หน้าฝนมาแล้ว ระวัง!... “โรคไข้เลือดออก”



หน้าฝนมาแล้ว ระวัง!... “โรคไข้เลือดออก”

ช่วงนี้ฝนตกทั่วทุกพื้นที่ ทำให้โรคไข้เลือดออกอาจกลับมาระบาดอีกครั้งได้ เนื่องจากปริมาณยุงลายที่เป็นตัวการแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้นจากแหล่งน้ำขัง เราทุกคนจึงมีโอกาสถูกยุงลายกัดและเสี่ยงป่วยเป็นไข้เลือดออกได้



โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออก เด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำถ้าติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรง ส่วนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าติดเชื้อไข้เลือดออกอาการจะรุนแรงมากเช่นกัน ดังนั้นหากมีไข้สูงติดต่อกัน 2 วันและไม่ลดลง ควรนึกถึงโรคไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสม



อาการของโรคไข้เลือดออกมี 3 ระยะ คือ 
1. ระยะไข้ (2-7 วัน) มีไข้สูงทันที 39-40 องศาเซลเซียส ตัวร้อนจัด ไข้ไม่ลดแม้ทานยา เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง มีจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา หรือมีเลือดกำเดาไหล

2. ระยะวิกฤต ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการทรุดลง กระสับกระส่าย มือเย็น ชีพจรเบา ปวดท้องมาก อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด อาจถึงขั้นช็อกหมดสติได้

3. ระยะฟื้น เมื่อผ่านพ้นระยะวิกฤต อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติ

การรักษาโรคไข้เลือดออก
ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไข้เลือดออกได้ การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและชนิดของเชื้อ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 7-8 วัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะช็อกได้ ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีก็สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการติดตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ



วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกแล้ว แต่การป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัดและการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ก็ยังเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด
หากมีไข้สูงติดต่อกัน 2 วันและไม่ลดลง ควรนึกถึงโรคไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสม
 
แม้จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่การป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัดและการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ก็ยังเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด... หน้าฝนนี้อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงกันด้วยนะทุกคน...

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่