อาจารย์พิชญ์ ต่อมุมมองการพิจารณา รัฐธรรมนูญ แม่น้ำ 5 สาย

รัฐธรรมนูญมาแล้วจ้า...

โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ madpitch@yahoo.com




ในที่สุดสังคมไทยก็ได้รัฐธรรมนูญ "ฉบับแม่น้ำห้าสาย" มาใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมขอหลีกเลี่ยงที่จะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือฉบับถาวร แต่ขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตามประโยคเด็ดว่าฉบับแม่น้ำห้าสายดีกว่า ด้วยว่าท่านอัครมหาเนติบริกรได้นิยามเอาไว้เอง โดยเฉพาะความมุ่งหมายของอัครเนติบริกรที่ไม่ต้องการให้การยึดอำนาจครั้งนี้ "สูญเปล่า"

อนึ่ง การใช้คำว่าเนติบริกรผู้ยิ่งใหญ่นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องทางลบอะไร คือบอกตรงๆ ว่าจะให้เรียกว่า "founding father" แบบรัฐธรรมนูญอเมริกาหรืออินเดียก็ลำบากใจครับ ในเมื่อทางท่านผู้มีอำนาจได้ไหว้วานให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้ก็คงต้องเป็นเช่นนี้ละครับ เว้นแต่ท่านจะยืนยันว่าท่านคิดไว้แล้วและสามารถสั่งการให้ผู้มีอำนาจปืนนำความคิดของท่านไปใช้ได้

ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความน่าสนใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเป็นอย่างมาก และด้วยวิธีที่สลับซับซ้อน ต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวในอดีตที่มักมีวัตถุประสงค์สำคัญๆ อยู่สองประการ

หนึ่งคือ ใช้เป็นข้ออ้างในการปกครองไปเรื่อยๆ ของฝ่ายผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะฝ่ายที่ล้มล้างประชาธิปไตย ดังจะเห็นจากการไม่ระบุเงื่อนเวลาของรัฐธรรมนูญไว้ว่าจะใช้ไปถึงเมื่อไหร่ คือทำให้รัฐธรรมนูญนั้นมีลักษณะชั่วคราวอย่างถาวร คือลากไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะการปกครองด้วยอำนาจปืนและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นมีลักษะเป็น "การปกครองด้วยข้อยกเว้น" อยู่แล้ว โดยเฉพาะในลักษณะของการประกาศใช้กฎหมายฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึกต่างๆ ที่ให้อำนาจในการสถาปนาอำนาจที่เหนือกว่าระบบกฎหมายปกติที่มีการกลั่นกรองและคานอำนาจกันของสถาบันทางการเมืองหลายสถาบัน หรือจะว่าง่ายๆ ก็คือเป็นรัฐธรรมนูญแบบทหารเป็นใหญ่ ปกครองเอง และลากยาวเอง อาทิ สมัยจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม เป็นต้น

สองคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในอดีต เป็นรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างเกรงอกเกรงใจประชาชนอยู่บ้างในแง่ที่ว่า หากจะใช้อำนาจพิเศษในขณะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็มักจะตั้งคนนอกหรือคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนว่าจะจัดให้มีทั้งรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ในแง่นี้ก็เป็นไปได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นอาจจะให้อำนาจคณะรัฐประหารมากหน่อยในการสรรหาสมาชิก แต่เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญแนวดังกล่าวมีลักษณะของการประนีประนอมอำนาจกับชนชั้นนำจากการเลือกตั้งอยู่มาก ไม่เปลี่ยนอะไรมากนักในรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่ และเร่งให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

แต่กระนั้นก็ตาม รัฐธรรมนูญในแบบที่สองนี้ไม่ได้หมายความว่าทหารจะถอยออกไปง่ายๆ แต่หมายถึงการประนีประนอมอำนาจกับนักการเมืองในลักษณะที่นักการเมืองนั้นก็พร้อมจะสวามิภักดิ์กับทหาร โดยมีการย้ายพรรคหรือสร้างพรรคใหม่ให้ผู้นำทางทหารนั้นสามารถลงจากตำแหน่งแล้วเข้ามามีส่วนร่วมได้ ดังที่เราจะเห็นจากกรณีของรัฐธรรมนูญและการเมืองหลังรัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ ที่ รสช.นั้นมาไวเคลมไว แล้วก็แปรสภาพเข้ามาเป็นนักการเมือง หรือแม้กระทั่งความซับซ้อนของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นจะมีอยู่หลายเรื่องราว แต่เราก็เห็นว่าสุดท้ายการเลือกตั้งนั้นถูกให้สัญญาและนายกรัฐมนตรีรักษาการในช่วงนั้นก็มีความมุ่งมั่นที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนอยู่ไม่ใช่น้อย และแม้ว่าเราจะไม่เห็นการเปลี่ยนผ่านของ คมช.เข้าสู่พรรคการเมือง แต่อย่างน้อยก็มีพื้นที่ให้หัวหน้าคณะปฏิวัติรอบนั้นจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา

ผมเขียนเรื่องราวอย่างยืดยาวเพื่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับแม่น้ำห้าสายนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญในแบบเดิมอย่างแน่นอน และมีเป้าประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างจริงจังผิดไปจากขนบของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ผ่านมา
 
 
ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นจะดีหรือไม่ดีอันนี้ผมขอไม่วิจารณ์ในที่นี้ ด้วยว่าบรรยากาศของประเทศนี้ไม่ใช่บรรยากาศที่จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้มากนัก และตราบเท่าที่ยังไม่เห็นบรรดาสมาชิกที่จะเปิดเผยตัวเป็นพันธมิตรผู้ทำงานร่วมกับ คสช. ก็คงจะอธิบายได้ยากเหมือนกันว่าเจตจำนงของการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศด้วยวิธีที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นจะบรรลุผลได้แค่ไหนเพียงใด

สำหรับพื้นที่ที่เหลือในอาทิตย์นี้นั้นจะขอใช้ไปเขียนเรื่องอะไรที่อัครเนติบริกรเขาไม่ค่อยได้ชี้แจงให้เห็น ในแง่ที่ว่านักรัฐศาสตร์นั้น ถ้าเขามองรัฐธรรมนูญแล้วเขาจะมองเห็นอะไรบ้างซึ่งจะขอแบ่งออกเป็นสักห้าประการใหญ่ๆ

หนึ่ง เขามองเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการจัดการปกครองและการเมือง แต่เวลาที่เขามองเรื่องนี้ เขาหลีกไม่พ้นที่มักจะตัดสินว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นประชาธิปไตย เป็นเผด็จการ หรือเป็นลักษณะที่สะท้อนออกถึง "อุดมการณ์" ของประเทศนั้น

แนวคิดนี้ค่อนข้างเก่ามาก แต่มักจะอยู่ในสายของรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ หรือการปกครองเปรียบเทียบ ยิ่งในสมัยที่เรามีข้อมูลน้อย การเริ่มต้นศึกษาการเมืองของแต่ละประเทศก็เริ่มต้นจากการหารัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศโดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาอ่าน มาเปรียบเทียบ แต่ถึงแม้ว่าจะดูล้าสมัยและเชยแสนเชยเพียงใด อย่างน้อยแต่ละประเทศเขาก็จะประกาศออกมาได้ว่าประเทศเขามีอุดมการณ์อะไรกันแน่ และมีการปกครองแบบใดกันแน่

สอง เขามองเห็นถึงความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอุดมการณ์หรือตัวบทที่เขียนไว้อย่างสวยหรู กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมการเมือง ซึ่งผมอยากจะเรียกคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องของการพูดถึงรูปแบบการปกครองที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ "รูปแบบ" กับ "เนื้อหา" จริงๆ ซึ่งเราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าไปศึกษาประเทศนั้นๆ อย่างลึกซึ้งและเริ่มเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศนั้นกับความเป็นจริงทางการเมืองของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน หรือที่เรามักชอบวิจารณ์ว่า บ้านเราไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมีแต่เพียงรูปแบบ ไม่มีเนื้อหา ตราบใดที่เรายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ของผู้คนและสถาบันทางการเมืองในประเทศเหล่านั้น

สาม เขามองเห็นว่า รัฐธรรมนูญนั้นจุดสำคัญไม่ใช่ตัวบทหรือการเขียน แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของการเขียนในความหมายที่ว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นมากกว่าตัวบทหรือกฎหมายสูงสุด หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อน "สัมพันธภาพทางอำนาจ" ของกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าการเขียนในแบบที่มีกลุ่มหนึ่งเหนือกว่ากลุ่มหนึ่ง หรือเป็นการประนีประนอมอำนาจของกลุ่มพลังหลายกลุ่มพลัง

เรื่องการมองรัฐธรรมนูญในฐานะของสัมพันธภาพนั้น เราอาจจะมองอีกอย่างว่า การเขียนรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจในการกำหนดนิยามความหมาย และก่อร่างสร้างสถาบันต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้เอื้อประโยชน์เป็นอย่างมากในการศึกษาพัฒนาการของความคิดต่างๆ ในสังคมไทย นอกเหนือไปจากเรื่องของการออกแบบสถาบันทางการเมืองเท่านั้น เช่นไม่ได้ดูแค่ว่า สภามีกี่สภา หรือนายกรัฐมนตรีนั้นมาจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง แต่การศึกษาในแบบนี้อาจจะชักพาเราให้ไปสนใจแนวคิดบางแนวคิดว่าลงหลักปักฐานในสังคมไทยจริงจังแค่ไหนและถูกตีความอย่างไร เช่น เรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องของเสรีภาพทางการเมืองด้านต่างๆ ที่การศึกษาวิจัยในด้านนี้ไม่ได้มองแค่ว่ามีหรือไม่มีในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แต่ต้องดูว่าแนวคิดดังกล่าวถูกนำเสนอเข้ามาอย่างไร ถูกตีความอย่างไร และมีการตกลงที่จะระบุอะไรเอาไว้ หรือมีการละเลย หรือแปรเปลี่ยนให้ออกมาในรูปแบบไหน
 
 
การศึกษาแนวนี้ได้รับอิทธิพลสำคัญจากศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ในงานสุดแสนคลาสสิกที่ชื่อว่า "การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ" ซึ่งได้ให้แนวทางการศึกษาเรื่องพัฒนาการของรัฐธรรมนูญที่เหนือไปจากเรื่องของประวัติศาสตร์ของการเมืองในแบบประวัติศาสตร์การเมืองศึกษาผ่านรัฐธรรมนูญทีละฉบับ ซึ่งมักจะลงเอยด้วยลักษณะของการศึกษาแนววงจรอุบาทว์ ว่าจะมีการหมุนวนจากการมีรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้ง และการฉีกรัฐธรรมนูญแต่ละรอบเมื่อไหร่ มาสู่การตั้งคำถามสำคัญถึงการคลี่คลายตัวของแนวคิดสำคัญที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญว่ามีชีวิตอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

สี่ เขามองเห็นว่า รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องทำหน้าที่ "ลดต้นทุน" ในการทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และขยายสิทธิเสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ การเมืองนั้นก็ถือเป็นเสมือนตลาดแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดแบบหนึ่ง และเอาเข้าจริงการเขียนรัฐธรรมนูญในแบบละเอียดยิบมากๆ เนี่ย อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความเก่งของผู้เขียน แต่อาจจะไม่ได้ทำให้สังคมนั้นสามารถมีวิวัฒนาการในการจัดการความขัดแย้งและอยู่ด้วยกันได้อย่างเสรี หากจะทำความเข้าใจถึงรากฐานของการเมืองแบบเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม มิหนำซ้ำ ยิ่งมีกฎระเบียบทางการเมืองมากจนเกินไปนั้น การเมืองก็อาจจะไม่ได้วิวัฒนาการไปในลักษณะที่ผู้ร่างต้องการ แต่อาจจะเกิดลักษณะของการติดขัด หรือการแปรสภาพไปเป็นภาระและต้นทุนที่ทำให้ระบบการเมืองนั้นๆ ต้องจ่ายอะไรมากมาย

แนวคิดเช่นนี้มองเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีอคติบางอย่างแฝงฝังอยู่ (ไม่ได้ใช้คำหรูหราว่าอุดมการณ์) และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงความมุ่งหวังของรัฐธรรมนูญจริงๆ แม้ว่าจะตั้งใจดี (ต่างจากการคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ หรือเป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นกฎกติกาที่ไม่มีใครได้ประโยชน์ใดๆ) และอาจจะขัดกันเองระหว่างความมุ่งหวังที่ดี แต่มีกฎระเบียบที่ทำให้เกิดแรงจูงใจไปในทางอื่น ซึ่งหลักคิดสำคัญนั้นมาจากสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวสถาบัน ที่พยายามเข้าใจว่าอะไรที่มันทำงานกันมาอย่างยาวนานนั้น บางทีก็มีผลต่อการก่อร่างสร้างแบบแผนบางประการที่ทำให้การแลกเปลี่ยนในแบบเสรีและเป็นธรรมที่เรามุ่งหวังไว้มันไม่เกิดขึ้นจริงๆ

ตัวอย่างสำคัญของแนวคิดนี้มาจากงานวิจัยของศาสตราจารย์รังสรรร ธนะพรพันธุ์ ที่ชี้ให้เห็นถึงปมปัญหาหรือกับดักทางความคิดมากมายที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 อาทิ ความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการคานอำนาจกับสถาบันรัฐสภาด้วยการลงชื่อของประชาชนนั้นอาจจะเกิดได้ยาก ด้วยปัญหาของการมีต้นทุนในการรวมตัวกันของคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ที่พวกเขานั้นไม่มีงบประมาณหรือทรัพยากร ต่างจากพรรคการเมืองที่อาจได้รับเงินสนับสนุน เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่าการที่คนจะทำตามกฎหรือไม่ทำตามกฎต่างๆ นั้น สามารถอธิบายพฤติกรรมเหล่านั้นได้ด้วยหลักทางเศรษฐศาสตร์ หรือพฤติกรรมที่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่คิดเอาเองว่ามีกฎระเบียบมากๆ ผู้คนจะกลัวเกรง หรือจะเป็นไปตามนั้น

ห้า พวกเขาอาจจะมองถึง "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ที่ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยกล่าวถึงเอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่เป็นทางการนั้นถูกฉีกทิ้งบ่อยมาก แต่ฉบับที่ไม่เป็นทางการนั้นอาจจะมีบางเรื่องที่คงอยู่ยาวนาน ราวกับเป็นวิถีชีวิตจริงๆ จังๆ ของสังคมการเมืองนั้น ซึ่งหน้าที่ของนักวิเคราะห์ทางการเมืองนั้นก็คือ จะต้องพยายามค้นหาให้เจอว่าแต่ละสังคมนั้นมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมอย่างไร นั่นคือมีสถาบันทางการเมืองไหนที่คงอยู่ยาวนาน จะเขียนหรือไม่เขียนก็มีอิทธิพล หรือต่อให้เขียนไว้หลวมๆ ก็อาจจะเอาจริงเอาจังหรือชักพาไปสู่จุดนั้นได้เสมอ อาทิ การไม่มีการระบุถึงบทบาทของกองทัพในการทำรัฐประหารในฐานะการหาทางออกให้กับความขัดแย้งทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงการทำรัฐประหารและการนิรโทษกรรมนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไปแล้ว

หวังว่ามุมมองทางการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญที่หยิบยืมมาจากทั้งนักรัฐศาสตร์ นักปรัชญาการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ จะทำให้เรามีเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญฉบับแม่น้ำห้าสายนี้ได้มากขึ้นนะครับ และไม่หลงประเด็นไปว่าตกลงรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นฉบับชั่วคราวหรือถาวร แต่เราต้องมุ่งเน้นไปที่ลักษณะอุดมการณ์เบื้องหลัง สภาพความเป็นจริงทางการเมือง และการหายไปหรือการแปรเปลี่ยนของชุดแนวคิดในเรื่องต่างๆ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและการนำไปปฏิบัติจริง รวมไปถึงการตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญนี้จะสามารถทำให้คนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงไหม หรือมีต้นทุนที่เรามองไม่เห็นและทำให้ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงอำนาจและกระจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่