คำว่า ตัวตน ในภาษาไทย กับคำว่า อัตตา ของภาษาบาลี มีความหมายไม่ตรงกัน

ก็อยากจะถามผู้รู้ในเรื่องภาษาว่า คำว่า ตัวตน ของภาษาไทยนี้ แปลว่าอะไร? หมายถึงอะไร? มีลักษณะอย่างไร? เช่น อะไรบ้างที่เป็นตัวตน? และตัวตนนี้เกิดมาจากอะไร? รวมทั้งตัวตนนี้เที่ยง (เป็นอมตะ) หรือไม่เที่ยง (ชั่วคราว)? เป็นต้น ถ้าบอกว่าเป็นตัวตนเฉยๆ ไม่เกี่ยวกับเที่ยงหรือไม่เที่ยง แล้วผู้ฟังจะเข้าใจได้อย่างไร? เมื่อไม่เข้าใจก็เท่ากับไม่เกิดปัญญา เมื่อไม่เกิดปัญญาแล้วจะนำความรู้นี้มาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร? (หลักอริยมรรค สรุปอยู่ที่ ปัญญา ศีล สมาธิ)

เมื่อเข้าใจคำว่า ตัวตน ในภาษาไทยแล้ว จึงค่อยมาทำความเข้าใจคำว่า ไม่ใช่ตัวตน อีกที คือคำว่า ไม่ใช่ตัวตน ของภาษาไทยนี้ก็หมายถึงเป็นการปฏิเสธว่าไม่ใช่ตัวตน

แต่ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจนจะต้องใช้คำเดิมที่เป็นภาษาบาลี คือคำว่า อัตตา ที่แปลว่า ตนเอง ที่หมายถึง สิ่งที่เป็นตนเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งอัตตานี้จะมีความเที่ยง (นิจจัง) ไม่ต้องทน (สุงขัง)  เพราะเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือตัวตนอมตะ (อัตตา) โดยคำว่าอัตตานี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่สอนว่า จิต หรือ วิญญาณ ของเรานี้เป็นอัตตา ที่เวียนว่าตายเกิดทางร่างกายได้ และความเชื่อนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า เป็นต้นขึ้นมา

เมื่อเข้าใจคำว่า อัตตา แล้วก็จะเข้าใจคำว่า อนัตตา อีกทีหนึ่ง เพราะคำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือหมายถึง เป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเป็นอัตตา ซึ่งคำว่า อนัตตานี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนว่า ขันธ์ ๕ หรือในร่างกายและจิตใจของเรานี้เป็นอนัตตา คือเป็นการปฏิเสธคำสอนของศาสนาพราหมณ์เรื่อง จิต หรือ วิญญาณ เป็นอัตตา นั่นเอง

พระพุทธเจ้าสอนว่า ขันธ์ ๕ นี้เป็น สังขาร คือ สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น แต่เมื่อจะพูดเป็นภาษาไทยก็ต้องพูดว่าเป็น ตัวตนชั่วคราว ไม่ได้หมายถึง ตัวตนอมตะ (หรืออัตตา) ถ้าใช้คำว่า ดัวตน ก็จะทำให้ไม่เข้าใจว่าหมายถึงตัวตนเช่นไร?  เมื่อเข้าใจไปคนละความหมาย จึงทำให้สนทนากันไม่รู้เรื่อง เพราะบางคนก็บอกว่า ไม่มีตัวตน บางคนก็บอกว่า มีตัวตน

ดังนั้นถ้าจะพูดว่า ไม่มีตัวตน หรือ ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้เข้าใจไม่ถูกต้องตรงตามความหมายเดิมที่เป็นภาษาบาลี จะต้องพูดว่า ตัวตนชั่วคราว ที่หมายถึง  อนัตตา และใช้คำว่า ดัวตนที่แท้จริง หรือ ตัวตนอมตะ ที่หมายถึง อัตตา จึงจะตรงกับความหมายดั้งเดิมของภาษาบาลี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่