหละครับ ในแต่ล่ะภาคสงฆ์ ที่แบ่งเป็นทั้งหมด 18 ภาค ก็จะมีเจ้าคณะภาคประจำ แล้วก็จะมีเลขาภาค สองรูปนี้แหละครับ คือกุญแจสำคัญในการเสนอรายชื่อ ใครเงินถึง หรือว่า เครื่องบรรณาการถึง จนสามารถทำให้สองรูปนี้จำหน้าจำตาได้ ก็ผ่านเข้ารอบต่อไป รอบต่อไปก็คือ พระเถระผู้เป็น เจ้าคณะหนพิจารณา แต่เจ้าคณะหน หรือเจ้าคณะใหญ่ ท่านคงไม่พิจารณาเองหรอกครับ และก็คงไม่รับใต้โต๊ะด้วย(ถ้าไมใช่ทองคำตันหนึ่งนะ) คนที่จะพิจารณาจริงๆ แล้วก็เสนอท่านอีกทีก็คือ เลขาฯ ของท่านนั้นแหละ นี้ก็ได้ขึ้นมาอีก อื้อกันเลยทีเดียว จากนั้นถ้าเป็นการพิจารณาแต่งตั้งสมณะศักดิ์ระดับเจ้าคุณขึ้นไปก็คงจะเข้ามหาเถรสมาคม แต่ถ้าผ่านเจ้าคณะหนได้คงจะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะถ้าเข้าไปในมหาเถรสมาคมก็ง่ายๆ เพียงแค่ให้รับรู้ และยกมือโหวตว่า ท่านทั้งหลายโอเคไหม เท่านั้นเอง
...................นี่หรือพุทธศาสนา  นี่หรือคือผู้ที่จะมาสอนให้เราละจากกิเลส นี่หรือเหล่าผู้ที่เรียกตนกว่าผู้สันโดษ ยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งเหล่านี้พระสมณะโคดม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงละทิ้ง เพราะมันน่าเบื่อหน่าย แต่สงฆ์ทุกวันนี้กลับขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้ หากแต่จะเป็นแบบนี้ อนาคตพระพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร จะเหลืออะไรให้เรานับถือ ในเมื่อแม้แต่พระเองก็ยังต่อสู้เพื่อที่จะให้ได้มา ยอมจ่าย เหมือนที่เคยกล่าวไว้ในกระทู้ครั้งก่อน ว่า “ในเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่ต้องการเสรีและเหตุผล แต่พุทธศาสนามีคำยืนยันให้เพียงว่า อย่าลบหลู่” ต่อไปคำว่า “พระสงฆ์” ที่แปลว่า “พระที่เป็นหมู่คณะ” ใช้กันจนเราเข้าใจและมอบความหมายใหม่ให้ว่า “ผู้ประเสริฐ ผู้ที่จะนำทางเราได้อย่างถูกต้อง” คงจะต้องเปลี่ยนไปเป็นคำว่า “พระสงค์” ที่คำว่า สงค์ มาจากคำว่า “ประสงค์” ที่แปลว่า “ต้องการ หรือต้องทำให้ได้มา” เราชาวพุทธ แม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองก็เป็นชาวพุทธ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับศาสนาพุทธมาก และใกล้ชิดมาตั้งแต่เป็นเด็กๆ เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของศาสนาที่ร้ายแรง ก็รู้สึกระทดใจ หรือพุทธศาสตร์ จะต้องสิ้นก่อนห้าพันปี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่