แปลงร่างแม่ครัวมือใหม่ ให้กลายเป็นแม่ครัวมืออาชีพ ได้ไม่ยาก มีวิธีค่ะ

ลองใช้เป็นไอเดียนะคะ ถ้าทำได้ เราจะใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เหลือทิ้ง และประหยัดอีกด้วยค่ะ

เรามาเริ่มกันเลยค่ะ อาหารในบ้าน ต้อมขอแบ่งเป็น 3 ประเภทนะคะ
1. ของสด พวกเนื้อสัตว์ ผักสด
2. ของแห้ง พวกกุ้งแห้ง กะปิ บะหมี่ วุ้นเส้น และต้อมขอรวมพวก กระเทียม หอม ไปด้วยนะคะ
3. เครื่องปรุง พวกน้ำปลา น้ำตาล ซีอิ้ว บลาๆ


2 ประเภทหลังสามารถซื้อเก็บไว้ ได้นาน อาจจะคำนวณคร่าวๆจากการใช้ ตามความเหมาะสม คร่าวๆอาจจะ 1 เดือนเป็นต้นไป เช่น

ถ้าเป็นกุ้งแห้ง ถ้าเป็นของต้อมนะคะ
- ต้อมจะซื้อแบบตัวใหญ่ไว้ยำกุ้งแห้ง หรือตำน้ำพริกกะปิ ใส่เครื่องแกงเพราะเนื้อจะเยอะ อันนี้ใช้บ่อยจะซื้อ 2-3 โล
- ตัวขนาดกลาง จะซื้อแค่ครึ่งโลเอาไว้ทอดใส่ยำ
- และแบบฝอยเอาไว้ทำส้มตำ ถึงจะอร่อยอันนี้แค่ 3-4 ขีดพอค่ะ
ทั้งหมดนี้ก็กว่าจะหมดก็หลายเดือนค่ะ อาจถึงปี 555 แบบลืมไปเลย เพราะใส่ตู้เย็นแล้วอยู่ได้นาน สถานที่ซื้อไกล ก็จะตุนไว้มากหน่อย เป็นต้น ดังนั้นประเภท 2 กับ 3 ก็ลองดูตามความเหมาะสมนะคะ

หรือถ้าเป็นน้ำมันพืช
เช่น เราอาจจะเดือนละขวด แต่กลับซื้อมาตุนไว้ 2 โหล อันนี้ไม่ได้นะคะ นานเกิ๊น 555

คงพอได้เป็นแนวทางแล้วนะคะ ถ้าไม่รู้จริงๆ ช่วงแรกอาจจะต้องวิ่งซื้อบ่อยหน่อย วิธีป้องกันคือ คำนวน buffer stock ไว้ เช่น ถ้าน้ำปลาถูกหยิบขวดสุดท้ายมาใช้ นั่นแหละ ถึงเวลาต้องไปซื้อขวดใหม่แล้วจ้าาา ซึ่งกว่าน้ำปลาจะหมดขวด ก็ใช้เวลาอีก อย่างน้อย 1 อาทิตย์ขึ้นไปหล่ะ อาจจะถึงหลักเดือนเลยก็ได้ เราก็มีเวลาพอที่จะหายใจหายคอ จัดเวลาไปซื้อมาได้ก่อนที่จะหมดโดยไม่รู้ตัว

ช่วงแรกๆให้พยายามสังเกตุดูนะคะ ว่าเราใช้เครื่องปรุง หรือของแห้งเดือนละเท่าไหร่ ทีนี้เราก็จะคำนวณคร่าวๆได้แล้วค่ะ ว่าเราจะซื้อของปริมาณเท่าไหร่เพื่อจะอยู่ได้นานแค่ไหน ยังไงมันก็ไม่เท่ากันอยู่แล้วค่ะ เพราะเราไม่ได้ทำกับข้าวเหมือนกันทุกวัน ไม่ต้องเครียดนะคะ แค่คร่าวๆค่ะ

ที่นี้ที่เราจะจัดการคือ ข้อ 1 ค่ะ มีวิธีการอย่างไร ไปดูกันค่ะ
ก่อนอื่นต้อมขอ set การจ่ายกับข้าวไว้ที่สัปดาห์ละ 1 ครั้งนะคะ
1. ทำตารางค่ะว่า ใน 1 สัปดาห์ เราจะทานอะไรบ้าง list ออกมา
    หลักการคือวันแรกๆจะใช้วัตถุดิบที่อยู่ไม่นาน เช่นผักบุ้ง ปลาหมึก เนื้อปู ตับ เราจะเอามาทำในวันแรกๆหลังจ่ายตลาด แต่ถ้าเป็นผักที่อยู่ได้นานเราจะใช้ทำวันหลังๆ เช่น ฟักทอง ฟัก แฟง จะเก็บไว้ทำวันหลังๆ
    ยิ่งถ้าตู้เย็นมีขนาดเล็ก การซื้อกับข้าวยิ่งต้องคำนึงถึง ผักที่จะซื้อ มาเป็นตัวกำหนดเมนูด้วย เช่นพวก ฟักทอง ฟัก แฟง ไม่ต้องใส่ตู้เย็น อาจจะเป็นตัวเลือกต้นๆในการจ่ายกับข้าว และทำในวันหลังๆเพราะของพวกนี้อยู่ได้หลายอาทิตย์อยู่
    ปัญหาของการซื้อกับข้าวตามโพย คือ หาของไม่ได้ วันนั้นผักชนิดนั้นๆหมด เราต้องเตรียม backup plan ไว้ด้วยนะคะ ถ้าอันนี้ไม่มี เราจะเอาอะไร เช่น มะเขือพวงไม่มี แต่เราจะตำน้ำพริกกะปิ ก็อาจจะใส่มะเขือเปราะแทน หรือ จะทำปลาราดพริก แต่วันนั้นไม่มีปลา เราจะทำอะไรแทน อาจจะทำแพนงหมูแทน เป็นต้น ดังนั้นการซื้อกับข้าวเองจะเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการระบบการซื้อกับข้าวนะคะ

2. เสร็จแล้ว แตกออกมาเป็นวัตถุดิบ ว่าต้องใช้อะไรบ้าง คำนวนคร่าวๆ แล้วซื้อเท่านั้น อย่าเห็นแก่ของถูกแล้วซื้อเหมามา ( ถ้าจะซื้อเหมาจริง ก็ต้องคิดเมนูสลับสับเปลี่ยนไว้ด้วยนะคะ จะได้ไม่เหลือและเน่าทิ้ง)

3. ทำตาม schedule ที่วางไว้ หากวันไหนผิดแผน ครอบครัวอาจจะอยากทานข้าวนอกบ้าน  ก็เลื่อนเมนูวันนี้ไปทำในวันถัดไป หรือถ้าวันนี้ ใครอยากทานอะไรเป็นพิเศษ ก็อาจจะเลื่อนเมนูนั้นๆมาทำวันนี้ก็ได้ อย่าทำตามตารางเป๊ะๆอาจจะทำให้ครอบครัวมีปัญหาได้ เพราะเราเป็นแม่บ้านมืออาชีพ เรื่องแค่นี้เราจัดการได้อยู่แล้วเนอะ

4. พอถึงวันทำ schedule ของสัปดาห์ใหม่ เราควรตรวจสอบวัตถุดิบต่างๆอีกครั้ง แต่จริงๆแล้วถ้าทำบ่อยๆเราแทบไม่ต้องดูเลยค่ะ เพราะเราจะรู้ว่าอะไรเหลือเท่าไหร่อยู่แล้วจริงมั้ยคะ แล้วทำรอบใหม่แบบนี้ไปเรื่อยๆ แค่นี้ เราก็จะแปลงร่างจากแม่ครัวมือใหม่มาเป็นแม่ครัวมืออาชีพแล้ว ไม่ยากเลยเห็นมั้ยคะ^^

ปูลู ส่วน ไอเดียเมนูต่างๆลองเข้าไปดูใน post ต่างๆ ของต้อมนะคะ  จะมีสูตรไว้ให้ด้วย จะมีลงไว้เรื่อยๆ คอยติดตามนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่