วันมาฆะบูชามาละชั่วที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการทำความดีในจิตของตน

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์พระองค์นั้น

พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ในวันมาฆบูชาว่า

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลสทั้งหลาย
เอตํ พุทธานสาสนํฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้

วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ

๑. เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่เราเรียกว่า "วันอุโบสถ" พระจันทร์เต็มดวง ดวงจันทร์เสวย มาฆฤกษ์
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้มีการนัดหมายทางวาจา กล่าวคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ใช้ให้ใครไปเรียกมา แต่ต่างองค์ต่างรู้ด้วยญาณทัศนะของท่าน แล้วก็ต่างองค์ก็ต่างมาจากแต่ละทิศ
๓. พระภิกษุทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ทรงอภิญญา มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น
๔. พระภิกษุทั้งหมด ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระภิกษุทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระบรมศาสดาทรงประทานโอวาท ที่เรียกว่า "โอวาทปาติโมกข์" อันเป็นอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่คำสอนของพระองค์

ดังนั้น จึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" เป็นวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ และพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" หรือก็คือ "หัวใจพระพุทธศาสนา" แสดงว่าโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้น ย่อมน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้น "จิตสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา พระบาลีว่า วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ, ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา."


การละชั่ว เป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยยังกุศลให้ถึงพร้อม และเข้าถึงการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลสทั้งหลายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยปราศจากการกดถ่วงจากความเศร้าหมองของจิต เพราะยังไม่ได้เพียรพยายามละความชั่ว ความเศร้าหมองที่ดองอยู่ให้ออกจากจิตของตน

ยังมีบุคคลบางจำพวกที่ชอบกระทำอกุศลธรรมกรรมชั่วอยู่เป็นเนืองนิจ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีโอกาสก็มีการทำทาน บำเพ็ญบุญไปด้วยในตัวเช่นกัน เพียงเพื่อให้เกิดความรู้สีกที่ดีขึ้น หรือเพียงเพื่อลบล้างกับอกุศลธรรมกรรมชั่วที่ได้เคยทำไว้เท่านั้น โดยความเป็นจริงแล้วไม่สามารถลบล้างกันได้เลย

ส่วนเรื่องการละชั่ว ทำทานบำเพ็ญความดี ล้วนเป็นคำสั่งสอนขั้นพื้นฐานของทุกๆ ศาสนาที่มีอยู่โดยทั่วไปในขณะนี้เช่นกัน แต่เป็นการละชั่ว ทำทานบำเพ็ญความดีที่เกิดจากสุตะ จินตะ ซึ่งล้วนเป็นสัญญาอารมณ์ ที่เกิดจากการได้ฟัง นำไปคิด จนความรู้สึกนึกคิดตกผลึก เป็นเพียงสัญญา เผลอเมื่อไหร่ ลืมตัวได้เมื่อนั้น ไม่ใช่การละชั่ว ทำทานบำเพ็ญความดี ที่เกิดขึ้น ณ กายในกาย อันเป็นอัชฌัตตาธรรมา ที่เป็นงานภายในกายที่มีจิตครองอยู่

แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้น กลับมีข้อแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะคำสั่งสอนในโอวาทปาฏิโมกข์ ข้อที่ ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำสั่งสอนการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย เป็นการละชั่ว ทำทานบำเพ็ญความดีที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตน ด้วยการบำเพ็ญเพียรเพ่ง "ภาวนามยปัญญา" ให้เกิดขึ้น

การบำเพ็ญเพียรเพ่งภาวนานั้น เป็นความเพียรพยายามเพื่อละชั่ว ที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตน คือ ขณะภาวนาอยู่นั้น จิตผู้รู้เกาะติดอยู่กับองค์ภาวนา ไม่ซัดส่ายหวั่นไหวออกไปหาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เมื่อสัญญาอารมณ์ผุดขึ้นมา ก็สลัดปล่อยวางออกไป เป็นความเพียรเพ่ง เพื่อละอกุศลธรรมกรรมชั่วที่ยังไม่เกิด-ไม่ให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว-ให้หมดไป และเป็นการยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

เมื่อละชั่วได้ในขณะนั้น ต้องเพียรยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว จากการละชั่วได้ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น คือไม่ปล่อยให้อกุศลธรรมกรรมชั่วที่ละได้แล้ว หวลกลับมาได้อีก ด้วยความเพียรพยายามนั้น เรียกว่า "สัมมาวายามะ" ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์แห่งสมาธิในอริยมรรค ๘ [ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตสงบตั้งมั่นมีสติเป็นสมาธิ] เป็นการละชั่ว บำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมแบบยั่งยืน ไม่ปล่อยให้อกุศลธรรมกรรมชั่วหวลกลับมาได้อีก

พระพุทธองค์ได้เน้นย้ำให้ค้นหา "อมตธรรม" หรือ "พระนิพพาน" ได้ในเรือนกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ที่มีจิตครองอยู่นี้ เป็นอัชฌัตตาธรรมา เปรียบเหมือนเครื่องทองที่สกปรกโสมมไปด้วยมนทินเครื่องเศร้าหมอง ฉันใด จิตที่ครองอยู่ในกายนี้ ย่อมสกปรกโสมมไปด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทานเครื่องเศร้าหมองไปด้วย ฉันนั้น

ต่อเมื่อเพียรพยายามชำระชะล้างเครื่องทอง เอาความสกปรกโสมม มนทินเครื่องเศร้าหมองออกไปหมด เครื่องทองก็กลับสุกปลั่งบริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้ฉันใด จิตก็ฉันนั้น จิตบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าได้ด้วย "เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางที่ไปอันเอก (มีทางเดียว) เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย" ทางนี้คือ มหาสติปัฏฐาน ๔

คำว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย" พระพุทธองค์มิได้ทรงยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนในมหาสติปัฏฐาน ๔ ด้วยเรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม ให้บริบรูณ์ด้วยธรรม บรรพะแรกคือ การพิจารณากายในกายเป็นภายใน ด้วยการภาวนามยปัญญา โดยใช้อานาปานสติบรรพะเป็นองค์ภาวนา เพื่อให้จิตมีกำลังในการพิจารณา เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เพื่อความบริบรูณ์แห่งมหาสติปัฏฐาน ๔

มีพระบาลีรับรองไว้ดังนี้
อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปูเรติ
ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ ให้บริบูรณ์

จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา
สติปัฏฐานทั้งสี่ อันบุคคลเจริญให้มากแล้ว
สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปูเรนฺติ
ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์

สตฺต โพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา
โพชฌงค์ทั้งเจ็ด อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
วิชฺชาวิมุตฺตึ ปริปูเรนฺติ
ย่อมทำวิชชาและวิมุตติ (จิตหลุดพ้น) ให้บริบูรณ์

ฉะนั้นเมื่อบุคคลที่จิตสงบมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิ จิตย่อมมีกำลังมากพอที่จะสลัด ปล่อยวาง ละชั่ว ทำกุศลให้ถึงพร้อม จิตของตนย่อมไม่ซัดส่าย วุ่นว่าย หวั่นไหว ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เป็นปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ย่อมไม่ถูกอกุศลธรรมกรรมชั่วเข้าครอบงำได้เลย ดังนี้

เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่