ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง ฟอกเงิน รับของโจรนั้น ทางมหาเถรสมาคมมีความเห็นว่า “เป็นเรื่องส่วนบุคคล” ?

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย ในวันี้มีการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งหลายฝ่ายก็จับตามองว่า  จะนำเรื่องเกี่ยวกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และเรื่องข่าวลือการโยกย้าย นาย พนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ.เข้าหารือในที่ประชุม มส.หรือไม่

การประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 14/2559 โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆ ราช และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานการประชุม

ท่ามกลางกระแสข่าวที่สมเด็จพระ พุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง จะนำเรื่องเกี่ยวกับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และข่าวลือการโยกย้ายนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ. เข้าหารือในครั้งนี้


จากนั้น นายสมบัติ พิมพ์สอน รองโฆษก พศ. แถลงถึงกรณีที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประสานมายังพระพุทธชินวงศ์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เพื่อเข้าเจรจาพูดคุยแก้ไขปัญหาพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายว่า ในเรื่องนี้ ที่ประชุม มส. พิจารณาเห็นชอบให้เป็นไปตามมติ มส. ครั้งที่ 4/2544 ให้ยุติในเขตปกครองคณะสงฆ์นั้นๆ คือมอบให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางดำ เนินการตามมติครั้งที่ 4 ดังกล่าว ถือว่าให้เป็นไปตามระบบการปกครองคณะสงฆ์เพื่อให้เกิดข้อยุติ

เมื่อถามว่า หากได้ข้อยุติแล้วจะต้องมารายงานต่อที่ประชุม มส.หรือไม่ นายสมบัติตอบว่า ในวันนี้มีมติเพื่อทราบเพียงเท่านี้ ไม่ได้มีวาระอะไรเพิ่มเติม เพราะได้มอบให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางดำเนินการแล้ว และในที่ประชุมก็ไม่ได้มีข้อเป็นห่วงใดๆ เกี่ยวกับพระธัมมชโย มีเพียงเท่านี้จริงๆ มติดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนแล้วให้เป็นที่ยุติในเขตปกครองแต่ละหนนั้นๆ ไม่ต้องถึงมหาเถรสมาคม

ถ้าเป็นเรื่องของพระสงฆ์องคเจ้า เป็นเรื่องของวัด หรือรายบุคคลที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนรวม ก็ให้เป็นเรื่องของสงฆ์กรณีวัดและตัวบุคคล เพื่อเป็นไปตามการปกครองคณะสงฆ์นั้นๆ และจะยึดมตินี้ในการดำเนินการ ไม่ใช่เฉพาะวัดพระธรรมกายเพียงอย่างเดียว

หนังสือมติ มส.ที่ 4/2544 ระบุ ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบ และให้กรมการศาสนามีหนังสือแจ้งเจ้าคณะใหญ่ทุกหนทราบ และแจ้งเจ้าคณะทุกภาค เพื่อแจ้งให้เจ้าคณะในเขตปกครองของตนทราบ และปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมโดยเคร่งครัดต่อไป



ขณะที่ ในFacebook พระพุทธะอิสระ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า และแล้วมหาเถรก็ลอยตัว
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิ.ย. ๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ผ่านมา มีการประชุมมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ได้นำเรื่องของธัมมชโยเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรให้พิจารณาหารือที่ประชุมมหาเถรมีความเห็นว่ากรณีคดีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยมีธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง ฟอกเงิน รับของโจรนั้น ทางมหาเถรสมาคมมีความเห็นว่า “เป็นเรื่องส่วนบุคคล” ไม่ใช่เรื่องของวัดนะจ๊ะ ดังนั้นจึงให้ปฏิบัติตามมติมส.ที่ ๖๕/๒๕๔๔ ให้คดีความต่างๆ ของภิกษุสงฆ์ อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น นับตั้งแต่เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส และให้ทุกคดียุติแค่เจ้าคณะหน เพราะเช่นนี้แหละ พุทธะอิสระจึงไปยื่นหนังสือให้เจ้าคณะภาค เจ้าคณะหนปลดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีออกจากตำแหน่งเหตุเพราะไม่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรง ถือว่าชอบด้วยพระธรรมวินัย ชอบด้วยกฎหมายและมติมหาเถรสมาคมปี ๔๔ แล้ว (ครั้งที่ ๔/๒๕๔๔ มติที่ ๖๕/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เรื่อง การปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่)แต่ที่ไม่ยื่นเรื่องให้ปลดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต่อเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ก็เพราะว่าสมณศักดิ์ของเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ยังต่ำกว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จึงคงไม่สามารถทำการลงโทษว่ากล่าวตักเตือนแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มียศสูงกว่าตนได้ แต่สำหรับเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี มีสมณศักดิ์ที่พระเทพรัตนสุธี แต่ละเว้นไม่ทำหน้าที่ผู้ปกครองที่ดี จึงสมควรจะถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะละเมิดมติมหาเถรสมาคมปี ๔๔ และกฎหมายปกครองคณะสงฆ์อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องที่พุทธะอิสระไปยื่นเรื่องให้เจ้าคณะภาค ๑ วัดชนะสงครามและเจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดพิชยญาติการามให้สอบอธิกรณ์ ข้อกล่าวหาธัมมชโยเป็นปาราชิก ๒ สิกขาบท คือ ยักยอกทรัพย์เกิน ๕ มาสก ในกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ต้องอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ และอวดอุตริมนุสธรรมกรณีสตีฟ จ๊อบ ในปาราชิกสิกขาบทที่ ๔
รวมทั้งมีพฤติกรรมจาบจ้วงย่ำยีพระธรรมวินัย บิดเบือนคำสอน บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติ กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
ความผิดเหล่านี้ พุทธะอิสระได้นำหลักฐานและสำนวนคำร้องทุกข์กล่าวโทษไปยื่นให้เจ้าคณะภาค ๑ เจ้าคณะใหญ่หนกลางไว้พิจารณาสอบสวนแล้ว
มาดูกันว่าเจ้าคณะปกครองทั้งหลายจะทำตามมติมหาเถรสมาคมเมื่อปี ๔๔ หรือไม่ พวกเราพุทธบริษัทผู้พระธรรมวินัยและความถูกต้องจะคอยดูว่า เจ้าคณะปกครองจะเลือกคนหรือเลือกพระธรรมวินัย
พุทธะอิสระ

(อ้างอิงมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๔/๒๕๔๔ มติที่ ๖๕/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เรื่อง การปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ “มีมติให้เจ้าคณะใหญ่ทุกหนปฎิบัติพร้อมกับเจ้าคณะทุกระดับ ทุกกรณี ให้เป็นที่ยุติในเขตปกครองแต่ละหน”)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่