รัฐประหาร หลังสงครามเย็น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

รัฐประหารไทย หลังสงครามเย็น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1422857804

อาจารย์กานดา นาคน้อย นำเอาบทความของนิตยสารฟอร์บส์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบันไปลง ท่านได้ชี้สิ่งสำคัญให้เห็นว่า ฟอร์บส์เป็นสื่อฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างค่อนข้างสุดลิ่มทิ่มประตู ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แม้แต่ในกลุ่มฝ่ายขวาอเมริกัน ซึ่งเคยชินและสนับสนุนลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสมัยสงครามเย็น นั่นคือใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอแต่ยอมเป็นเครื่องมือให้อเมริกันเอาชนะในสงครามเย็น หรือสงครามกับผู้ก่อการร้ายก็แล้วกัน นัยยะก็คือ แต่ปัจจุบัน ฝ่ายขวาอเมริกันไม่ได้ยึดท่าทีแบบนั้นแล้ว

ส่วนเนื้อหาของบทความก็ต้องสรุปว่าวิพากษ์อย่างแรงสุดสุดกับการรัฐประหารในไทยและการบริหารของรัฐบาลในระบอบรัฐประหารของไทย

ยิ่งคิดไปถึงงานศึกษาสื่ออเมริกัน (ทั้งขวา และไม่ขวา) ของ ศ.โนม ชอมสกี้ ก็จะเห็นว่า "ฝ่ายอำนาจ" (the establishment ซึ่งไม่ได้รวมแต่เฉพาะนักการเมือง แต่ที่สำคัญกว่าคือธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย) ของอเมริกาเวลานี้ กำลังคิดอะไรกับการรัฐประหารในประเทศไทย หลังจากผ่านไปตั้ง 8 เดือนแล้ว เพราะชอมสกี้ทั้งชี้และพิสูจน์ให้เห็นว่า หน้าที่หลักของสื่ออเมริกันคือการรับเอาอุดมการณ์และแนวนโยบายของฝ่ายอำนาจมาเผยแพร่ กล่อมเกลา และโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนอเมริกันยอมจำนนเท่านั้น

8 เดือนหลังรัฐประหาร ท่าทีของสหรัฐและอียูยังไม่เปลี่ยนแนวทางไปจากวันแรกหลังรัฐประหาร อาจจะแรงขึ้นและชัดขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะให้ที่หลบภัยแก่คนที่ถูกคุกคาม (ซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าต้องรับแรงกดดันจากรัฐบาลของคณะรัฐประหารในรูปต่างๆ) ไปจนถึงการบอยคอตโดยสัญลักษณ์ เช่นงดจัดการซ้อมรบขนาดใหญ่ คอบร้าโกลด์ ในไทย หรือยุติการเจรจาเขตการค้าเสรี ทั้งยังย้ำจุดยืนของตนว่าประเทศไทยต้องกลับไปสู่ประชาธิปไตย

(ร้ายไปกว่านั้น ผมกำลังสงสัยว่าแตกต่างจากการรัฐประหารในประเทศไทยทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือประชาธิปไตยจะมีความหมายอย่างไร แค่ไหน ก็มักปล่อยให้คณะรัฐประหารคิดเอาเอง แต่ครั้งนี้ดูคล้ายกับว่า โลกตะวันตกมีมาตรฐานของตนเองด้วยว่า ประชาธิปไตยที่พอยอมรับได้ อย่างน้อยต้องมีอะไรบ้าง... ที่ผมสงสัยเช่นนี้ โดยไม่ได้ย้อนกลับไปเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ก็เพราะ จากสำนวนว่าให้กลับไปจัดเลือกตั้งโดยเร็ว ในคำแถลงของโลกตะวันตกหลังรัฐประหารระยะแรก ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นกลับไปสู่ประชาธิปไตยในระยะปัจจุบัน เมื่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่เริ่มปรากฏชัดขึ้น)

เปรียบเทียบกับการรัฐประหารในไทยที่ผ่านมา ผมคิดว่าท่าทีของฝ่ายตะวันตกในครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม โรดแมปของ คสช.ก็ชัดอยู่ว่า รัฐธรรมนูญจะเสร็จประมาณเมื่อไร หลังจากนั้นก็จะมีการเลือกตั้ง แล้วก็คงต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจนได้ เวลาก็ล่วงเลยเข้ามา 8-9 เดือนแล้ว แทนที่จะสงบปากสงบคำ เตรียมรอรับ "ประชาธิปไตย" แบบไทย แล้วก็ทำมาค้าขายต่อไปตามสบาย จนถึงใช้ไทยเป็นเบี้ยในการเดินหมากการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างที่ได้ใช้มากว่าร้อยปีแล้ว กลับมาฮึดฮัดๆ ให้เสียบรรยากาศอันสร้างทรัพย์ (คือไม่ใช่สร้างสรรค์) ที่จะมาถึงไม่นานข้างหน้าทำไม

ผมไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงของการเปลี่ยนท่าทีครั้งนี้ของโลกตะวันตกหรอกครับแต่ไม่ว่าเหตุผลคืออะไรก็เข้าใจได้ทั้งนั้น เพราะบริบทของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศได้เปลี่ยนไปแล้ว นั่นก็คือโลกได้พ้นออกไปจากสภาวะสงครามเย็น (ตั้งนานแล้ว) ความมั่นคงของทุนและการประกอบการของตะวันตกในประเทศไทย หรือแม้แต่ตลาดสินค้าของตนในประเทศไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่รัฐบาลไทยต้องพึ่งพาตะวันตกในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อีกแล้ว แต่อาจมีหลักประกันที่ดีกว่าในระบอบปกครองอะไรที่ต้องเคารพกฎหมาย, เคารพสัญญาที่ผูกพันกัน, และรัฐสามารถรักษาความสงบและระเบียบของสังคมได้ อย่างน้อยก็ได้ในระดับที่ไม่กระทบผลประโยชน์ของเขา ผมเดาว่า โลกตะวันตกเห็นว่าระบอบรัฐประหารกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อสิ่งที่ต้องการดังกล่าวมากกว่า ในเชิงรูปธรรมก็มีตัวอย่าง เช่น รัฐบาลของคณะรัฐประหารไปทำสัญญาสร้างทางรถไฟกับจีน โดยไม่มีข้อมูลเปิดเผยเกี่ยวกับโครงการ หรือข้อผูกพันใดๆ ทั้งไม่เปิดประมูลแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ย่อมบั่นทอนโอกาสทางธุรกิจของประเทศอื่นๆ ทั้งหมด

หรือลองคิดอย่างนี้ดูก็ได้ โอกาสที่รัฐบาลไทยจะยึดสัมปทานก๊าซของบริษัทเชฟรอนในอ่าวไทยเป็นของรัฐนั้น ไม่มีเลย หากจะมี ไม่ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ก็อาจเกิดขึ้นได้เฉพาะภายใต้รัฐบาลประเภทเดียว คือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเท่านั้น

นโยบายของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในโลกตะวันตกไม่ได้อยู่ในบริบทของสงครามเย็นไปนานแล้วแต่ที่ทั้งน่าเศร้าและน่าตระหนกก็คือ ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยและทหารไทยยังคิดอะไรให้พ้นจากสงครามเย็นไม่เป็น

หนึ่งในคณะรัฐบุคคลเป็นข้าราชการเก่าของกระทรวงการต่างประเทศของไทยพูดอย่างชัดเจนในการประชุมของกลุ่มว่า หากทหารเข้าแทรกแซงทางการเมืองอย่างออกหน้า ก็ไม่ต้องไปวิตกเรื่องแรงกดดันของตะวันตก เพราะจะไม่เกิดขึ้น (ซึ่งคงรวมถึงว่าหากเกิดขึ้นก็ไม่จีรังยั่งยืนนัก)

นี่เป็นวิธีคิดในเงื่อนไขของสงครามเย็นโดยแท้ ใช่เลย หากโลกตะวันตกยังต้องเผชิญกับโซเวียตและบริวารอย่างเข้มข้น อยากจะเผด็จการหรืออยากประชาธิปไตยก็เรื่องของ ตราบเท่าที่ยังสามารถรักษานโยบายที่จะเป็นเบี้ยตัวหนึ่งในสงครามเย็นของกูได้ กูไม่เกี่ยว หรืออาจส่งเสริมเผด็จการด้วยซ้ำ เพราะเป็นหลักประกันด้านนโยบายได้ดีกว่า แต่เราได้ผ่านสงครามเย็นไปนานแล้ว ผลประโยชน์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตะวันตกจึงไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป

ผมไม่ทราบว่าบุคคลผู้นี้เป็นที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของคสช.หรือไม่ (ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง) แต่นโยบายของ คสช.ก็เป็นไปตามนี้ หรือยิ่งถลำตัวลงไปในตรรกะของสงครามเย็นมากกว่าด้วยซ้ำ นับตั้งแต่ระยะแรกของการรัฐประหาร เมื่อตะวันตกตั้งเงื่อนไขที่ตายตัวว่าต้องกลับเข้าสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว คณะรัฐประหารก็ตอบโต้ตามตรรกะของสงครามเย็นด้วยการหันไปแสดงความสนิทสนมกับจีน และบัดนี้ก็ผูกพันประเทศเข้าไปกับผลประโยชน์ของจีนอย่างน่าวิตกมากขึ้น มีผู้ให้ความเห็นมาแต่ระยะแรกหลังรัฐประหารว่า เนื่องจากสหรัฐกำลังแข่งอิทธิพลกับจีนในเอเชีย ฉะนั้นในเวลาไม่นาน สหรัฐก็จะต้องหันกลับมาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะรัฐประหารไทย เพื่อสกัดการลงรากลงฐานอิทธิพลของจีนในประเทศไทย

แต่ 8 เดือนมาแล้ว สหรัฐก็ยังไม่เปลี่ยนท่าที ซ้ำดูจะแข็งกร้าวมากขึ้นด้วย

ในฐานะประเทศที่มีทรัพยากรความรู้เกี่ยวกับไทยที่ดีเลิศแห่งหนึ่งของโลกก็ดูไม่มีความจำเป็นหรือความเขลาอะไรที่สหรัฐต้องเปลี่ยนท่าทีต่อคณะรัฐประหารไทย สถานะทางเศรษฐกิจของไทยทำให้การเชื่อมต่อ (linkage) กับจีน ไม่สู้จะมีประโยชน์อะไรนัก จีนไม่มีอะไรในมือมากกว่าเงินทุนมหาศาลและความกระหายหิวกำไรในระยะสั้น ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไทยจะหาที่ไหนก็ได้ไม่ยาก ในขณะที่สิ่งที่ไทยไม่อาจหาได้จากจีนก็คือสมรรถภาพที่จะเคลื่อนออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง จีนไม่อยู่ในฐานะจะเพิ่มสมรรถภาพการผลิตของไทยให้ไต่ขึ้นระดับสูงกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี, การจัดการ, เครือข่ายตลาดโลก (แม้แต่ตลาดภายในอันมหึมาของจีนเอง จีนก็ย่อมรักษาผลประโยชน์ตนด้วยการทำให้สินค้านำเข้า ต้องแข่งขันราคาจนเหลือต่ำสุดก่อนจะได้ช่องการขายเป็นธรรมดา) จีนอยู่ในฐานะไม่ดีกว่าไทย หรืออาจจะต่ำกว่าไทยในบางด้านด้วยซ้ำ

จุดเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจกับโลกตะวันตก จึงไม่ได้หมายถึงเพียงการได้เงินกำไรเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าก็คือจุดเชื่อมต่อเหล่านี้(รวมสิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และไต้หวันด้วย) หากใช้ให้เป็น จะช่วยเพิ่มสมรรถนะการผลิตของไทยจนหลุดพ้นจากกับดักดังกล่าวได้ ดังนั้นโดยไม่ต้องลงมาแข่งอิทธิพลกับจีนในระยะสั้น ด้วยการยอมอ่อนน้อมต่อ คสช. อย่างไรเสียสักวันหนึ่งประเทศไทยก็คงต้องมีผู้นำที่มีสมองตรงกลางระหว่างใบหูจนได้ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือสืบทอดอำนาจรัฐประหารก็ตาม แล้วเทคโนแครตไทยก็จะร่วมกันกดดันให้เราต้องหันกลับไปอ่อนน้อมต่อมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตะวันตกเอง สหรัฐและอียูจึงได้แต่นั่งกระดิกเท้า ตีหน้าเครียดใส่คณะรัฐประหารไปได้เรื่อยๆ โดยซ่อนยิ้มไว้ที่มุมปาก

ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ ดูเหมือนจะชัดเจนแก่ทุกประเทศของอาเซียนแล้วว่า นโยบายที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ที่จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางทหารก็คือ รักษาดุลยภาพของความใกล้ชิดระหว่างจีนและสหรัฐไว้ ประเทศอย่างเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา สู้เก็บความขมขื่นในอดีตไว้ เพื่อทำให้สหรัฐได้ดุลกับจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองระหว่างประเทศ หรือแม้แต่การทหาร ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ต้องนำประชาชนให้พ้นความระแวงจีน เพื่อบรรลุดุลยภาพความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน

ประเทศไทยภายใต้ คสช. จะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่แคร์ต่อดุลยภาพที่มีความสำคัญยิ่งนี้หรือ? แม้ผู้นำไทยอาจไม่อึดอัดเพราะไม่มีสำนึกเหตุผล (sensibility) เพียงพอที่จะรู้สึกอึดอัด เพื่อนบ้านอาเซียนจะพลอยไม่อึดอัดตามไปด้วยหรือ?

โดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตะวันตกไม่ต้องกดดันอะไรมากไปกว่าท่าทีความอึดอัดต่อระบอบรัฐประหารไทยก็แผ่ไปทั่วภูมิภาคแล้ว

คราวนี้มาถึงประเด็นสุดท้ายสหรัฐจะแทรกแซงทางทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลรัฐประหารของไทยหรือไม่ คำตอบคือไม่แน่นอน เพราะไม่จำเป็นที่ต้องสอยมะม่วงซึ่งงอมขนาดนี้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจการแทรกแซงของสหรัฐต่อประเทศอื่นๆ ด้วยว่า มีวิธีการหลายอย่างที่อาจเลือกใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

สหรัฐเที่ยวล้มรัฐบาลของประเทศอื่นมาทั่วโลกแล้วโดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น โดยอาศัยความสัมพันธ์ลับที่มีกับกลุ่มต่างๆ ในแต่ละประเทศ หากไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากกลุ่มนี้ ก็สนับสนุนให้อีกกลุ่มหนึ่งล้มรัฐบาลนั้นเสีย เช่น หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลสังคมนิยม สหรัฐก็หนุนให้กองทัพซึ่งตนมีสายสัมพันธ์ทั้งลับและแจ้งมานานแล้ว ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลสังคมนิยมเสีย

แต่หลังสงครามเย็น ความจำเป็นที่จะแทรกแซงประเทศต่างๆ ลดน้อยลง จึงไม่ค่อยจำเป็นต้องรักษาสายสัมพันธ์ลับของสหรัฐกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ไว้อย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุดังนั้นจึงแทรกแซงทางการเมืองได้ยากขึ้น แต่หากจำเป็นต้องแทรกแซงระบอบที่เป็นศัตรูกับสหรัฐอย่างออกหน้า หรือปล่อยให้กลุ่มที่เป็นศัตรูปฏิบัติการอย่างอิสระในดินแดนของตนเอง สหรัฐจึงต้องแทรกแซงทางการทหาร อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา

สหรัฐแทรกแซงทางทหารโดยดึงพันธมิตร หรือสหประชาชาติเป็นเครื่องหมายแห่งความชอบธรรมเสมอ ยกเว้นบางช่วงสั้นๆ ภายใต้ประธานาธิบดีบุชผู้บุตร เป็นการแทรกแซงรวมหมู่หรือแบบอเนกภาคี (multilateral intervention)

ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า หากสักวันหนึ่งสหรัฐจะแทรกแซงการเมืองไทยแบบไม่ต้องเหนื่อย ก็จะออกมาในลักษณะแทรกแซงรวมหมู่ โดยเฉพาะผ่านมติของสหประชาชาติ โอกาสเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในประเทศไทยเอง เช่น

หากเกิดการล้อมปราบประชาชนอย่างนองเลือดเหมือนปี 2553 (ขอให้สังเกตว่า ครั้งนั้นไม่เข้าสหประชาชาติ ไม่ว่าสมัชชาใหญ่หรือคณะมนตรีความมั่นคง มีแต่แถลงการณ์อ่อนๆ ของเลขาธิการ) ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่สหรัฐร่วมกับพันธมิตรในยุโรปจะผลักดันให้กลายเป็นวาระหนึ่งของสหประชาชาติ ซึ่งอาจมีมติประณามระบอบรัฐประหารในไทย สมมุติว่าจีนและรัสเซียวีโต้ ก็ไม่เป็นไร เพราะจะกลายเป็นข่าวว่าจีนและรัสเซียวีโต้เพื่ออุ้มเผด็จการที่เหี้ยมโหดของไทยไว้ แค่นี้ก็เป็นแรงกดดันที่หนักมากสำหรับไทยแล้ว อาจหนักเสียจนต้องปรับโครงสร้างอำนาจภายในของตนเอง และคนที่มาใหม่ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือคนของ คสช. ย่อมเรียนรู้เองว่าจะฝืนแรงกดดันของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตะวันตกด้วยการหันไปเคล้าเคลียจีน เป็นนโยบายที่เป็นไปไม่ได้แก่สถานะทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของไทยเอง

(หมายเหตุ- เมื่อเขียนบทความนี้เสร็จไปสองสามวันแล้ว จึงมีข่าวการเยือนของผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศสหรัฐ สิ่งที่เขาทำในประเทศไทยนั้น "แรง" พอๆ กับบทความในนิตยสารฟอร์บส์ หรือจะแรงกว่าด้วยซ้ำ จึงยิ่งทำให้ผมคิดว่าบทวิเคราะห์ของผมข้างต้นนั้นไม่น่าจะผิด)

(ที่มา:มติชนรายวัน 2 ก.พ.2558)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่