การชำระจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ
การชำระจิตของตนให้ผ่องใส นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ในวันมาฆบูชาว่า

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส
เอตํ พุทธานสาสนํฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ

๑.พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๒.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา ผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
๓.พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็น พระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๖
๔.และวันดังกล่าวตรงกับ วันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔

ในโอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันสำคัญเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานในวันมาฆบูชา มีใจความอันสำคัญล้วนเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง "จิตของตน" พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงสั่งสอนให้ฝึกฝนอบรมชำระจิตของตน ให้รู้จักละชั่ว หมั่นสร้างความดี เพียรเพ่งเพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ด้วยการภาวนามยปัญญา

ในอินทริยภาวนาสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้พอสรุปได้ว่า การเพียรเพ่งฌาน เพื่อจิตของตนจะได้ไม่เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ มีพระพุทธพจน์ดังนี้

"ดูกรอานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ แสดงพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ"

เมื่อพิจารณาจากคำสอนของพระองค์ที่ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนในการปฏิบัติธรรมของพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ และพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ จนกระทั่งทำให้มารและเสนามารหลง คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่อาจตรงเข้าครอบงำจิตของตน เพราะมารและเสนามารหลงทางไม่สามารถเข้าครอบงำจิตของตน

การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจึงเป็นการทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลส ตัณหา อุปาทานได้

หลักเกณฑ์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางไว้ดีแล้วนั้น มิได้ทรงตรัสยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่งเลย ที่จะบรรลุมรรคผลได้โดยไม่ต้องผ่านเรื่องฌานในสัมมาสมาธิมาก่อนก็ได้ ปัจจุบันมักมีการแอบอ้างเอาพระอรหันต์ประเภทสุขวิปัสสโกมา เพื่อเป็นเกราะกำบังให้กับตน ด้วยความเกียจคร้าน เพื่อตนเองจะได้ไม่ต้องปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา หรือสัมมาสมาธิก็ได้

หากเป็นเช่นดังกล่าวมาแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่อาจจะสมังคีรวมลงได้ การที่มรรคมีองค์ ๘ จะสมังคีรวมลงเป็นหนึ่งเดียวได้นั้น ต้องครบองค์ ๘ เท่านั้นจึงจะสมังคีรวมลงได้ เมื่อขาดองค์ใดองค์หนึ่งไปก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ อันเป็นการลบหลู่ กล่าวตู่พระพุทธพจน์โดยไม่รู้ตัว

เหมือนรถยนต์ที่ขาดน้ำมันเพื่อสร้างแรงขับดัน จะเอากำลังที่ไหนมาขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านจนสำเร็จลงได้ล่ะ ในพระสูตรพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า เพียรเพ่งฌาน อย่าได้เดือดร้อนในภายหลัง บุคคลที่จะไม่เดือดร้อนในภายหลังได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความเพียรเพ่งจนโลภะ โทสะ โมหะเบาบางลง จึงได้ชื่อว่าไม่เดือดร้อนในภายหลัง

ฉะนั้นวิธีลัดสั้นจึงไม่มีอยู่จริง ดังในพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

"ดูกรอานนท์ เราแสดงการเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ แสดงพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่ แสดงพระอริยะผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล"

เมื่อมีการกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมฐานภาวนาที่ต้องอาศัยการเพียรเพ่งฌาน เพื่อจะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มักมีการแอบอ้างถึงท่านพระอาจารย์พาหิยะ และท่านพระอาจารย์จูฬปันถกเสมอไป แต่มักทำเป็นลืมไปว่า ท่านทั้งสองนั้น ได้เพียรสร้างสมบุญบารมีมาอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน แม้นในชาติปัจจุบันยังผ่านการเคี่ยวกร่ำด้วยการเพียรเพ่งรูปฌาน อรูปฌานอันเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยนั้น มาจนเชี่ยวชาญชำนาญเป็นวสีอย่างยิ่ง แต่การเพียรเพ่งฌานในลักษณะนั้น เป็นฌานที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ช่วยให้บรรลุอมตธรรมได้ ทำได้เพียงมีธุลีในจักษุน้อย กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น

มีหลักฐานที่มาในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เองโดยชอบเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใหม่ๆ นั้น พระองค์ได้ทรงเล็งญาณเห็นว่า พระองค์ควรจะไปโปรดใครเป็นบุคคลแรก ทรงเล็งเห็นท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นลำดับ แต่ด้วยท่านอาจารย์ทั้งสองได้ล่วงไปแล้ว มีพระพุทธพจน์ดังนี้

"เราพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครรู้จักทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน
ครั้นแล้ว อาตมภาพได้มีความเห็นว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้
เป็นบัณฑิต ฉลาด มีเมธา มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมานาน
ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อนเถิด
เธอรู้จักทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน

ที่นั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาอาตมภาพแล้วได้กล่าวว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสียเจ็ดวันแล้ว
และความรู้ความเห็นก็เกิดขึ้นแก่เราว่า
อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละเสียเจ็ดวันแล้ว"

เมื่อพิจารณาพระสูตรจะเห็นว่า บุคคลที่บรรลุธรรมของพระองค์อย่างรวดเร็วได้นั้น จำเป็นต้องสร้างสมบุญบารมีและยังผ่านการเคี่ยวกรำด้วยการเพียรเพ่งรูปฌานและอรูปฌานมานานจนเชี่ยวชาญชำนาญมาก่อน เมื่อฟังธรรมแล้วสามารถละทิ้งทิฐิที่มีอยู่ก่อนออกไปได้ ย่อมเข้าถึงอมตธรรมได้ ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเพียรเพ่งในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นธรรมอันเอก ทางเดียวเท่านั้น

ณ ปัจจุบันยังมีการแอบอ้างเอาที่มีผู้อธิบายไว้ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนเส้นทางสี่เส้น จากประตูเมืองมุ่งเข้าสู่พระราชวังกลางเมืองจะเดินทางไหน ถ้าเดินไปจนสุดทางได้ ก็เข้าสู่พระราชวัง คือบรรลุธรรมได้อยู่ดี ถามว่าเป็นไปได้หรือ? ในเมื่อมีพระพุทธพจน์ที่ได้ทรงตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างชัดเจนว่า

"เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น"


ในเมื่อทางมีเพียงทางเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ ๔ ทางอย่างที่พยายามอธิบายกัน ที่มีเรื่องราวเหตุการณ์ที่จะต้องดำเนินไปด้วยกัน ๔ ประการอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อได้มีการอธิบายกันมาก่อนหน้าตามมติที่ตนเองมีความเชื่อตามๆ กันมาอย่างนั้น โดยไม่มีการตรวจสอบ สอบสวนหรือเทียบเคียงกับพระสูตรอื่นที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ถึงวิธีของการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมกรรมฐานในมหาสติปฏิปัฏฐานสี่ว่า ควรเริ่มต้นอย่างไร? จึงจักทำให้สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์ลงได้

ย่อมทำให้เกิดความสับสนขึ้นมาได้แบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้เช่นกัน ทำให้เกิดความเกียจคร้านมักง่ายในการลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐาน เพราะเชื่อตามที่มีผู้อธิบายไว้ว่า สติปัฏฐานนั้น มี ๔ ทาง เดินทางใดทางหนึ่งก็ได้เข้าถึงศูนย์กลางเช่นกัน ซึ่งการอธิบายไว้เช่นนี้เป็นการอธิบายที่ขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่มีมาในอานาปานสติสูตร

อานาปานสติสูตรนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนอย่างยิ่งโดยไม่ต้องตีความใดๆ ให้เหนื่อยยากลำบากกายใจเลย พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้เป็นลำดับชัดเจนลงไปเลยว่า ในการเข้ากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ล้วนต้องมีอานาปานสติ หรือองค์ภาวนาเป็นบาทฐานทั้งสิ้น ดำเนินไปเป็นลำดับ ต่อเมื่อรู้จักทางที่ทำให้มีสติแบบต่อเนื่องแล้ว ปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจากฐานไหนใน ๔ ฐานก็ได้เช่นกัน เพราะเชื่อมโยงเป็นเอกายโน มคฺโค

การเพียรเพ่งฌานที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงในพระสูตรต่างๆ ก็คือการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอานาปานสตินั่นเอง เป็นองค์ภาวนาเพื่อให้เข้าถึงฌานในสัมมาสมาธิ อันมี ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จะได้ไม่ประมาท ไม่เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง ดังมีพระพุทธพจน์รองรับไว้ดังนี้

"ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว
ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งญาณข้อที่สามของอริยสาวกนั้น
เปรียบเหมือนลูกไก่เจาะเปลือกไข่ออก ฉะนั้น."
(เสขปฏิปทาสูตร)


สรุปว่า การจะทำให้มรรคสมังคีได้นั้น มรรคจะต้องครบองค์ ๘ ประการ จึงจะสมังคีจนกลายเป็นอริยมรรค ส่วนการจะบรรลุมรรคผลโดยไม่ต้องผ่านฌานนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวกันขึ้นมาเองในภายหลัง เพราะเชื่อว่ามีการปฏิบัติที่ง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น อย่างที่ชอบแอบอ้าง เพื่อปิดบังความเกียจคร้านเพียรเพ่งของตน ยิ่งการปฏิบัติธรรมในมหาสติปัฏฐาน ๔ ด้วยแล้ว ต้องควรเรียนรู้ว่า ตนเองควรเริ่มต้นลงมือปฏิบัติธรรมจากตรงไหนอย่างไรจึงจะถูกต้อง เพื่อยังให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ อย่าปล่อยให้ความเชื่อมาครอบงำ ควรเป็นใหญ่ในความเชื่อด้วยตนเองจากการศึกษา เรียนรู้ตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงดังนี้ สาธุฯ

เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่