มาทำความรู้จักอาบัติปาราชิกข้อลักทรัพย์ที่กำลังดังอยู่ตอนนี้กันดีกว่า

๓.๒ ปาราชิก สิกขาบทที่ ๒ ว่าด้วยการลักทรัพย์ที่เขาไม่ได้ให้
พระบัญญัติ อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้….(มีเนื้อหาเหมือนอนุบัญญัติ)
อนุบัญญัติ อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยส่วนแห่งความเป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว (ให้) ประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานใด ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

ที่มาของพระบัญญัติ
สิกขาบทนี้มีพระธนิยะเป็นต้นบัญญัติ (อาทิกัมมิกะ) โดยเรื่องมีอยู่ว่า ท่านพระธนิยะได้ทำกุฎิหญ้าอาศัยอยู่ในป่า เวลาท่านไม่อยู่ถูกพวกชาวบ้านมาขโมยรื้อถอนเอาหญ้าของท่านไปหลายต่อหลายครั้ง ต่อมาท่านจึงได้นำดินมาขยำเป็นโคลนทำกุฏี จากนั้นจึงได้นำหญ้าไม้และโคมัย (มูลโค) มาเผากุฏีนั้น กุฏีเมื่อเผาสุกแล้วก็มีสีสวยงามมาก (สีเหมือนหม้อดินเผา) พระพุทธองค์ได้ตำหนิการกระทำของพระธนิยะนั้นว่า ไม่เหมาะสมไม่ควรทำ ไม่ใช่กิจของสมณะ เพราะการกระทำนั้นได้เบียดเบียนทำลายสรรพสัตว์เล็กๆ ไปเป็นอันมาก และเพื่อมิให้ภิกษุทั้งหลายทำตามอย่างนั้น พระองค์จึงสั่งให้ภิกษุไปทุบทำลายกุฏีนั้นของพระธนิยะเสีย

ส่วนพระธนิยะเมื่อถูกพระพุทธเจ้าห้ามทำกุฏีด้วยดินแล้ว จึงคิดจะสร้างกุฏีด้วยไม้แทน (เพราะถ้าจะทำกุฏีหญ้าอีก ก็เกรงว่าชาวบ้านจะมารื้อเอาหญ้าไปอีก) ดังนั้นท่านจึงได้เข้าไปขอไม้หลวงจากเจ้าพนักงานรักษาไม้ในวัง แต่เจ้าพนักงานตอบว่าไม้ไม่มีจะถวายให้ มีแต่ที่เก็บไว้ซ่อมแซมพระนครในคราวจำเป็นเท่านั้น ถ้าพระคุณเจ้าต้องการ ต้องไปบิณฑบาตจากพระราชา (พระเจ้าพิมพิสาร) เอาเองเถิด ฝ่ายพระธนิยะเมื่อเจ้าพนักงานพูดเช่นนั้น จึงตอบไปว่า พระราชาได้พระราชทานให้แล้ว ดังนี้ ฝ่ายเจ้าพนักงานได้คิดว่า พระคุณเจ้าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้สงบคงจะไม่กล้าพูดเล่น พระราชาคงจะพระราชทานให้จริง ดังนี้แล้ว ได้ให้ไม้เหล่านั้น ท่านพระธนิยะได้สร้างกุฏีหลังใหม่ด้วยไม้หลวงเหล่านั้น ต่อจากนั้นมาได้มีคณะผู้ตรวจราชการหลวงมาตรวจราชการไม่เห็นไม้หลวง เรื่องจึงแดงขึ้น เจ้าพนักงานรักษาไม้นั้นถูกจับไปสอบสวน ส่วนพระธนิยะเมื่อทราบเรื่องจึงได้เข้าไปในวังเพื่อแก้ข้อกล่าวหาด้วย ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารเมื่อทราบเรื่องจึงได้ตรัสกับพระธนิยะว่า “พระคุณเจ้าบอกว่าโยมได้ถวายไม้นั้นให้แล้ว เนื่องจากโยม (พระราชา) มีธุระมากมีภาระกิจมากจนจำไม่ได้ ระลึกไม่ได้ว่าได้ถวายไม้ให้พระคุณเจ้าตั้งแต่ครั้งใด ? พระธนิยะได้ตอบว่า “พระองค์ระลึกได้ไหม ! ตั้งแต่ครั้งพระองค์ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใหม่ๆ พระองค์ได้เปล่งพระวาจาเช่นนี้ว่า หญ้า ไม้ และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแล้วแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย โปรดใช้สอยเถิด ดังนี้” ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารครั้นได้สดับคำของพระธนิยะเช่นนั้น จึงตรัสว่า “โยมระลึกได้แล้ว (แต่) คำของโยมนั้นหมายถึง หญ้า ไม้และน้ำ ที่มีอยู่ในป่า ไม่มีใครหวงแหน ซึ่งพระสงฆ์และพราหมณ์ผู้มีศีลเป็นที่รักใคร่ต่อการศึกษาย่อมรู้จักและพึงใช้สอยไม้เหล่านั้น แต่พระคุณเจ้าได้ใช้เล่ห์เพื่อนำไม้ที่เขาไม่ได้ให้ไปใช้ โยมจะพึงฆ่าหรือจองจำหรือเนรเทศ ซึ่งสมณะได้อย่างไร นิมนต์ท่านกลับเถิด ท่านรอดตัวไปได้เพราะเพศบรรพชิตแล้ว แต่อย่าได้ทำอย่างนี้อีก” ดังนี้ แล้วได้ส่งพระธนิยะกลับไป

ความเรื่องนี้ทราบไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงประชุมพระสาวกแล้วได้บัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุนำเอาของที่เขาไม่ได้ให้มีราคาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป ผู้ใดเอาไปต้องปาราชิก

ทรัพย์ตามความหมายในสิกขาบทนี้มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น วิญญาณกทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่มีวิญญาณครอง เช่น มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น หรือ อวิญญาณกทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นต้น และไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม เช่น อยู่ในบ้าน อยู่ในน้ำ ฝังดินไว้ หรือแม้แต่แขวนไว้ตามต้นไม้ เป็นต้น ก็ตาม ถือว่าเป็นทรัพย์ต้องห้าม ถ้าภิกษุถือเอาด้วยอาการแห่งขโมย ทรัพย์ทุกอย่างอาจทำให้ภิกษุต้องอาบัติได้ทั้งนั้น การถือเอาด้วยอาการแห่งขโมยนั้น เรียกว่า อวหาร ซึ่งมาจากศัพท์ว่า อว + หาร + (อว = ลง ในทางที่ไม่ดี + หาร = การนำไป ) เมื่อรวมกันแล้ว ก็แปลว่า การลัก การขโมย เป็นต้น ท่านจำแนกไว้ ๑๓ ลักษณะ คือ ลัก ชิงหรือวิ่งราว ลักต้อน แย่ง ลักสับ ตู่ ฉ้อหรือฉ้อโกง ยักยอก ตระบัด ปล้น หลอกลวง กดขี่หรือกรรโชก ลักซ่อน อวหารทั้ง ๑๓ ประการนี้ ถ้าภิกษุลงมือทำด้วยตนเอง เรียกว่า สาณัตติกะ คือ การทำความผิดด้วยตนเอง แต่ถ้าสั่ง คือให้ผู้อื่นทำแทนตน เรียกว่า อาณัตติกะ ต้องอาบัติเพราะสั่งให้เขาทำ และต้องอาบัติในเวลาที่ผู้รับคำสั่งนั้นไปลักทรัพย์หรือทำอวหารได้ของมา ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สิกขาบทนี้เป็นทั้งสาณัตติกะ และ อาณัตติกะ คือ ทำเองก็ต้อง สั่งผู้อื่นทำก็ต้องเหมือนกัน

เรื่องที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวินิจฉัยไว้ในวินีตวัตถุ มีทั้งหมด ๑๕๓ เรื่อง เช่น เรื่องนำแก้วมณีล่วงด่านภาษี มีบุรุษคนหนึ่งนำแก้วมณีราคาแพงเดินทางไกลไปกับภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นเห็นด่านภาษีแกล้งทำว่าเป็นไข้ ฝากห่อของของตนไว้กับภิกษุโดยที่ภิกษุไม่รู้ว่ามีของหนีภาษีซ่อนอยู่ด้านใน เมื่อเดินทางพ้นด่านภาษีไปแล้ว ขอห่อของคืนพร้อมกับบอกพระภิกษุว่าตนไม่ได้เป็นไข้ แต่ต้องการหนีภาษี ภิกษุนั้นเกิดความรังเกียจว่า ตนต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสตอบว่าภิกษุผู้ไม่รู้ ไม่ต้องอาบัติ จากตัวอย่างในวินีตวัตถุ แสดงให้เห็นว่า ในสิกขาบทนี้ เป็นสจิตตกะ คือ จะต้องมีเจตนาจึงจะเป็นอาบัติ

ซึ่งเกณฑ์ในการปรับอาบัติในสิกขาบทนี้ คือ ในการตัดสินว่าภิกษุถือเอาทรัพย์เช่นไรต้องอาบัติ เช่นไรไม่ต้องอาบัติ หรือทรัพย์เช่นไรเป็นข้อห้าม สำหรับภิกษุนั้นท่านให้ถือเอาหลักวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์นั้นด้วยอาการ ๕ อย่าง เหล่านี้ คือ
๑) ทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน
๒) มีความสำคัญว่าทรัพย์อันผู้อื่นหวงแหน
๓) ทรัพย์มีค่าได้ราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสกนั้นขึ้นไป
๔) มีไถยจิตปรากฎขึ้น (จิตคิดจะลัก)
๕) ภิกษุทำทรัพย์ (นั้น) ให้เคลื่อนจากฐาน


ในสิกขาบทนี้ ลักษณะที่ภิกษุไม่ต้องอาบัติมี ๘ ประการ คือ
๑) ภิกษุถือเอาด้วยเข้าใจว่าเป็นของตน
๒) ภิกษุถือเอาด้วยความคุ้นเคยกันหรือถือเอาด้วยวิสาสะ
๓) ภิกษุถือเอาด้วยเข้าใจว่าเป็นของยืม
๔) ภิกษุถือเอาของผู้ตายหวงแหน เว้นแต่จะมีผู้รับมรดกต่อ
๕) ภิกษุถือเอาของที่สัตว์หวงแหน เช่น เสือกัดเนื้อตาย ถือเอาบางส่วนมาทำเป็นอาหาร
๖) ภิกษุถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา คือเข้าใจว่าเป็นของที่เขาทิ้งแล้ว
๗) ภิกษุเป็นบ้า
๘) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่