บันทึกของคนเดินเท้า
เรื่องของค่าลิขสิทธิ์
เทพารักษ์
เป็นเวลาไม่กี่ปีที่ผมได้เข้ามาวนเวียนอยู่ในถนนนักเขียน ของห้องสมุดพันทิป ด้วยการเอาเรื่องสั้นมาวางให้เพื่อนนักอ่านและนักเขียน ได้พิจารณาติชมหรือออกความเห็นแนะนำชี้แจง และในขณะ เดียวกันก็ได้ศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่วางในกระทู้ของถนนนี้ ซึ่งได้รับความรู้ความคิด เพิ่มเติมจากสมัยที่เขียนแล้วอ่านคนเดียวเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นอันมาก
แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาอยู่เนือง ๆ ก็คือเรื่องค่าลิขสิทธิ์ของผลงาน ที่มีการขัดแย้งระหว่างผู้เขียนกับสำนักพิมพ์อยู่หลายราย เป็นระยะ ๆ ซึ่งต่างกับสมัยก่อน ที่ทางสำนักพิมพ์หรือบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จะมีสิทธิ์ขาดในการตัดสินว่า เรื่องใดควรจะได้รับหรือไม่ได้รับค่าเรื่อง และเป็นจำนวนเท่าใด ไม่เห็นมีใครขัดข้องร้องทุกข์แต่ประการใด หรือมีแต่ผมไม่ทราบก็อาจเป็นได้
เมื่อผมอยู่มาถึงสมัยนี้ และยังเขียนหนังสือส่งไปตามสำนักต่าง ๆ ก็ได้รับทราบถึงเรื่องค่าลิขสิทธิ์มากขึ้นพอสมควร ทั้ง ๆ ที่ผมสนใจน้อยกว่าการได้ลงพิมพ์ให้ผู้คนได้อ่านก็ตาม
เรื่องของผมส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น มีความยาวตอนละ ๔-๕ หน้า เมื่อส่งให้วารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ จะได้ค่าเรื่องประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ตลอดเวลาสิบปีหลังเกษียณอายุราชการ ที่มีการเขียนหนังสือเป็นอาชีพหลัก เมื่อขยายวงออกไปนอกรั้วของทหาร จึงได้ค่าเรื่องเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ ๘๐๐ – ๑๕๐๐ ถึง ๒๐๐๐ บาท แต่ก็น้อยรายนัก จนกระทั่งมีเรื่องเป็นร้อยตอน จึงคิดอยากจะรวมเล่มกับเขาบ้าง
เรื่องนั้นก็คือ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ซึ่งเรียบเรียงมาจากนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง สามก๊ก ของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) วรรณคดีไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในนามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” โดยเอามาแยกเป็นตอนสั้น ๆ ส่งไปลงพิมพ์ในวารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบก ได้หลายสิบตอนแล้ว และหลังจากที่เพื่อนของลูกชาย ได้ช่วยเอาไปส่งให้สำนักพิมพ์ที่เขารู้จักสองแห่ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ –๒๕๓๗ แต่ไม่สำเร็จเพราะเขาเลิกกิจการทั้งคู่ จึงได้ลองส่งเองดูบ้าง
สำนักพิมพ์แรก มีชื่อเสียงในการพิมพ์เรื่องจีน ผมก็สำเนาต้นฉบับปึกใหญ่ ส่งไปทางไปรษณีย์ แต่รออยู่หนึ่งปีจึงโทรศัพท์ไปถามข่าว ก็ได้ความว่าพิจารณาแล้วเห็นว่า ทางสำนักพิมพ์ได้พิมพ์สามก๊กไปหลายสำนวนแล้ว จึงรอไว้ก่อน ผมก็ขอต้นฉบับคืน เอาไปส่งให้สำนักพิมพ์แห่งที่สอง ซึ่งยินดีรับไว้พิจารณา และขอปรึกษาในรายละเอียด ผมจึงไปหาบรรณาธิการด้วยตนเองถึงสำนักงาน เธอเป็นสุภาพสตรีให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้พูดคุยกันในรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะประกอบขึ้นเป็นรูปเล่ม และบอกว่าจะเอาเข้าคิวไว้ก่อน และได้มอบสามก๊กฉบับต่าง ๆ ที่เคยพิมพ์มาแล้ว ให้ผมมาเป็นกำลังใจ แต่ก็รออยู่เป็นปี ติดต่อไปก็รับว่าจะดำเนินการทุกครั้ง สุดท้ายได้ความว่า การเงินกำลังแย่เพราะมีหนี้สินมากมาย ต้องระงับการพิมพ์เรื่องใหม่ไว้สักพักหนึ่งก่อน
ขณะนั้นเป็น พ.ศ.๒๕๔๐ ประมาณเดือนเมษายน ผมก็ส่งต้นฉบับสามก๊กฉบับลิ่วล้อ ที่มีเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นจำนวน ร่วมร้อยตอน ไปให้สำนักพิมพ์ที่สามทางไปรษณีย์เช่นเคย แต่คราวนี้รีบติดตามถามข่าว ปรากฏว่า บก.อ่านแล้วน่าสนใจ จึงเสนอให้ผู้อำนวยการบริษัทพิจารณา ก็ได้รับการอนุมัติให้พิมพ์ได้ ซึ่งทางโรงพิมพ์จะได้ดำเนินกรรมวิธีต่อไป
ผมก็รอด้วยความอดทน จนกระทั่งทางโทรทัศน์ได้นำภาพยนตร์เรื่องสามก๊กฉบับสมบูรณ์ ซึ่งสร้างจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มาฉายติดต่อกัน ทางสำนักพิมพ์งเรียกผมไปเซ็นสัญญา อนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์วรรณกรรมเมื่อ เดือนกันยายน ๒๕๔๐ ที่สำนักงานแถวสะพานอรุณอัมรินทร์ และเร่งดำเนินการเรียงพิมพ์ส่งให้ผมตรวจปรู๊ฟครั้งแรกและครั้งที่สอง รวมทั้งการแบ่งตอนเป็นสามชุด พร้อมด้วยภาพประกอบ และภาพปกอย่างรีบด่วน จนสำเร็จเป็นหนังสือขนาด พ็อคเก็ตบุคส์ ๓ เล่ม ความหนาประมาณเล่มละ ๒๐๐ หน้า จำนวนพิมพ์ชุดละ ๓๐๐๐ เล่ม ราคาขายเล่มละ ๑๔๐ บาท ทั้งสามชุด ๔๒๐ บาท เมื่อเดือนตุลาคม
แล้วผมก็ได้รับเช็คค่าเรื่อง เป็นเงินสิบเปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าปก เต็มตามจำนวนพิมพ์ทั้งหมด ในเดือนพฤศจิกายน โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม และได้มอบหนังสือให้ผมชุดละ ๑๐ เล่ม แต่ไม่พอสำหรับแจกจ่าย แก่ผู้ที่ผมเคารพนับถือและเพื่อนสนิท ด้วยความเห่อ จนต้องซื้อเพิ่มอีกหลายครั้งรวมหลายสิบเล่ม ด้วยราคาลด ๒๕ %
ผมมีโอกาสได้ชื่นชมความสำเร็จครั้งแรกในชีวิต ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจอยู่ถึงห้าปี สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เรื่องสามก๊กฉบับลิ่วล้อจึงสิ้นสุดลง แต่ผมได้ส่งต้นฉบับเรื่อง ซ้องกั๋ง..ขุนโจรแห่งเขาเนียซัวเปาะ ซึ่งเริ่มเรียบเรียงตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๘ ไปให้สำนักพิมพ์ที่สามนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ แล้ว พร้อมกับทยอยส่งไปลงพิมพ์ในนิตยสารโล่เงิน ของวงการตำรวจจนจบเรื่องเมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ อีกสองปีต่อมาคือ พ.ศ.๒๕๔๔ จึงได้รับโทรศัพท์จาก บก.เมื่อเดือนมกราคม ว่าจะเริ่มดำเนินการพิมพ์ คราวนี้ให้ส่งแผ่นดิสก์สำเนาต้นฉบับทั้งหมดไปให้ตรวจแก้ด้วย
ผมก็รีบเอาแผ่นดิสก์ขนาดสามนิ้วไปส่งด้วยตนเอง และรับเอาดัมมี่หนังสือที่จัดหน้าแล้ว มาตรวจปรู๊ฟสองครั้งจนเรียบร้อยเป็นหนังสือหนากว่าสี่ร้อยหน้า แต่คราวนี้เขาไม่แบ่งเป็นสองเล่ม เพราะได้บทเรียนจากคราวที่แล้วว่า หนังสือขายได้ไม่เท่ากัน ชุดที่หนึ่งหมดไปก่อน เหลือแต่ชุดที่สองและสาม คราวนี้จึงพิมพ์เล่มเดียว และบังเอิญอีกที่มีภาพยนตร์จากแผ่นดินใหญ่เรื่อง ซ้องกั๋ง...วีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันเข้ามาฉายทางโทรทัศน์ในเมืองไทย ตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์ หลังจากที่เคยมีมาฉายเป็นส่วน ๆ มาแล้วหลายครั้ง บก.จึงขอใช้ชื่อตามชื่อภาพยนตร์ ผมก็ไม่ขัดข้องและต้องมี หมายเหตุแปลงชื่อตัวละครในหนังสือ ให้ตรงกับชื่อภาษาจีนกลางในภาพยนตร์ด้วย และสุดท้ายได้เซ็นสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์วรรณกรรมเรื่องนี้ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๔
ซ้องกั๋ง...วีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน ของ “เล่าเซี่ยงชุน” จึงสำเร็จเป็นพ็อคเก็ตบุคส์เล่มหนา ราคาหน้าปก ๑๙๘ บาท จำนวนพิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔ แล้วผมก็ได้รับเช็คค่าเรื่องเป็นใบที่สอง มูลค่าสิบเปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าปก เต็มตามจำนวนที่พิมพ์โดยไม่มีข้อแม้เพิ่มเติมเช่นเคย แต่คราวนี้หายเห่อแล้วจึงขอซื้อราคาผู้เขียนสำหรับแจกเพียงยี่สิบเล่มเท่านั้น
***************
พฤษภาคม ๒๕๕๐
ยังมีต่อครับ.
เรื่องของค่าลิขสิทธิ์ ๘ ม.ค.๕๘
เรื่องของค่าลิขสิทธิ์
เทพารักษ์
เป็นเวลาไม่กี่ปีที่ผมได้เข้ามาวนเวียนอยู่ในถนนนักเขียน ของห้องสมุดพันทิป ด้วยการเอาเรื่องสั้นมาวางให้เพื่อนนักอ่านและนักเขียน ได้พิจารณาติชมหรือออกความเห็นแนะนำชี้แจง และในขณะ เดียวกันก็ได้ศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่วางในกระทู้ของถนนนี้ ซึ่งได้รับความรู้ความคิด เพิ่มเติมจากสมัยที่เขียนแล้วอ่านคนเดียวเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นอันมาก
แต่เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาอยู่เนือง ๆ ก็คือเรื่องค่าลิขสิทธิ์ของผลงาน ที่มีการขัดแย้งระหว่างผู้เขียนกับสำนักพิมพ์อยู่หลายราย เป็นระยะ ๆ ซึ่งต่างกับสมัยก่อน ที่ทางสำนักพิมพ์หรือบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จะมีสิทธิ์ขาดในการตัดสินว่า เรื่องใดควรจะได้รับหรือไม่ได้รับค่าเรื่อง และเป็นจำนวนเท่าใด ไม่เห็นมีใครขัดข้องร้องทุกข์แต่ประการใด หรือมีแต่ผมไม่ทราบก็อาจเป็นได้
เมื่อผมอยู่มาถึงสมัยนี้ และยังเขียนหนังสือส่งไปตามสำนักต่าง ๆ ก็ได้รับทราบถึงเรื่องค่าลิขสิทธิ์มากขึ้นพอสมควร ทั้ง ๆ ที่ผมสนใจน้อยกว่าการได้ลงพิมพ์ให้ผู้คนได้อ่านก็ตาม
เรื่องของผมส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น มีความยาวตอนละ ๔-๕ หน้า เมื่อส่งให้วารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ จะได้ค่าเรื่องประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ตลอดเวลาสิบปีหลังเกษียณอายุราชการ ที่มีการเขียนหนังสือเป็นอาชีพหลัก เมื่อขยายวงออกไปนอกรั้วของทหาร จึงได้ค่าเรื่องเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ ๘๐๐ – ๑๕๐๐ ถึง ๒๐๐๐ บาท แต่ก็น้อยรายนัก จนกระทั่งมีเรื่องเป็นร้อยตอน จึงคิดอยากจะรวมเล่มกับเขาบ้าง
เรื่องนั้นก็คือ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ซึ่งเรียบเรียงมาจากนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง สามก๊ก ของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) วรรณคดีไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในนามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” โดยเอามาแยกเป็นตอนสั้น ๆ ส่งไปลงพิมพ์ในวารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบก ได้หลายสิบตอนแล้ว และหลังจากที่เพื่อนของลูกชาย ได้ช่วยเอาไปส่งให้สำนักพิมพ์ที่เขารู้จักสองแห่ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ –๒๕๓๗ แต่ไม่สำเร็จเพราะเขาเลิกกิจการทั้งคู่ จึงได้ลองส่งเองดูบ้าง
สำนักพิมพ์แรก มีชื่อเสียงในการพิมพ์เรื่องจีน ผมก็สำเนาต้นฉบับปึกใหญ่ ส่งไปทางไปรษณีย์ แต่รออยู่หนึ่งปีจึงโทรศัพท์ไปถามข่าว ก็ได้ความว่าพิจารณาแล้วเห็นว่า ทางสำนักพิมพ์ได้พิมพ์สามก๊กไปหลายสำนวนแล้ว จึงรอไว้ก่อน ผมก็ขอต้นฉบับคืน เอาไปส่งให้สำนักพิมพ์แห่งที่สอง ซึ่งยินดีรับไว้พิจารณา และขอปรึกษาในรายละเอียด ผมจึงไปหาบรรณาธิการด้วยตนเองถึงสำนักงาน เธอเป็นสุภาพสตรีให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้พูดคุยกันในรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะประกอบขึ้นเป็นรูปเล่ม และบอกว่าจะเอาเข้าคิวไว้ก่อน และได้มอบสามก๊กฉบับต่าง ๆ ที่เคยพิมพ์มาแล้ว ให้ผมมาเป็นกำลังใจ แต่ก็รออยู่เป็นปี ติดต่อไปก็รับว่าจะดำเนินการทุกครั้ง สุดท้ายได้ความว่า การเงินกำลังแย่เพราะมีหนี้สินมากมาย ต้องระงับการพิมพ์เรื่องใหม่ไว้สักพักหนึ่งก่อน
ขณะนั้นเป็น พ.ศ.๒๕๔๐ ประมาณเดือนเมษายน ผมก็ส่งต้นฉบับสามก๊กฉบับลิ่วล้อ ที่มีเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นจำนวน ร่วมร้อยตอน ไปให้สำนักพิมพ์ที่สามทางไปรษณีย์เช่นเคย แต่คราวนี้รีบติดตามถามข่าว ปรากฏว่า บก.อ่านแล้วน่าสนใจ จึงเสนอให้ผู้อำนวยการบริษัทพิจารณา ก็ได้รับการอนุมัติให้พิมพ์ได้ ซึ่งทางโรงพิมพ์จะได้ดำเนินกรรมวิธีต่อไป
ผมก็รอด้วยความอดทน จนกระทั่งทางโทรทัศน์ได้นำภาพยนตร์เรื่องสามก๊กฉบับสมบูรณ์ ซึ่งสร้างจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ มาฉายติดต่อกัน ทางสำนักพิมพ์งเรียกผมไปเซ็นสัญญา อนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์วรรณกรรมเมื่อ เดือนกันยายน ๒๕๔๐ ที่สำนักงานแถวสะพานอรุณอัมรินทร์ และเร่งดำเนินการเรียงพิมพ์ส่งให้ผมตรวจปรู๊ฟครั้งแรกและครั้งที่สอง รวมทั้งการแบ่งตอนเป็นสามชุด พร้อมด้วยภาพประกอบ และภาพปกอย่างรีบด่วน จนสำเร็จเป็นหนังสือขนาด พ็อคเก็ตบุคส์ ๓ เล่ม ความหนาประมาณเล่มละ ๒๐๐ หน้า จำนวนพิมพ์ชุดละ ๓๐๐๐ เล่ม ราคาขายเล่มละ ๑๔๐ บาท ทั้งสามชุด ๔๒๐ บาท เมื่อเดือนตุลาคม
แล้วผมก็ได้รับเช็คค่าเรื่อง เป็นเงินสิบเปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าปก เต็มตามจำนวนพิมพ์ทั้งหมด ในเดือนพฤศจิกายน โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม และได้มอบหนังสือให้ผมชุดละ ๑๐ เล่ม แต่ไม่พอสำหรับแจกจ่าย แก่ผู้ที่ผมเคารพนับถือและเพื่อนสนิท ด้วยความเห่อ จนต้องซื้อเพิ่มอีกหลายครั้งรวมหลายสิบเล่ม ด้วยราคาลด ๒๕ %
ผมมีโอกาสได้ชื่นชมความสำเร็จครั้งแรกในชีวิต ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจอยู่ถึงห้าปี สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เรื่องสามก๊กฉบับลิ่วล้อจึงสิ้นสุดลง แต่ผมได้ส่งต้นฉบับเรื่อง ซ้องกั๋ง..ขุนโจรแห่งเขาเนียซัวเปาะ ซึ่งเริ่มเรียบเรียงตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๘ ไปให้สำนักพิมพ์ที่สามนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ แล้ว พร้อมกับทยอยส่งไปลงพิมพ์ในนิตยสารโล่เงิน ของวงการตำรวจจนจบเรื่องเมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ อีกสองปีต่อมาคือ พ.ศ.๒๕๔๔ จึงได้รับโทรศัพท์จาก บก.เมื่อเดือนมกราคม ว่าจะเริ่มดำเนินการพิมพ์ คราวนี้ให้ส่งแผ่นดิสก์สำเนาต้นฉบับทั้งหมดไปให้ตรวจแก้ด้วย
ผมก็รีบเอาแผ่นดิสก์ขนาดสามนิ้วไปส่งด้วยตนเอง และรับเอาดัมมี่หนังสือที่จัดหน้าแล้ว มาตรวจปรู๊ฟสองครั้งจนเรียบร้อยเป็นหนังสือหนากว่าสี่ร้อยหน้า แต่คราวนี้เขาไม่แบ่งเป็นสองเล่ม เพราะได้บทเรียนจากคราวที่แล้วว่า หนังสือขายได้ไม่เท่ากัน ชุดที่หนึ่งหมดไปก่อน เหลือแต่ชุดที่สองและสาม คราวนี้จึงพิมพ์เล่มเดียว และบังเอิญอีกที่มีภาพยนตร์จากแผ่นดินใหญ่เรื่อง ซ้องกั๋ง...วีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันเข้ามาฉายทางโทรทัศน์ในเมืองไทย ตั้งแต่ต้นจนจบบริบูรณ์ หลังจากที่เคยมีมาฉายเป็นส่วน ๆ มาแล้วหลายครั้ง บก.จึงขอใช้ชื่อตามชื่อภาพยนตร์ ผมก็ไม่ขัดข้องและต้องมี หมายเหตุแปลงชื่อตัวละครในหนังสือ ให้ตรงกับชื่อภาษาจีนกลางในภาพยนตร์ด้วย และสุดท้ายได้เซ็นสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์วรรณกรรมเรื่องนี้ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๔
ซ้องกั๋ง...วีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน ของ “เล่าเซี่ยงชุน” จึงสำเร็จเป็นพ็อคเก็ตบุคส์เล่มหนา ราคาหน้าปก ๑๙๘ บาท จำนวนพิมพ์ ๓๐๐๐ เล่ม ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๔ แล้วผมก็ได้รับเช็คค่าเรื่องเป็นใบที่สอง มูลค่าสิบเปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าปก เต็มตามจำนวนที่พิมพ์โดยไม่มีข้อแม้เพิ่มเติมเช่นเคย แต่คราวนี้หายเห่อแล้วจึงขอซื้อราคาผู้เขียนสำหรับแจกเพียงยี่สิบเล่มเท่านั้น
***************
พฤษภาคม ๒๕๕๐
ยังมีต่อครับ.