เรื่องของค่าลิขสิทธิ์ (๓)
เวลาล่วงมาถึง พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รู้จักอินเตอร์เนต และเวป พันทิป ดอท.คอม.จึงเอาต้นฉบับเรื่องต่าง ๆ ที่เขียนไว้ตั้งแต่เกษียณอายุเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ทยอยลงพิมพ์ในถนนนักเขียน ของห้องสมุด พันทิป เกือบทุกวันติดต่อกันมาครบปี ก็ได้รับการติดต่อจากผู้อ่านคนหนึ่ง ซึ่งเป็น บก.สำนักพิมพ์เปิดใหม่ ว่าสนใจเรื่องต่าง ๆ ของผม อยากจะได้เรื่องอิงพงศาวดารจีน เกี่ยวกับความกตัญญูไปพิมพ์สักเล่มหนึ่ง ผมก็ยินดีตามเคย พิจารณาคัดเลือกเรื่องจาก สามก๊ก ซ้องกั๋ง เปาบุ้นจิ้น และคนดีแผ่นดินซ้อง รวม ๑๗ ตอนลงแผ่นดิสก์เอาไปส่งให้ที่สำนักพิมพ์ ถนนประชาอุทิศ ใกล้กับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ บก.ของสำนักพิมพ์ ที่หกนี้ ก็ได้มาพบที่บ้าน ปรึกษาหารือในการแก้ไขเพิ่มเติม และเรียงเรื่องทั้ง ๑๗ ตอน ให้ชื่อหนังสือว่า บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องอภัย ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใจมาก และใช้นามปากกา เจียวต้าย ซึ่งเป็นชื่อที่ผมใช้ในอินเตอร์เนต แล้วก็ดำเนินการตามกรรมวิธีของโรงพิมพ์ จนสำเร็จเป็นรูปเล่ม ในเดือนมีนาคม เป็นหนังสือหนา ๑๙๐ หน้า ราคา ๑๓๐ บาท จำนวนพิมพ์ ๒๕๐๐ เล่ม ได้ค่าลิขสิทธิ์ ๘ % ของจำนวนพิมพ์ทั้งหมดโดยจ่ายเป็นสองงวด คือ เดือนเมษายน และมิถุนายน ได้มอบหนังสือให้ ๕ เล่ม แต่คราวนี้ขอซื้อลด ๔๐ % เพิ่มอีก ๔๐ เล่ม เพราะจะเอาไปแจกวันเกิดเพื่อนและผู้เคารพนับถือตลอดปีเลย
พอถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ ได้รับการติดต่อจาก บก.สำนักพิมพ์ ที่พิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อครั้งแรกว่า เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ที่เคยฝากไว้ที่เขานั้น เอาไปพิมพ์ที่อื่นแล้วหรือยัง ถ้ายังเขาสนใจจะพิมพ์ ให้เอาต้นฉบับลงแผ่นดิสก์ไปให้เขาดำเนินการ
คงไม่ใช่การบังเอิญ ที่ขณะนั้นทางโทรทัศน์ได้นำเรื่องเปาบุ้นจิ้น ตัดสินคดีต่าง ๆ เป็นเรื่องสั้น ๆ มาฉายติดต่อกันอยู่ตลอดสัปดาห์ ทางสำนักพิมพ์จึงสนใจจะพิมพ์เรื่องของผม เพราะเป็นการตัดสินคดีต่าง ๆ รวม ๓๓ คดี จากจำนวนทั้งหมดประมาณ ๗๐ เรื่อง ให้ชื่อว่า เปาบุ้นจิ้น...ผู้ทรงความยุติธรรม แม้ผมได้ดูทางโทรทัศน์แล้วเห็นว่า เขาเอาไปดัดแปลงเสียจนแทบจะเป็นคนละเรื่อง ส่วนของผมเป็นเรื่องโบราณ แต่ก็น่าจะมีคนสนใจบ้าง หนังสือเล่มนี้จึงเสร็จอย่างรวดเร็วในเดือนสิงหาคม หนา ๑๗๖ หน้า ราคา ๑๒๐ บาท จำนวนพิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม ได้ค่าลิขสิทธิ์ ๑๐ % ตามจำนวนที่พิมพ์ แต่จะจ่ายเงินทั้งหมด อีก ๑๒๐ วัน นับจากนี้ ส่วนสัญญาได้เซ็นย้อนหลังไปเมื่อเดือนสิงหาคม และสุดท้ายก็ได้รับเช็คเมื่อมกราคม ๒๕๕๐
อีก ๖ ปี หลังจากที่ได้นำเรื่องในสต็อค มาวางในเวปพันทิปจนหมดสิ้น และไม่มีเรื่องใหม่มาเพิ่มเติม เพราะหมดกำลังที่จะเขียน มีแต่เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดเวลา ก็ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๖
และได้ไปรับรางวัลอันมีเกียรตินี้เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗ นับเป็นรางวัลที่น่าปลื้มใจเป็นที่สุด สำหรับนักเขียนที่ไม่เคยขึ้นชื่อในสมาคมนี้มาก่อนเลย แม้จะได้เขียนหนังสือมา ๖๐ ปีเต็ม และกำลังจะวางมือแล้ว
หลังจากนั้น เวปไทยสามก๊ก ซึ่งเคยขออนุญาตนำสามก๊กของ"เล่าเซี่ยงชุน" ไปวางให้สมาชิกอ่านติดต่อกันมา ได้กรุณาแนะนำสำนักพิมพ์ที่เจ็ด ให้จัดพิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ซ้ำเป็นครั้งที่สอง ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็ยินดีที่จะดำเนินการ ได้มาติดต่อขอต้นฉบับ และปรึกษาหารือการดำเนินการโดยละเอียด
สรุปว่าสามก๊กฉบับลิ่วล้อพิมพ์ครั้งแรกมีสามชุด คราวนี้จะเอาชุดที่ ๑ กับชุดที่ ๒ มารวมกัน เป็นเล่ม ๑ แล้วเอาชุดที่ ๓ กับงานที่เขียนขึ้นภายหลัง มาพิมพ์เป็นเล่มที่ ๒ แล้วเอา ปกิณกะสามก๊ก ทั้งเก่า ๒๐ ตอน กับใหม่อีก ๒๐ กว่าตอน พิมพ์เป็นเล่มที่ ๓ ตามลำดับ
การดำเนินกรรมวิธีผลิตหนังสือเล่มที่ ๑ ซึ่งทางเวปไทยสามก๊ก ได้ร่วมมือในการเขียนภาพประกอบ เสร็จสิ้นลงเมื่อ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นหนังสือหนา ๔๙๓ หน้า ราคาปก เล่มละ ๓๑๕ บาท จำนวนพิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม ส่วนผมเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็จะได้รับค่าตอบแทน ๑๐ % ของราคาหน้าปกเช่นเดิม
ส่วนเล่มที่ ๒ ซึ่งเป็นการรวบรวมสามก๊ก ฉบับอัศวิน ฮูหยิน และฮ่องเต้ ทั้งของเก่าและใหม่ ก็จะเป็นหนังสือขนาดเดียวกัน ราคาใกล้เคียงกัน จำนวนพิมพ์เท่าเดิม และผมก็จะได้ค่าตอบแทนอัตราเดิม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเป็นรูปเล่ม ก่อน เมษายน ๒๕๕๘
และหลังจากนั้น จึงจะได้ดำเนินการจัดพิมพ์ ปกิณกะสามก็ก เป็นเล่มที่ ๓ ต่อไปในปลายปี ๒๕๕๘
ซึ่งคงจะเป็นโอกาสสุดท้าย ของนักเขียนผู้ชราภาพ จะได้รับผลประโยชน์จากการเขียนหนังสือมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ จนมีอายุได้ ๘๔ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘
ทั้งหมดที่ได้เล่ามาอย่างละเอียดนั้น นักเขียนท่านอื่นอาจจะเห็นว่าไม่สำคัญ แต่สำหรับผมที่มีความรู้น้อย และไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้พิมพ์หนังสือกว่าสิบเล่ม จากห้าสำนักพิมพ์ ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก และจะจดจำความกรุณาของสำนักพิมพ์ที่เล่ามาแล้วไว้อย่างไม่รู้ลืม
เจตนาที่เล่าเรื่องนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงรายละเอียด ของการติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับนักเขียนน้องใหม่ที่มาทีหลัง และมีปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จะได้ทราบเป็นเลา ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจตกลงกับสำนักพิมพ์ใด ๆ ซึ่งถ้าเราเปิดใจให้กว้าง และเห็นใจฝ่ายที่เขาลงทุนเป็นเงินไม่ใช่น้อย ที่ต้องเสี่ยงอยู่ตลอดระยะเวลาตามสัญญา หรือตลอดไปแล้ว เราก็จะเจรจากันด้วยไมตรีจิตมิตรสัมพันธ์ ไม่ต้องขุ่นมัวในหัวใจต่อไป
สำหรับผมคงจะไม่มีปัญหาพรรค์อย่างนี้แล้ว เพราะเรื่องที่เหลืออยู่ คงไม่เป็นที่ต้องการของสำนักพิมพ์ไหนอีกแล้ว นอกจากทายาทจะพิมพ์ไว้แจก เป็นที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ ในอนาคตเท่านั้นครับ.
############
เรื่องของค่าลิขสิทธิ์ (๓) ๑๐ ม.ค.๕๘
เวลาล่วงมาถึง พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รู้จักอินเตอร์เนต และเวป พันทิป ดอท.คอม.จึงเอาต้นฉบับเรื่องต่าง ๆ ที่เขียนไว้ตั้งแต่เกษียณอายุเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ทยอยลงพิมพ์ในถนนนักเขียน ของห้องสมุด พันทิป เกือบทุกวันติดต่อกันมาครบปี ก็ได้รับการติดต่อจากผู้อ่านคนหนึ่ง ซึ่งเป็น บก.สำนักพิมพ์เปิดใหม่ ว่าสนใจเรื่องต่าง ๆ ของผม อยากจะได้เรื่องอิงพงศาวดารจีน เกี่ยวกับความกตัญญูไปพิมพ์สักเล่มหนึ่ง ผมก็ยินดีตามเคย พิจารณาคัดเลือกเรื่องจาก สามก๊ก ซ้องกั๋ง เปาบุ้นจิ้น และคนดีแผ่นดินซ้อง รวม ๑๗ ตอนลงแผ่นดิสก์เอาไปส่งให้ที่สำนักพิมพ์ ถนนประชาอุทิศ ใกล้กับมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ บก.ของสำนักพิมพ์ ที่หกนี้ ก็ได้มาพบที่บ้าน ปรึกษาหารือในการแก้ไขเพิ่มเติม และเรียงเรื่องทั้ง ๑๗ ตอน ให้ชื่อหนังสือว่า บุญคุณต้องทดแทนความแค้นต้องอภัย ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใจมาก และใช้นามปากกา เจียวต้าย ซึ่งเป็นชื่อที่ผมใช้ในอินเตอร์เนต แล้วก็ดำเนินการตามกรรมวิธีของโรงพิมพ์ จนสำเร็จเป็นรูปเล่ม ในเดือนมีนาคม เป็นหนังสือหนา ๑๙๐ หน้า ราคา ๑๓๐ บาท จำนวนพิมพ์ ๒๕๐๐ เล่ม ได้ค่าลิขสิทธิ์ ๘ % ของจำนวนพิมพ์ทั้งหมดโดยจ่ายเป็นสองงวด คือ เดือนเมษายน และมิถุนายน ได้มอบหนังสือให้ ๕ เล่ม แต่คราวนี้ขอซื้อลด ๔๐ % เพิ่มอีก ๔๐ เล่ม เพราะจะเอาไปแจกวันเกิดเพื่อนและผู้เคารพนับถือตลอดปีเลย
พอถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ ได้รับการติดต่อจาก บก.สำนักพิมพ์ ที่พิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อครั้งแรกว่า เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ที่เคยฝากไว้ที่เขานั้น เอาไปพิมพ์ที่อื่นแล้วหรือยัง ถ้ายังเขาสนใจจะพิมพ์ ให้เอาต้นฉบับลงแผ่นดิสก์ไปให้เขาดำเนินการ
คงไม่ใช่การบังเอิญ ที่ขณะนั้นทางโทรทัศน์ได้นำเรื่องเปาบุ้นจิ้น ตัดสินคดีต่าง ๆ เป็นเรื่องสั้น ๆ มาฉายติดต่อกันอยู่ตลอดสัปดาห์ ทางสำนักพิมพ์จึงสนใจจะพิมพ์เรื่องของผม เพราะเป็นการตัดสินคดีต่าง ๆ รวม ๓๓ คดี จากจำนวนทั้งหมดประมาณ ๗๐ เรื่อง ให้ชื่อว่า เปาบุ้นจิ้น...ผู้ทรงความยุติธรรม แม้ผมได้ดูทางโทรทัศน์แล้วเห็นว่า เขาเอาไปดัดแปลงเสียจนแทบจะเป็นคนละเรื่อง ส่วนของผมเป็นเรื่องโบราณ แต่ก็น่าจะมีคนสนใจบ้าง หนังสือเล่มนี้จึงเสร็จอย่างรวดเร็วในเดือนสิงหาคม หนา ๑๗๖ หน้า ราคา ๑๒๐ บาท จำนวนพิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม ได้ค่าลิขสิทธิ์ ๑๐ % ตามจำนวนที่พิมพ์ แต่จะจ่ายเงินทั้งหมด อีก ๑๒๐ วัน นับจากนี้ ส่วนสัญญาได้เซ็นย้อนหลังไปเมื่อเดือนสิงหาคม และสุดท้ายก็ได้รับเช็คเมื่อมกราคม ๒๕๕๐
อีก ๖ ปี หลังจากที่ได้นำเรื่องในสต็อค มาวางในเวปพันทิปจนหมดสิ้น และไม่มีเรื่องใหม่มาเพิ่มเติม เพราะหมดกำลังที่จะเขียน มีแต่เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดเวลา ก็ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๖
และได้ไปรับรางวัลอันมีเกียรตินี้เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๗ นับเป็นรางวัลที่น่าปลื้มใจเป็นที่สุด สำหรับนักเขียนที่ไม่เคยขึ้นชื่อในสมาคมนี้มาก่อนเลย แม้จะได้เขียนหนังสือมา ๖๐ ปีเต็ม และกำลังจะวางมือแล้ว
หลังจากนั้น เวปไทยสามก๊ก ซึ่งเคยขออนุญาตนำสามก๊กของ"เล่าเซี่ยงชุน" ไปวางให้สมาชิกอ่านติดต่อกันมา ได้กรุณาแนะนำสำนักพิมพ์ที่เจ็ด ให้จัดพิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ซ้ำเป็นครั้งที่สอง ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็ยินดีที่จะดำเนินการ ได้มาติดต่อขอต้นฉบับ และปรึกษาหารือการดำเนินการโดยละเอียด
สรุปว่าสามก๊กฉบับลิ่วล้อพิมพ์ครั้งแรกมีสามชุด คราวนี้จะเอาชุดที่ ๑ กับชุดที่ ๒ มารวมกัน เป็นเล่ม ๑ แล้วเอาชุดที่ ๓ กับงานที่เขียนขึ้นภายหลัง มาพิมพ์เป็นเล่มที่ ๒ แล้วเอา ปกิณกะสามก๊ก ทั้งเก่า ๒๐ ตอน กับใหม่อีก ๒๐ กว่าตอน พิมพ์เป็นเล่มที่ ๓ ตามลำดับ
การดำเนินกรรมวิธีผลิตหนังสือเล่มที่ ๑ ซึ่งทางเวปไทยสามก๊ก ได้ร่วมมือในการเขียนภาพประกอบ เสร็จสิ้นลงเมื่อ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นหนังสือหนา ๔๙๓ หน้า ราคาปก เล่มละ ๓๑๕ บาท จำนวนพิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม ส่วนผมเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็จะได้รับค่าตอบแทน ๑๐ % ของราคาหน้าปกเช่นเดิม
ส่วนเล่มที่ ๒ ซึ่งเป็นการรวบรวมสามก๊ก ฉบับอัศวิน ฮูหยิน และฮ่องเต้ ทั้งของเก่าและใหม่ ก็จะเป็นหนังสือขนาดเดียวกัน ราคาใกล้เคียงกัน จำนวนพิมพ์เท่าเดิม และผมก็จะได้ค่าตอบแทนอัตราเดิม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเป็นรูปเล่ม ก่อน เมษายน ๒๕๕๘
และหลังจากนั้น จึงจะได้ดำเนินการจัดพิมพ์ ปกิณกะสามก็ก เป็นเล่มที่ ๓ ต่อไปในปลายปี ๒๕๕๘
ซึ่งคงจะเป็นโอกาสสุดท้าย ของนักเขียนผู้ชราภาพ จะได้รับผลประโยชน์จากการเขียนหนังสือมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ จนมีอายุได้ ๘๔ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘
ทั้งหมดที่ได้เล่ามาอย่างละเอียดนั้น นักเขียนท่านอื่นอาจจะเห็นว่าไม่สำคัญ แต่สำหรับผมที่มีความรู้น้อย และไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้พิมพ์หนังสือกว่าสิบเล่ม จากห้าสำนักพิมพ์ ก็ต้องนับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก และจะจดจำความกรุณาของสำนักพิมพ์ที่เล่ามาแล้วไว้อย่างไม่รู้ลืม
เจตนาที่เล่าเรื่องนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงรายละเอียด ของการติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับนักเขียนน้องใหม่ที่มาทีหลัง และมีปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ จะได้ทราบเป็นเลา ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจตกลงกับสำนักพิมพ์ใด ๆ ซึ่งถ้าเราเปิดใจให้กว้าง และเห็นใจฝ่ายที่เขาลงทุนเป็นเงินไม่ใช่น้อย ที่ต้องเสี่ยงอยู่ตลอดระยะเวลาตามสัญญา หรือตลอดไปแล้ว เราก็จะเจรจากันด้วยไมตรีจิตมิตรสัมพันธ์ ไม่ต้องขุ่นมัวในหัวใจต่อไป
สำหรับผมคงจะไม่มีปัญหาพรรค์อย่างนี้แล้ว เพราะเรื่องที่เหลืออยู่ คงไม่เป็นที่ต้องการของสำนักพิมพ์ไหนอีกแล้ว นอกจากทายาทจะพิมพ์ไว้แจก เป็นที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ ในอนาคตเท่านั้นครับ.
############