เช็คราคา จานด่วน! 30-35 บาท กำไร หรือ ขาดทุน? ผู้บริโภคบ่นค่าครองชีพยังสูง

จากมติชนออนไลน์

@ พณ.ตรวจตลาดประชานิเวศน์

วันที่ 7 ก.พ. เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ตลาดประชานิเวศน์ 1 นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการและโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเดินตรวจสอบภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งอาหารจานเดียวและราคาวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร ทั้งไข่ไก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ และผักว่า ราคาสินค้าต่างๆ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้มีราคาสูงอย่างที่คาดไว้ ราคาเนื้อหมูอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไม่ได้เป็นราคาที่สูง จากการสอบถามร้านค้าในตลาดเชื่อว่าราคาจำหน่ายจะยังคงที่อยู่ อาทิ ราคาเนื้อไก่ 80 บาท/กก. ส่วนราคาผักต่างๆ อาทิ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี แตงกวา 30-35 บาท/กก. ส่วนมะนาวลูกละ 5 บาท และจากการสำรวจราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขึ้นราคาขวดละ 45 บาท ทางร้านค้าแจ้งเหตุที่ราคาขึ้นมาเนื่องจากน้ำนันปาล์มขาดตลาด ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ในปริมาณมาก ทางกระทรวงพาณิชย์เข้าใจและชี้แจงกลับว่า ขณะนี้ได้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเพื่อจัดสรรให้บริษัทน้ำมันปาล์มทำการผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดมากขึ้น น่าจะเห็นผลในอีกไม่กี่สัปดาห์ ส่วนราคาไข่ไก่เบอร์ 3 อยู่ที่ฟองละ 2.50-3.50 บาท ขณะที่ราคาอาหารจานเดียวไม่ว่าจะเป็นเมนูข้าวมันไก่ ข้าวราดแกง อยู่ที่ 30-35 บาท เป็นราคาปกติ

@ ปรับหนักมาแล้วเจ้าละ1.4แสน

นางดวงกมลกล่าวต่อว่า อาจจะมีบ้างตามสถานการณ์และตามสถานที่ที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น เช่น ช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างตรุษจีนที่จะมาถึง จะเกิดความต้องการซื้อสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ไก่ หมู ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า หัวไชเท้า อาจขาดตลาดได้ ทางร้านค้าอาจปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 5-10% เป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ นอกจากนี้ ทางตลาดและผู้ประกอบการแต่ละแห่งมีต้นทุนไม่เหมือนกัน เช่น บางตลาดมีต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ต้นทุนค่าเช่าที่ที่แพงกว่า เป็นต้น

"หากผู้บริโภคตรวจพบร้านอาหารหรือร้านขายสินค้าที่ราคาแพง สามารถแจ้งให้กรมการค้าภายในตรวจสอบได้ที่เบอร์ 1569 ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเข้ามาแล้ว 100 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้านค้าไม่ติดป้ายบอกราคาและขายสินค้าแพง กรมได้ปรับเงินกับผู้ประกอบการ 4-5 รายแล้ว รายละ 1.4 แสนบาท นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งสายตรวจสอบราคาสินค้าอยู่ทุกวัน หากร้านค้าขายสินค้าราคาสูงจริง สามารถตรวจสอบได้ และจะส่งหนังสือเชิญผู้ประกอบการมาชี้แจงถึงเหตุผลที่ขายแพง ต้องนำต้นทุนการขายต่างๆ ทั้งราคารับซื้อ ค่าเช่าที่ มาให้ตรวจสอบ หากผิดจริงจะปรับเงินหรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ

@ บิ๊กฉัตรรอหารือปลูกพืชหน้าแล้ง

นางดวงกมลกล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดและส่งผลกับราคาในตลาดนั้น ต้องดูรายการสินค้าก่อน ซึ่งผู้บริโภคหรือร้านค้าสามารถหาสินค้าทดแทนในส่วนของสินค้าในช่วงหน้าแล้งที่ขาดหายไปได้ นอกจากนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงการปลูกพืชอื่นๆ ในช่วงหน้าแล้ง เพื่อรองรับตลาดในสัปดาห์หน้า

นางสาวสุนทรี มณีงาม แม่ค้าขายผักในตลาดประชานิเวศน์ 1 กล่าวว่า ราคาผักที่ประชาชนซื้อทุกวันยังคงที่ อย่างเช่น ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ราคาจะอยู่ที่ 35 บาท/กก. ส่วนมะนาวจากลูกละ 3 บาท เพิ่มเป็น 5 บาท เนื่องจากขณะนี้อยู่ในหน้าแล้ง มะนาวออกผลไม่มาก ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น และยังมีการปรับราคาผักบางประเภทขึ้น เช่น ชะอม กระถิน ผักกระเฉด ผักบุ้ง เพิ่มขึ้นมา 2-3 บาทเท่านั้น ส่วนช่วงเทศกาลตรุษจีนน่าจะปรับราคาผักเพิ่มขึ้นอีก เช่น ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า เนื่องจากความต้องการซื้อเพิ่มแต่ผลผลิตน้อย น่าจะเพิ่มอีก กก.ละ 5 บาท

@ ผู้บริโภคบ่นค่าครองชีพยังสูง

นางทองมี จิตจักร์ ผู้ที่มาจับจ่ายใช้สอยในตลาดประชานิเวศน์ 1 กล่าวว่า พบเหมือนกันว่ามีราคาสินค้าบางชนิดปรับตัวลดลง เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับรายได้ก็ถือว่ายังเป็นราคาที่สูง เพราะราคาสินค้าทั่วไปมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เงินเดือนไม่ปรับขึ้นตาม ทำให้ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับที่สูง

นางสาวไอลดา เวียงศิริรัตน์ ประชาชนทั่วไป กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังสูง ขณะที่รายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น มองว่าการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ราคาสินค้าก็ควรลดลงตามไปด้วย ไม่ใช่ยังมีราคาสูง

ด้านนางสมใจ พลีบัตร เจ้าของร้านเนื้อสุรอยยาในตลาดสดประชานิเวศน์ 1 กล่าวว่า การค้าขายในระยะนี้ไม่ดีมากนัก ลูกค้าระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการประกอบอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนใหญ่หันไปบริโภคอาหารปรุงสำเร็จแทนการทำอาหารรับประทานเอง

นางทัศนีย์ รุ่งเรืองศักดิ์ศรี แม่ค้าขายไก่สด กล่าวว่า ระยะนี้จำนวนคนซื้อน้อยลงกว่าช่วงที่ผ่านมา แม้ราคาน้ำมันลดลงแต่ราคาสินค้าทั่วไปยังคงเดิม ยอดขายตกไปบ้าง ขณะเดียวกันการที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้า ไม่ปรับราคาสินค้า ทางภาครัฐควรไปควบคุมราคาสินค้าที่ต้นทางมากกว่าให้ปลายทางปรับลดราคาสินค้า ต้นทุนที่รับมาสูง ก็ต้องขายออกในราคาที่สูงเช่นกัน

@ พ่อค้าแจงต้นทุนเมนูตามสั่ง

ผู้สื่อข่าวยังได้สำรวจเมนูอาหารปรุงตามสั่งในตลาดประชานิเวศน์ 1 โดยสัมภาษณ์นายธงธรรม ตาทอง เจ้าของร้านค้าอาหารตามสั่ง กล่าวว่า ที่ร้านจะมีหลายเมนู หากเป็นข้าวผัดกะเพราหมูจะขายจานละ 30 บาท จะได้กำไรจานละ 2 บาท หากเพิ่มไข่ดาวจะคิดจานละ 35 บาท ได้กำไรจานละ 3.50 บาท เฉลี่ยต้นทุนแต่ละจาน คิดคร่าวๆ ดังนี้ 1.หมูสับ 15 บาท 2.ใบกะเพรา ถั่วฝักยาว กระเทียม พริก หอมใหญ่ ประมาณ 10 บาท 3.ข้าวประมาณ 3 บาท หากเพิ่มไข่ดาว ต้นทุนฟองละ 3.50 บาท

ส่วนข้าวไข่เจียวจานละ 30 บาท กำไรจานละ 15 บาท หากเพิ่มเป็นข้าวไข่เจียวหมูสับจะขายราคา 35 บาท ได้กำไรจานละ 10 บาท ต้นทุนประกอบด้วย ข้าว 5 บาท ไข่ 2 ฟอง พร้อมหอมใหญ่ 10 บาท ถ้าเพิ่มหมูสับจะคิดเพิ่มอีก 10 บาท

สำหรับข้าวผัดหมูขายจานละ 30 บาท ได้กำไร 5 บาท ต้นทุนประกอบด้วยข้าว 3 บาท หมูชิ้น 15 บาท ผักอื่นๆ อาทิ คะน้า มะเขือเทศ 7 บาท

"ทางร้านยังมีต้นทุนอื่นๆ สำหรับอาหารจานเดียว อีกด้วย อาทิ ค่าก๊าซหุงต้ม (ปริมาณ 15 กก.) ถังละ 415 บาท ค่าเช่าร้านเดือนละ 10,500 บาท ค่าจ้างพนักงานคนละ 8,000 บาท ค่าน้ำเดือนละ 1,100 บาท และค่าไฟเดือนละ 4,000-5,000 บาท" นายธงธรรมกล่าว

@ สอนมวยพณ.ให้คุมต้นทุนต้นทาง

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ร.ต.เย็นขาว สาระ อายุ 65 ปี เจ้าของร้านผัดไทยซอย 7 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาต้องแบกรับภาระของแพง เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ขายอาหารตามสั่งจานละ 35 บาท ซึ่งราคาวัตถุดิบขณะนั้น เนื้อวัว กก.ละ 110 บาท เนื้อหมู 130 บาท กุ้ง 180 บาท ปลาหมึก 210 บาท แต่ปัจจุบันราคาขึ้นไปหมดแล้ว เนื้อวัว 250 บาท เนื้อหมู 160 บาท กุ้ง 310 บาท ปลาหมึก 238 บาท และใบกะเพรา 80-90 บาท ส่วนเครื่องปรุงทั้ง ผงชูรส น้ำมันหอย น้ำปลา รวมทั้งค่าก๊าซ และค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้องปรับราคาขึ้นเล็กน้อย ที่ร้านกำหนดขายข้าวผัดกะเพรา จานละ 40 บาท พิเศษ 50 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ก็รับได้

ร.ต.เย็นขาวกล่าวว่า หากรัฐบาลจะให้ขายราคาจานละ 35 บาท จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการอาจสั่งซื้อวัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ เป็นหมูบดเกรดต่ำลงมา และลดปริมาณเนื้อหมูลงด้วยเพื่อไม่ให้ขาดทุน อีกทั้งร้านเล็กๆ จะทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว รัฐบาลควรไปควบคุมราคาต้นทุนอื่นๆ ส่วนราคาอาหารตามสั่งปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากร้านขายแพงจะไม่มีลูกค้าอุดหนุน

@ ผัดกะเพราเชียงใหม่ขาย35บาท

นางกาญจนา ปันอินทร อายุ 45 ปี เจ้าของร้านเจ๊นกอาหารตามสั่ง ย่านตลาดประตูก้อม ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ข้าวผัดกะเพราะเป็นอาหารที่ลูกค้านิยมสั่งกันมาก เฉลี่ยวันละ 40-50 จาน จะขายจานละ 35 บาท ถ้าสั่งพิเศษและเพิ่มไข่ดาวขายจานละ 50 บาท ถ้าสั่งผัดกะเพราอย่างเดียว จานเล็ก 60 บาท กลาง 80 บาท ใหญ่ 100 บาท ต้นทุนหลักคือเนื้อหมู น้ำมัน เครื่องปรุง และก๊าซ ไม่ใช่ผักกะเพราเพราะซื้อมามัดละ 10 บาทเท่านั้น หากสั่งกะเพราพร้อมไข่ดาวใส่กล่องโฟม จะขายกล่องละ 45-50 บาท ถ้าสั่งมากอาจแถมให้บางส่วน แต่ไม่ลดราคา เพราะต้นทุนเนื้อหมูสูง เฉพาะผัดกะเพราะราดข้าว มียอดขายเฉลี่ยวันละ 2,000-2,500 บาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่