ไทยรัฐ กับการเมืองไทยวันนี้ ...../sao..เหลือ..noi

กระทู้สนทนา
ไทยไม่มีสิทธิเลือกข้าง ...บทบรรณาธิการ

ผลการเยือนญี่ปุ่นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนถึงโลกาภิวัตน์กระแสประชาธิปไตยที่ร้อนแรง
นายกรัฐมนตรีต้องให้สัญญาญี่ปุ่นว่า จะมีการเลือกตั้งภายในหนึ่งปี และจะไม่อยู่ในอำนาจหลังการเลือกตั้ง
ขณะที่บรรดาผู้นำธุรกิจญี่ปุ่น พูดถึงการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และนายกรัฐมนตรีอาเบะหวังว่า ไทยจะกลับ
คืนสู่ประชาธิปไตยและปรองดองโดยเร็ว

วันเดียวกัน ที่กรุงเทพมหานคร นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตอเมริกัน ได้กล่าวย้ำกลางวงพิธีเปิดการฝึก
คอบร้าโกลด์ 24 ประเทศ หวังว่าประเทศไทยจะคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว เพื่อให้ฟื้นฟูความ
สัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ตอกย้ำคำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
ว่าสัมพันธ์ยังไม่เป็นปกติจนกว่าจะคืนสู่ประชาธิปไตย

ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของเอเชีย มีวัฒนธรรมแบบเอเชีย ซึ่งใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทย จึงเข้าใจ
การเมืองไทย ไม่ได้ลดระดับความสัมพันธ์ หลังมีรัฐประหารในไทย แต่ญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก
จึงอยากเห็นไทยกลับสู่ประชาธิปไตย เช่นเดียวกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรปหรืออียู ส่วนกลุ่มอาเซียนเฉยๆ
ตามหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน

มองสถานการณ์โลกในขณะนี้ โดยเฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไทย ดูคล้ายกับว่าโลกคืนสู่ยุคสงครามเย็นอีก
ครั้ง จากการแข่งขันกันระหว่างโลกเสรี ซึ่งมีสหรัฐฯและอียูเป็นผู้นำ กับค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งเปลี่ยน ผู้นำใหม่
จากสหภาพโซเวียตมาเป็นจีน ซึ่งก้าวผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจแทนที่โซเวียต ทั้งด้านเศรษฐกิจและ
การทหาร

โลกขณะนี้จึงเป็นการแข่งขัน ในด้านอุดมการณ์การเมืองการปกครองประเทศ ฝ่ายจีนซึ่งปกครองโดยระบบ
พรรคเดียว อ้างว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่ต้องทะเลาะกันจนหาข้อยุติไม่ได้ เหมือน
ประชาธิปไตยตะวันตก ส่วนโลกตะวันตกอ้างว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ จะเลือกหรือถอดถอนผู้นำก็ได้ โลก
ประชาธิปไตยรวยกว่าและปราบโกงได้ดีกว่า

พูดถึงความโปร่งใส เสาหลักหนึ่ง ของธรรมาภิบาล รัฐบาลจีนออกข่าวการกวาดล้างปราบปรามการทุจริต
อย่างเอิกเกริก มโหฬารบ่อยครั้ง แต่มีข้อมูลระบุว่าในบรรดาสมาชิกสภาประชาชนของจีน ผู้ร่ำรวยที่สุด 50 คน
มีทรัพย์สินเงินทองรวมกันถึง 94.7 พันล้านดอลลาร์ รวยกว่าสมาชิกรัฐสภาอเมริกันที่ร่ำรวยสุด 50 คน ถึง
60 เท่า

ไทยเป็นประเทศเล็ก และมีสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองมหาอำนาจ จึงอาจถูกดึงเข้าสู่วังวนของการแข่งขัน ความ
ร่วมมือกับจีนในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว หรือสังคม ล้วนเป็นคุณูปการต่อทั้งสองฝ่าย
แต่ระบอบการปกครองต่างกัน ตามภาวะสังคมของแต่ละฝ่าย นักวิชาการเตือนว่าไทยจะต้องดำรงสัมพันธ์อัน
ดีกับสองฝ่าย ไม่มีสิทธิเลือกข้างปักกิ่งหรือวอชิงตัน.

http://www.thairath.co.th/content/480460


สาวแว่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่