เอามาฝากจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดค่ะ

กระทู้สนทนา
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย

คำบรรยาย พระไตรปิฏก
ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต


(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

สงฆ์ปรับอาบัติพระอานนท์

ที่ประชุมได้ปรับอาบัติพระอานนท์หลายข้อ โทษพระอานนท์ว่ามีความบกพร่อง ขอประมวลมาทั้งหมด ดังนี้

๑. พระอานนท์ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า สิกขาบทเล็กน้อย ได้แก่ข้อใดบ้าง

๒. พระอานนท์เหยียบผ้าอาบน้ำฝนพระพุทธเจ้า เป็นการแสดงความไม่เคารพ

๓. พระอานนท์ปล่อยให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน และพวกนางร้องไห้จนน้ำตาเปื้อนพระพุทธสรีระ

๔. พระอานนท์ไม่ทูลวิงวอนให้พระพุทธเจ้าทรงยืดพระชนมายุออกไปอีก เมื่อพระองค์ทรงทำนิมิตโอภาส (บอกใบ้ให้ทราบ)

๕. พระอานนท์ขวนขวายให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา

พระอานนท์แถลงแก้การกระทำของท่านดังต่อไปนี้

๑. ที่ไม่ทูลถามก็เพราะนึกไม่ทัน หรือไม่ทันนึก เพราะมัวแต่กังวลเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระพุทธองค์

๒. ที่เหยียบผ้าอาบน้ำฝนของพระพุทธองค์ ท่านมิได้มีเจตนาจะเหยียบเพราะไม่เคารพ หากเหยียบเพราะความพลาดพลั้ง

๓. ที่ให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน เพราะเห็นว่าสตรีเหล่านั้นไม่ควรอยู่ในเวลาวิกาล จึงให้ถวายบังคมก่อนจะได้กลับแต่วัน

๔. ที่มิได้ทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงยืดพระชนมายุออกไป เพราะ "มารดลใจ"

๕. ที่ขวนขวายให้สตรีบวช ก็เพราะนางปชาบดีโคตมีเป็นผู้มีอุปการคุณต่อพระพุทธองค์สมัยยังทรงพระเยาว์ เพราะเป็นพระน้านางที่เลี้ยงดูพระองค์มา

แม้ว่าพระอานนท์จะชี้แจงเหตุผลได้ทุกข้อ คณะสงฆ์ก็ยังคงยืนกรานปรับอาบัติท่าน ท่านก็มิได้ขัดขืน กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่เห็นอาบัตินั้น แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแสดงอาบัติ ณ บัดนี้

นี่แหละครับ น้ำใจของนักประชาธิปไตย เคารพเสียงส่วนมาก เป็นคุณสมบัติที่น่ารักยิ่งของพระอานนท์พุทธอนุชา

หลังจากการประชุมทำสังคายนาผ่านไปแล้ว พระเถระรูปหนึ่งนามปุราณะไม่ได้เข้าประชุมด้วย ทราบมติที่ประชุมครั้งนี้แล้วไม่เห็นด้วย

พระปุราณะผู้ฝากรอยแห่งความแตกแยกนิกาย

ในเวลาต่อมา

พระปุราณะนี้เป็นใคร มาจากไหน พระบาลีมิได้ให้รายละเอียดไว้ กล่าวแต่เพียงว่าท่านเป็นคณาจารย์ผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในครั้งนั้น เหตุไฉนไม่ได้รับเลือกให้เข้าประชุมสังคายนาด้วยไม่ทราบ

ท่านปุราณะพาบริวารประมาณ 500 รูป จาริกมาจากทักขิณาคิรีชนบทมาพักอยู่ที่พระเวฬุวัน ได้ทราบจากพระมหากัสสปะว่า บัดนี้พระสงฆ์ได้ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ได้ตกลงกันอย่างนี้ๆ พระปุราณะบอกว่า พวกท่านทำของพวกท่านก็ดีแล้ว แต่สำหรับผมได้ยินมาจากพระพุทธเจ้าอย่างไร จักปฏิบัติตามนั้น

แปลไทยเป็นไทยก็ว่า เชิญพวกท่านทำไปสิ ผมไม่เอาด้วย ผมเห็นอย่างไร เข้าใจอย่างไร ผมก็จะถือตามนั้น ไม่เอากะพวกท่านดอก อะไรทำนองนั้น

และท่านก็ไม่เอาด้วยจริงๆ ท่านบอกว่า ในเมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธานุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบางข้อได้ ก็สมควรยกเลิก เพราะบางครั้งสิกขาบทบางข้อก็ปฏิบัติไม่ได้ ต้องยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นในเวลาข้าวยากหมากแพง พระพุทธองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงบางข้ออนุญาตให้พระหุงต้มกินเองได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่าพระปุราณะได้แยกตนออกไปตั้งนิกายใหม่ เพียงแต่ส่อเค้าแห่งความขัดแย้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในเรื่องการตีความพระวินัยบัญญัติความแตกแยกมาปรากฏชัดเจนหลังจากนั้นประมาณ 100 ปี

ภิกษุวัชชีบุตรกลุ่มหนึ่งได้เสนอให้ลดหย่อนพระวินัยบัญญัติบางข้อรวมแล้ว ๑๐ ข้อ เรียกว่า "วัตถุ ๑๐ ประการ" คือ

๑. เก็บเกลือไว้ในเขนงแล้วนำมาปรุงอาหารฉันได้ ("เขนง" คือ เขาสัตว์ เก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์ แล้วนำเอามาปรุงอาหารฉันตลอดไปได้ไม่ผิด ข้อนี้ขัดกับบัญญัติเดิมห้ามพระสะสมอาหาร)

๒. ฉันอาหารเวลาบ่ายเมื่อเงาแดดคล้อยไปสององคุลีได้ (สมัยนั้นไม่มีนาฬิกาใช้นาฬิกาแดด เมื่อเงาแดดคล้อยไปสองนิ้วก็คงประมาณบ่ายสอง พระฉันได้ ข้อนี้ผิดบัญญัติที่ว่า ห้ามพระฉันอาหารหลังเที่ยง)

๓. ฉันอาหารอิ่มแล้ว เข้าบ้านฉันอาหารอีกได้

๔. อยู่ในวัดเดียวกัน แยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมได้

๕. เวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะมาไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถก็ได้

๖. ครูอาจารย์เคยปฏิบัติมาอย่างใด แม้ผิดก็ปฏิบัติตามเดิมได้

๗. ฉันนมสดที่ยังไม่แปรเป็นนมส้มได้

๘. ฉันสุราอ่อนๆ ได้

๙. ใช้ผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ที่ไม่มีชายได้

๑๐. รับเงินและทองได้

พระยสกากัณฑบุตรเดินทางจากเมืองโกสัมพีมายังเมืองไพศาลี ได้ทราบว่าพวกวัชชีบุตรได้ลดหย่อนสิกขาบทเอาเองโดยอัตโนมัติ

(หมายถึงโดยความคิดเห็นของตน) จึงไปตักเตือน ถูกพวกวัชชีบุตร "ล็อบบี้" โดยเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้แล้วให้คนนำเงินไปถวายพระเถระ พระเถระนอกจากไม่รับเงินแล้วยังตำหนิเอาแรงๆ

วัชชีบุตรก็เลยแค้น จะ "ล้อมกรอบ" ท่าน ท่านจึงหนีไปก่อน โดยเดินทางไปยังเมืองปาฐา เมืองอุชเชนี และทักขิณาบถ ไปเรียนให้พระผู้ใหญ่ชื่อสาณสัมภูตวาสี ปรึกษากันทำสังคายนาพระธรรมวินัย

พวกวัชชีบุตรพอพระยสกากัณฑบุตรหนีไปแล้ว ก็เกรงว่าท่านจะไปรวบรวมพระเถระผู้ใหญ่อื่นๆ มาร่วมต่อต้านพวกตน จึงหาทางไปเกลี้ยกล่อมพระเจ้ากาฬาโศกให้เข้าข้างตน ซึ่งก็โชคดีพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นดีเห็นงามกับพวกวัชชีบุตรด้วย ร้อนถึงนางภิกษุผู้เป็นพระกนิษฐภคินีของพระราชา ไปชี้แจงให้พระราชาทรงทราบว่าพวกวัชชีบุตรเป็นพวก "ทุมมังกุ" (คนไม่รู้จักอาย) จึงมิได้สนับสนุนอีกต่อไป

พระเถระทั้งหลายได้ตกลงกันทำสังคายนาชำระสะสาง "วัตถุ ๑๐ ประการ" โดยมีเถระจากเมืองปาฐาจำนวนหนึ่ง จากเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี และจากทักขิณาบถอีกจำนวนหนึ่งตกลงจะไปอาราธนาพระเรวตเถระ พระผู้เฒ่าเชี่ยวชาญพระธรรมวินัยให้เป็นประธาน

พวกวัชชีบุตรรู้ข่าวชิงตัดหน้าไป "ล็อบบี้" พระเรวตเถระก่อน แต่ถูกปฏิเสธก็จ๋อยไป พระเถระทั้งหลายได้เลือกเอาวาลุการาม เมืองไพศาลี เป็นสถานที่ทำสังคายนา ยกเอาวัตถุ ๑๐ ประการมาวินิจฉัยอย่างละเอียด แล้วมีมติว่ามีวัตถุ ๑๐ ประการนี้ผิดธรรม ผิดวินัย

ฝ่ายพวกวัชชีบุตรได้แยกตัวออกไปตั้งนิกายใหม่ ชื่อ "มหาสังฆิกะ" แยกทำสังคายนาอีกต่างหาก เรียกว่า "มหาสังคีติ"

ฟังชื่อก็รู้ว่ามีพรรคพวกมากกว่าฝ่ายเดิมแน่นอน (มหาสังฆิกะ แปลว่า สงฆ์หมู่ใหญ่ มหาสังคีติ แปลว่า การสังคายนาที่ยิ่งใหญ่) เมื่อเกิดนิกายมหาสังฆิกะขึ้น คณะสงฆ์ดั้งเดิมก็จำต้องเป็นนิกายหนึ่งนามว่าเถรวาท

นิกายศาสนาก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายมหาสังฆิกะจะสืบมาจากท่านปุราณะหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ คือ มหาสังฆิกะมีจุดยืนเช่นเดียวกับพระปุราณะ คือ ถือว่าสิกขาบทเล็กน้อยถ้าจำเป็นก็ยกเลิกได้

แนวคิดอย่างนี้ได้กลายมาเป็นมหายานในกาลต่อมา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่