รีวิว The Imitation Game (2014) ขณะที่วีรกรรมของเขาเป็นความลับจนวันตาย แต่รสนิยมทางเพศกลับถูกเผยเป็นเรื่องฉาว

The Imitation Game (2014)


1) ความรู้สึกแรกหลังดูจบคือไม่คิดว่ามันเป็นหนังยกย่องวีรกรรมของ 'อลัน ทัวริ่ง' เลยแม้แต่นิดเดียว เรารู้สึกว่านัยเรื่องรสนิยมทางเพศของเขามันเด่นจนเห็นถึงนัยแฝงถึงการเรียกร้องฐานะทางสังคมของกลุ่มรักร่วมเพศ ข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดคือการเปลี่ยนชื่อเครื่องถอดรหัสอีนิกม่าตามประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นชื่อ "คริสโตเฟอร์" รักแรกของเขา

2) ผู้กำกับทำหนังสไตล์ play safe อยู่มาก ตัวอย่างเช่น จะพูดถึงเกย์แต่ก็ออกมาในลักษณะ 'ปกปิดสถานะ' ไม่เล่นในมุมเปิดเผยเวลาเขาอยู่กับเกย์ด้วยกันซึ่งคนในสังคมส่วนใหญ่เวลานี้ยังรับไม่ได้ (โดยเฉพาะกรรมการออสการ์ซึ่งเป็นคน gen ก่อน) หรือการที่พูดถึงเครื่องถอดรหัสแบบผิวเผินโฟกัสแค่ผลลัพธ์มากกว่าวิธีการเพราะรู้ดีว่าการเจาะเชิงลึกย่อมมีปัญหากับคนดูจำนวนมาก (โดยเฉพาะกรรมการออสการ์ที่มีอายุเฉลี่ย 60)



3) หนังเข้าข่าย Oscar bait หรือพูดง่าย ๆ ว่าหนังล่ารางวัล ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาทำหนังนี่ก็ถือว่าเป็นของชอบออสการ์, เนื้อเรื่องที่เป็นรอยด่างพร้อยของประวัติศาสตร์, ตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ (ออสการ์นำชายปีนี้แสดงเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ถึง 4 คน หรือถ้านับไมเคิล คีตันแสดงเป็นตัวเองด้วยก็ครบ 5 คนเลย) แถมตัวละครจริงยังเป็นเกย์และมีบุคลิกที่เป็นปัญหากับผู้อื่นอีก (นึกถึง J.Edgar ก็เข้าข่ายเป๊ะ จนไม่ค่อยแปลกใจว่าทำไมเฮียลีโอถึงปฏิเสธจะเล่นบทนี้), เป็นหนังที่ขายโปรดักชั่น เครื่องแต่งกาย สาขาย่อยต่าง ๆ เพื่อเอาเลขจำนวนรางวัลไปขาย

4) นึกแล้วก็ยังรู้สึกเห็นใจ 'อลัน ทัวริ่ง' ในขณะที่วีรกรรมการอยู่เบื้องหลังชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สองเป็นความลับตลอดอายุขัยของเขา แต่รสนิยมทางเพศที่เป็นเรื่องเสื่อมเสียและผิดกฎหมายของยุคสมัยนั้นกลับถูกเปิดเผยเป็นเรื่องฉาว แม้ในภายหลังเขาจะได้รับการอภัยโทษ แต่นั่นคือการล้างความผิดของเขาคนเดียวทั้งที่ในช่วงเดียวกันยังมีกลุ่มรักร่วมเพศอีกมากที่ถูกตัดสินให้มีความผิด



5) หนังยังไงก็คงเป็นหนัง ถ้าอยากเอาข้อเท็จจริงคงต้องไปดูสารคดีนั่นแหละ จุดที่รู้สึกว่าหนังทำสำเร็จคือการเขียนบทหนังโน้มน้าวให้คนดูเชื่อว่า 'อลัน ทัวริ่ง' มีอาการซึมเศร้าในช่วงกินฮอร์โมนตามคำสั่งของศาล จนเป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตายทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเขายังคงสร้างผลงานได้ต่อเนื่อง (คนหดหู่ซึมเศร้าจะเก่งขนาดนั้นเชียวหรือ) แถมมีความเป็นไปได้ที่การเสียชีวิตจะเป็นอุบัติเหตุเช่นกัน ซึ่งพอผู้กำกับถ่ายทอดออกมาในลักษณนี้จึงอดคิดไม่ได้ว่าเขากำลังใช้ภาพยนตร์สะท้อนความไม่เป็นธรรมที่กลุ่มรักร่วมเพศต้องเผชิญไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน

6) ชอบประเด็นที่พูดถึงอัจฉริยะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากปราศจากการช่วยเหลือจากคนรอบตัว มองตามบทหนังแล้ว 'อลัน ทัวริ่ง' คงล้มเหลวด้วยอุปนิสัยของเขาเป็นแน่ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากคนในทีม ต้องขอบคุณ 'โจน คลาร์ก' (Keira Knightley) ที่พยุงเขาให้ปรับตัวให้เข้ากับการทำงานเป็นทีมเพราะโดยเนื้อแท้แล้วเขาไม่ใช่คนเลวร้ายเพียงแต่นิสัยขี้อายและการพูดตรงไปตรงมาทำให้เข้าถึงตัวตนของเขายาก ซึ่งถ้าทุกที่มีคนที่มองผู้อื่นอย่างเห็นใจเข้าใจแบบคลาร์กก็คงจะดีเพราะทุกวันนี้คนเราตัดสินผู้อื่นด้วยไม้บรรทัดของตัวเองกันทั้งนั้น



7) ค่อนข้างประหลาดใจที่ Keira Knightley ได้เข้าชิงออสการ์กับเขาด้วย ส่วน Benedict Cumberbatch ได้เข้าตามองค์ประกอบล่าออสการ์น่ะแหละ ถ้าถามถึงการแสดงก็ดีตามที่ควรจะเป็นแต่ไม่ได้รู้สึกว้าวอะไร (ปีนี้คนเดียวที่ทำให้ทึ่งยังมีแค่ Marion Cotillard)

8) หนังแอบพูดถึงสถานะของการอยู่เป็นคู่รักได้น่าสนใจเหมือนกัน (ถึงแม้จะไม่ถูกเน้นก็เถอะ) ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าการอยู่เป็นครอบครัวมันไม่จำเป็นต้องประกอบด้วย "พ่อ แม่ ลูก" ตามสังคมส่วนใหญ่ บางทีการที่ชายสองคนรักกันใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมันก็เป็นครอบครัวได้แล้ว ซึ่งพอมองถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 'ทัวริ่ง กับ คลาร์ก' ในหนังมันจึงสื่อออกมาในเชิงว่าไม่จำเป็นต้องมี sex กัน แค่คนสองคนอยู่ด้วยกันเข้าใจกัน ต่างคนต่างทำงานของตัวเองมันก็ดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมสมัยนั้นได้แล้ว

9) ในภาพรวมแล้วเราไม่ได้รู้สึกว่าหนังสุดยอดอะไรขนาดนั้น คุณภาพกลาง ๆ ตามมาตรฐานหนังน่าดูทั่วไป ถึงพลาดไม่ได้ดูตอนนี้ก็ไม่ถึงขั้นต้องมานั่งเสียดายอะไร



Director: Morten Tyldum
book: Andrew Hodges
screenplay: Graham Moore

Genre: biography, drama, war
8/10

หนังโปรดของข้าพเจ้า: https://www.facebook.com/MyFavouriteFilms
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่