^_^ ไวรัสอีโบล่า (ebola virus) ข้อมูลการป้องกัน และอาการของโรคที่ควรระวัง by Mr. DICK

Mr. DICK : ช่วงนี้เริ่มมีการระบาดของไวรัสอีโบล่า (ebola virus) เลยนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาแบ่งปัน มาดูแลรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรงกันนะครับ




ไวรัสอีโบล่า เป็นโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความรุนแรงถึงขนาดคร่าชีวิตผู้คนในแอฟริกาตะวันตกเป็นจำนวนมาก และสถาณการณ์ในขณะนี้ ยังคงน่าเป็นห่วงในเรื่องของการระบาด เพราะฉะนั้น เราจะไปดูที่มา ชนิดของโรค ลักษณะของโรค วิธีการป้องกันและรับมือกับโรคนี้ ไวรัสอีโบล่า พบครั้งแรกในปี 2519 ที่ใกล้กับบริเวณลุ่มแม่น้ำอีโบลา ในประเทศซาร์อี (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐคองโก) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ ต้นกำเนิดของไวรัสชนิดนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เพียงแต่สันนิฐานว่าอาจจะมาจากคนสัมผัสกับลิงหรือค้างคาว ในปัจจุบัน โรคอีโบล่ามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ แต่ชนิดรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตนั้น มีอยู่ 3 สายพันธุ์

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

การระบาดของเชื้ออีโบล่า

แพร่เชื้อโดยจากคนสู่คนผ่านทางการรับหรือสัมผัสของเหลวจากผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น เลือด น้ำลาย เสมหะ เหงื่อ อสุจิ สารคัดหลั่งต่างๆ รวมไปถึงสัมผัสกับศพผู้ที่เสียชีวิตจากเชื้อนี้ แต่ยังไม่พบว่าแพร่เชื้อทางอากาศหายใจ

อาการของโรค

หลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะแสดงอาการได้ตั้งแต่ 2-21 วัน (หรือประมาณ 2 วัน – 3 สัปดาห์) เริ่มแรกมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ตามด้วยอาการท้องเสีย อาเจียน มีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว มีเลือดออกตามเยื่อบุร่างกาย เช่น ภายในช่องปาก เยื่อบุตา รวมไปถึงเลือดอวัยวะภายในร่างกาย เกิดภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย หรือเกิดอาการผิดปกติในประสาทส่วนกลาง ช๊อก โดยผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 90%

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

การป้องกัน

แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่พบประวัติผู้ป่วยเชื้ออีโบล่า แต่เพื่อความเข้าใจและป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปในประเทศสุ่มเสี่ยง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำสำหรับประชาชน คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า โดยเฉพาะลิงและค้างคาว เลี่ยงรับประทานสัตว์ป่าและเมนูพิศดารอื่นๆ ถ้ามีการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด นั่นคือ ในแถบแอฟริกาตะวันตก ควรระวังสัมผัสกับผู้ป่วย สัมผัสกับสารคัดหลั่งเช่นเลือด หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ถ้าหากจำเป็นต้องสัมผัส ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ล้างมือบ่อยๆ และหากพบว่ามีอาการป่วย เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดโรค ขอให้แจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแลได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิต

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร 0-2590-3159, 3538 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)


Presented by : www.mrdick.co.th
Source : สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่