ครั้งแรกของไทย ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา (แหล่งข่าวจากคณะแพทย์ฯ ศิริราช)

http://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnews_detail.asp?hn_id=1640

ครั้งแรกของไทย ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา

วันนี้ (2 ต.ค.57) เวลา 10.00 น. ศ.คลินิก นพ.อุดม  คชินทร  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ม.มหิดล   เป็นประธานการแถลงข่าว "ครั้งแรกของไทย  ศิริราชผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา" ร่วมกับ รศ.นพ.สุโรจน์  ศุภเวคิน   รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช  รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย  กีรติสิน หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา ผศ.พญ. ณสิกาญจน์ อังคเศกวินัย และอ.นพ.สุสัณห์ อาศนะเสน สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศ.ดร.พญ.รวงผึ้ง  สุทเธนทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย  และ ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ  ชัยคำภา  หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา  ณ ห้องราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 รพ.ศิริราช

        ศ.คลินิก นพ.อุดม  คชินทร  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทีมนักวิจัยของเราได้ทำการศึกษาค้นคว้าหาทางรักษามาโดยตลอด ในที่สุดเราสามารถผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีใหม่แบบครบวงจร ทำให้เกิดความรู้ใหม่ที่ลึกซึ้งและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้บริการรักษาที่มีคุณภาพ  ได้มาตรฐานสากล รวมถึงศิริราชยังมีศักยภาพในการวินิจฉัยไวรัสอีโบลาอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะฯ   ที่เป็นสถาบันการ แพทย์ของแผ่นดิน มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศระดับสากล สามารถให้บริการรักษาระดับมาตรฐานโลก และสร้างเครือข่ายการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคซับซ้อนอย่างครบวงจร ที่สำคัญคนศิริราชมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากรูปธรรมที่เกิดขึ้น  ปีนี้เราได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ครั้งที่ 4 ตามมาตรฐานการเยี่ยมสำรวจขั้นก้าวหน้า ที่เรียกว่า “Advance HA”  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองฯ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและเป็นเครื่องยืนยันว่า เราจะก้าวต่อไปเพื่อนำพาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ของแผ่นดินมุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับสากล ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา  

        ศ.เกียรติคุณ ดร.วันเพ็ญ  ชัยคำภา  หัวหน้าทีมผู้ผลิตแอนติบอดีรักษาโรคไข้เลือดออกอีโบลา  สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย ขยายความแอนติบอดีก่อนลงลึกในรายละเอียดว่า คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของมนุษย์ ซึ่งจะถูกผลิตขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมชนิดใดชนิดหนึ่งเข้ามาในร่างกายแอนติบอดีจะถูกผลิตออกมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  ลิมโฟซัยท์บี  โดยร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน หลังจากได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ แอนติบอดีทำหน้าที่กำจัดเชื้อหรือสิ่งที่เป็นพิษออกไปจากร่างกาย กรณีเชื้อหรือพิษบางอย่างที่ร่างกาย
ได้รับก่ออาการรุนแรงและเร็วมาก ร่างกายสร้างแอนติบอดีออกมาได้ไม่ทัน ก็มักจะเสียชีวิตเสียก่อนมีแอนติบอดี เช่น การติดเชื้อไวรัสอีโบลา เราสามารถให้แอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อนั้นที่พร้อมใช้เตรียมเอาไว้แล้วแก่ผู้ป่วยทันที เรียกว่า ให้ภูมิคุ้มกันพร้อมใช้ หรือ แอนติบอดีรักษา (Therapeutic antibody) เข้าไปสู้กับเชื้อโรคหรือสารพิษโดยตรง

        แอนติบอดีจำเพาะต่อไวรัสอีโบลาที่คณะผู้วิจัยผลิตนั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่มีขนาดเล็กกว่าแอนติ บอดีตามปกติ เรียกว่า แอนติบอดีสายเดี่ยว (human single chain antibodies) ที่สามารถเข้าไปในเซลล์ที่ติดเชื้อได้ มีความจำเพาะต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลา ชนิด จีพีหนึ่ง-จีพีสอง นิวคลีโอโปรตีน (NP)  ไวรัสโปรตีน-๔๐ (VP40) ไวรัสโปรตีน-๓๕ (VP35)  แอนติบอดีเหล่านี้ที่สร้างขึ้น จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของโปรตีนสำคัญของไวรัสอีโบลาได้  ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนในร่างกายของผู้ติดเชื้อและก่ออาการรุนแรงได้ เช่น ถ้ายับยั้งจีพีหนึ่ง ไวรัสก็จะเข้าเซลล์ไม่ได้  ยับยั้งจีพีสอง ไวรัสก็จะออกจากกระเปาะ ที่หุ้มไวรัสจากนอกเซลล์เข้ามา เพื่อออกไปเพิ่มจำนวนในไซโทพลาซึมไม่ได้ ยับยั้งไวรัสโปรตีน-๓๕ ก็จะทำให้ไวรัสกดภูมิคุ้มกันของโฮสท์ไม่ได้และเพิ่มจำนวนไม่ได้ และถ้ายับยังไวรัสโปรตีน-๔๐ ก็จะทำให้ไวรัสที่เพิ่มจำนวนแล้ว ประกอบร่างเป็นไวรัสรุ่นลูกตัวใหม่ไม่ได้และออกจากเซลล์เพื่อแพร่ไปยังเซลล์ อื่นต่อไปไม่ได้
  
        ขณะนี้ทีมวิจัยได้ทำการผลิตโปรตีนต่างๆ ของไวรัสอีโบลาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยการใช้ยีนสังเคราะห์ที่ถูกสั่งผลิต โดยใช้ลำดับเบสอ้างอิงของยีนของเชื้อไวรัสอีโบลาที่ระบาดอยู่ขณะนี้เป็นต้นแบบ และนำโปรตีนแต่ละชนิดนั้นไปตรึงบนพื้นผิวพลาสติก คัดเลือกด้วยไวรัสของแบคทีเรีย (ฟาจ) จากคลัง (Library) ที่เรามีอยู่ ในฟาจมียีนของคนที่ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดีอยู่กับยีนของฟาจ ดังนั้นฟาจแต่ละอนุภาคจะมีแอนติบอดีของคนหนึ่งชนิดปรากฏอยู่บนผิว เหมือนลิมโฟซัยท์บีหนึ่งเซลล์ เมื่อเติมคลังฟาจ ลงบนโปรตีนของไวรัสอีโบลาที่ตรึงไว้ ฟาจที่มีแอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนนั้นๆ ก็จะจับกับโปรตีน จากนั้นนำฟาจที่จับกับโปรตีนของไวรัสอีโบลาไปใส่ในแบคทีเรียชนิดพิเศษ แล้วนำแบคทีเรียไปเพาะเลี้ยงพร้อมเหนี่ยวนำให้ผลิตแอนติบอดีจากยีนที่ฝากไว้ในฟาจ จากนั้นก็ทำการแยกเอาแอนติบอดีออกมาจากแบคทีเรีย โดยไม่ให้มีโปรตีนของแบคทีเรียปนเปื้อน ก็จะได้แอนติบอดีจำเพาะต่อโปรตีนของไวรัสอีโบลา ที่เป็นแอนติบอดีของมนุษย์ จึงปลอดภัยต่อการใช้ในคน  

        อย่างไรก็ดี แอนติบอดีต้นแบบเหล่านี้ เรายังผลิตได้น้อยในห้องปฏิบัติการวิจัยที่คณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่คาดว่าในกรณีจำเป็นและการผลิตเพื่อใช้ในการรักษาต่อไป เราสามารถขอความร่วมมือจากบริษัทสยามไบโอไซเอ็นซ์ ซึ่งเรามีความร่วมมือในการผลิตแอนติบอดีรักษาโรคอื่นอยู่แล้ว ให้ผลิตในปริมาณมากขึ้นด้วยมาตรฐาน GMP เพื่อการทดลองในสัตว์ และจดทะเบียนเป็นยาใหม่ต่อไป

        ทั้งนี้ ต้นแบบแอนติบอดีเหล่านี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งสิทธิทั้งหมดเป็นของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


*** (จากความคิดเห็นของผมนะครับ )สรุปว่าเป็นการค้นพบระดับ in vitro เท่านั้น หลักการเป็น therapeutic monoclonal antibody เช่นเดียวกับ ZMapp ที่เป็น therapeutic monoclonal antibody เช่นกันซึ่งผ่านการทดลองใน in vivo แล้วและกำลังอยู่ในช่วง clinical study แต่จากในข่าวนี้ไม่มีข้อความไหนกล่าวเลยว่ามีการทดลองในระดับ in vivo หรือ clinical trials เพราะฉะนั้นการที่สื่อเล่นข่าวว่าสามารถรักษาโรคอีโบลาได้จึงไม่เป็นความจริง ยังจะต้องมีการศึกษา in vivo อีกเป็นอย่างน้อยในอนาคต แต่ก็ขอแสดงความยินดีกับศิริราชด้วยและหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาโรคอีโบลาต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่