ยุทธนา ทัพเจริญ โดน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ได้เป็นสนช.ด้วยแฮะ

ว่าจ่ะไดล่ะอ้าย หาคนดีกว่านี้ไม่ได้แล้วหรือ
รายชื่อสมช.มันจับฉลากเอาป่าว

ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ นายยุทธนา คือ บุคคลที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ..นอกจากนี้ในช่วงการบริหารงานตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท. ของ นายยุทธนา ที่ผ่านมา ก็มักปรากฎข้อมูลว่า มีปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มสหภาพพนักงานฯ อยู่บ่อยครั่ง และมีสายสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม?.."

ชื่อของ "นายยุทธนา ทัพเจริญ" กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง
เมื่อได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คน ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายสำคัญฉบับต่างๆ ของประเทศ ที่ช่วงฝ่าวิกฤตปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ชื่อของ นายยุทธนา ได้รับความสนใจขึ้นมานั้น หาใช่การที่ นายยุทธนา เคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่เพียงประการเดียวไม่

แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐผู้นี้ เคยปรากฎรายชื่อเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (โครงการแอร์พอร์ตลิงค์) โดยมิชอบมาแล้ว

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบสำนวนคดีโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีการชี้มูลความผิดกับผู้เกี่ยวข้องเป็นทางการ ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา
พบว่า มีการระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์การกระทำความผิดนายยุทธนา ไว้ชัดเจนดังนี้
นายยุทธนา ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ เข้าไปเกี่ยวข้องโครงการฯ นี้ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา

และจากการสอบสวนของป.ป.ช. พบว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ซึ่งมี นายยุทธนา เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีกริมเบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าจากร้อยละ 5 ที่ได้เสนอไว้ในการเสนอราคา เพิ่มเป็นร้อยละ 15
ป.ป.ช. ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าว แม้จะมิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่เสนอไว้แล้วตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544 ข้อ 31 (1) วรรคสาม ก็ตาม
แต่การที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจะเห็นชอบให้ผู้เสนอราคารายใดเปลี่ยนแปลงข้อเสนอที่ได้เสนอไว้แล้ว จะต้องอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือไม่เกิดความเสียหายต่อทางราชการ

"การที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีกริมเสนอขอเบิกค่าจ้างล่วงหน้าเพิ่มจากที่เสนอไว้แล้วในการเสนอราคาอีกร้อยละ 10 โดยจะปรับลดค่างานงวดที่ 1 ตามแผนการเงิน (Cash Flow) ลงร้อยละ 10 นั้น หากคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาก็จะทราบว่าแผนการเงิน (Cash Flow) ที่ผู้เสนอราคาแต่ละรายได้เสนอมานั้น เป็นเพียงประมาณการกระแสเงินสดที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละงวดงาน หรือในแต่ละเดือนเท่านั้น ไม่ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีกริมจะปรับลดค่างานงวดที่ 1 ในแผนการเงิน (Cash Flow)ลงเท่าใดก็ไม่มีผลต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการขอเบิกค่าจ้างล่วงหน้าเพิ่ม"

"การที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีกริมเสนอขอเปลี่ยนการเบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้า จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 มีผลทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 4 ล้านบาท จนกว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะชำระเงินให้ธนาคาร หากคิดคำนวณตามกำหนดเวลาแล้วเสร็จโครงการ (990 วัน) การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 141 ล้านบาท" สำนวนการสอบสวนป.ป.ช.ระบุ
จากการตรวจสอบยังพบว่า ในการชี้มูลความผิดคดีนี้ของ ป.ป.ช. ปรากฎรายชื่อผู้บริหารระดับสูงของ รฟท.ที่ถูกชี้มูลความผิด อาทิ นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ ผู้ว่าการรถไฟฯ และนายไกรวิชญ์ หรือสุรางค์ ศรีมีทรัพย์ หัวหน้าสำนักงานอาณาบาล ในขณะนั้น ถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง
ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม ไม่ถูกชี้มูลเนื่องจากพยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่า ได้กระทำความผิด
ส่วนนายยุทธนา ทัพเจริญ และคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ถูกชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ระบุไป แม้ นายยุทธนา จะถูกชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และในภายหลังก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท. ก่อนจะพ้นตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 55

แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ นายยุทธนา คือ บุคคลที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีโครงการแอร์พอร์ตลิงค์
จะผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ก็ถูกชี้มูลความผิดเหมือนกัน

นอกจากนี้ในช่วงการบริหารงานตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท. ของ นายยุทธนา ที่ผ่านมา ก็มักปรากฎข้อมูลว่า มีปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มสหภาพพนักงานฯ อยู่บ่อยครั่ง และมีสายสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม?

ขณะที่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีความความชัดเจน ยืนอยู่คนละฝั่ง และต่อต้านการทุจริตอย่างเต็มที่ เอาจริงเอาจริงถึงขนาดออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ขึ้นมาควบคุมกำหนดดูแลการปฏบัติงานของข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ

ถึงขนาดระบุว่าแค่พบเหตุอันควรสงสัยว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ทั้งในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ให้หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ขณะที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชารายใดปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการให้ถือเป็นความผิดวินัยหรือความผิดทางอาญาด้วย
แต่ในการแต่งตั้ง สนช. ดังกล่าว คสช. กลับเลือกสรร คนที่เคยถูกชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช. อย่างนายยุทธนา ขึ้นมาทำหน้าที่ด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่เวลานี้ คนจะเริ่มสงสัย และตั้งคำถามเสียงดังไปถึง นายยุทธนา ดังไปถึง คสช. ดังไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ท่านคิดดีแล้วหรือ ที่ตัดสินใจทำแบบนี้ ?

หรือ สนช. มีภารกิจอะไรสำคัญ ถึงขนาดที่จะต้องพึงพาและขาดคนอย่าง "นายยุทธนา" ให้เข้ามาช่วยดำเนินการให้ไม่ได้ ?
สำนักข่าวอิศรา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่