ก่อนที่จะไปชุมนุมวันพรุ่งนี้เพื่อขับไล่รัฐบาลและ ขอนายกตาม ม 7 ต้องมารู้จัก ม. 7 กันก่อน

ตามนี้เลย จาก  http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=899
มาตรา 7 กับ นายกพระราชทาน โดย คุณศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช  

หลายท่านคงทราบกันดีถึงกระแสการเมืองในประเทศของเรา ณ ขณะนี้ซึ่งมีทั้งกลุ่มสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและกลุ่มต่อต้านนายกรัฐมนตรี ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีก็มีหลากหลายนับตั้งแต่ให้ลาออก ให้เว้นวรรคทางการเมือง แต่ข้อเสนอล่าสุดและน่าจะเป็นข้อเสนอสุดท้ายแล้วคือ การขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทานและคณะรัฐมนตรีพระราชทาน(จากนี้ไปจะขอเรียกโดยย่อว่านายกพระราชทาน)เป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มที่เรียกร้องดังกล่าวได้อ้างมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการพระราชทานนายกรัฐมนตรี
       แต่ก่อนที่จะได้พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวมีความเป็นไปได้หรือไม่ควรจะได้แยกการคิดเป็นประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
      
        มาตรา 7 มีความหมายว่าอย่างไร
       มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       บทบัญญัติในลักษณะนี้มิได้เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เคยมีความลักษณะดังกล่าวปรากฏเป็นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นฉบับเผด็จการ เพียงแต่ยังไม่มีคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อท้าย สาเหตุที่ต้องมีบทบัญญัติดังกล่าวน่าจะเป็นเพราะว่าธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีเพียงไม่กี่มาตราจึงจำเป็นต้องมีบทที่ให้อำนาจในการวินิจฉัยหากไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญบังคับถึงกรณีนั้นๆ ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ บทบัญญัติในนี้ยังไปปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆซึ่งเขียนโดยคณะปฏิวัติรัฐประหารเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งยังมีบทบัญญัตินี้อยู่โดยเพิมวลี “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อท้ายไปด้วย ขณะที่รัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 กลับไม่มีบทบัญญัตินี้
       ฉะนั้นแล้วเหตุใดจึงมีบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชน
       ที่มาน่าจะเกิดมาจากการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 มาใช้เป็นต้นแบบแก่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ตามการที่จะบอกว่าบทมาตรา 7 ในปัจจุบันมีความเหมาะสมเป็นประชาธิปไตยหรือไม่คงมิได้พิจารณาเพียงตามถ้อยคำเท่านั้นแต่ยังต้องดูถึงแนวทางในการใช้บังคับอีกด้วย มาตรา 7 ในบริบทของปัจจุบันจึงไม่ควรถูกตีค่าว่าเป็นมาตราจากรัฐธรรมนูญเผด็จการและการใช้บทบัญญัติมาตรา 7 ก็ต้องระวังไม่ให้เป็นการใช้อำนาจอันไม่เหมาะสมโดยอ้างมาตรานี้เสมือนจะบอกว่าการกระทำอันไม่เหมาะสมดังกล่าวเป็นลักษณะของประชาธิปไตยแบบไทยๆซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
       จากส่วนประกอบของมาตรา 7 มีคำถามที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
       1.เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด คำว่ากรณีใดในที่นี้แปลว่าอะไร
       2.องค์กรใดที่จะเป็นผู้วินิจฉัยกรณีตามมาตรา 7
        3.ประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคืออะไร
       ในการดำเนินกิจการของรัฐนอกจากจะต้องอาศัยรัฐธรรมนูญและกฎหมายระดับสูงอื่นๆอันเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์อย่างอื่นซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากฎหมายที่ได้กล่าวเลยซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับนั่นคือจารีตประเพณีในการปกครองประเทศซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Convention จารีตประเพณีในการปกครองประเทศมีอยู่หลายอย่างแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่ละประเทศ ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือในเมื่อรัฐทราบถึงความมีอยู่ของจารีตประเพณีเหล่านี้แล้วเหตุใดจึงไม่บัญญัติจารีตดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญเสียเลย คำตอบก็เป็นเพราะรัฐต้องการให้จารีตประเพณีมีการยืดหยุ่นในการใช้บังคับเพราะในบางกรณีการกระทำตามจารีตประเพณีอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ รัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆจึงมักไม่มีการบัญญัติจารีตประเพณีนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นจะเปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียงและยุติเป็นจารีตซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปนั่นเองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น ในประเทศไทยมีจารีตอยู่ประการหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายแม้อาจกระทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคือการไม่พระราชทานร่างกฎหมายคืนภายใน 90 วัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่ปีก่อนได้มีการพระราชทานร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งคืนโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเนื่องมาจากความบกพร่องในเนื้อหาซึ่งขัดแย้งกันเองทำให้ไม่อาจลงพระปรมาภิไธย เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้รัฐสภาจึงตัดสินใจเพิกถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น จึงถือได้ว่าเกิดจารีตประเพณีใหม่ซ้อนไปกับจารีตประเพณีเดิมคือพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายแต่เมื่อใดที่พระองค์ใช้อำนาจนี้รัฐสภาก็ต้องเพิกถอนร่างกฎหมายดังกล่าวให้ตกไป
       การละเมิดจารีตประเพณีในการปกครองประเทศนั้นจะเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญได้ให้ความยืดหยุ่นในการใช้จารีตประเพณีแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องหากจะละเมิดจารีตประเพณีก็ต้องมีคำอธิบายต่อสังคมได้ถึงเหตุในการละเมิดจารีตนั้นหากเหตุผลที่ยกมาไม่อาจฟังได้เพียงพอผู้ละเมิดย่อมได้รับการลงโทษทางสังคม (social sanction)
        แม้ไม่ชัดเจนเท่าผลบังคับทางกฎหมาย (legal sanction) แต่อาจมีความรุนแรงกว่าก็เป็นได้
       จุดประสงค์ของมาตรา 7 ประการหนึ่งจึงเป็นเพื่อสร้างฐานกฎหมายมารองรับจารีตประเพณีการปกครองที่มีอยู่แล้วรวมถึงที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต จุดประสงค์นี้ความจริงแล้วไม่มีบทบัญญัติมาตรา 7 ก็สามารถนำจารีตมาใช้บังคับได้อยู่แล้วเพราะจารีตย่อมเกิดขึ้นจากการยอมรับของทุกส่วนในสังคมว่ามีผลบังคับเสมือนกฎหมาย มาตรา 7 จึงเป็นเพียงการรับรองซ้ำเท่านั้น
       จุดประสงค์อีกประการหนึ่งของมาตรา 7 คือ การอุดช่องว่างของกฎหมายซึ่งเป็นจุดประสงค์ดั้งเดิมที่เป็นเหตุในการบัญญัติไว้เพราะแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีมากถึง 336 มาตรา แต่การที่มีถึง 336 มาตราก็ทำให้เกิดความซับซ้อนอันอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่มีการกล่าวถึงได้ อีกสาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญย่อมมุ่งหมายที่จะใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐไปตราบชั่วนิรันดร์ เมื่อเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆที่รัฐธรรมนูญไม่อาจคิดไปได้ถึงแต่ในเมื่อมีกรณีเกิดขึ้นแล้วก็จำเป็นต้องมีการจัดการ เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติถึง มาตรา 7 จึงให้อำนาจผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะสั่งไปตามเห็นสมควรโดยสอดคล้องกับประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
       คำว่ากรณีตามมาตรา 7 จึงน่าจะหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญ เช่น การเลือกตั้ง การประชุมสภา การออกกฎหมาย เป็นต้น หากเกิดปัญหากับกลไกตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้และไม่มีบทบัญญัติกล่าวถึงทางแก้ปัญหาหรือวิธีการแก้ปัญหาไว้ย่อมนับเป็นกรณีที่จะนำมาตรา 7 มาใช้บังคับ
       ดังได้กล่าวไปแล้วว่ากรณีหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญเพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการไปตามประเพณีการปกครองจึงต้องเป็นผู้มีอำนาจตามกลไกที่เป็นปัญหา เช่นในกรณีที่ได้เกิดขึ้นแล้วคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอยู่เขตการเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัครเพียงคนเดียวแต่เมื่อภายหลังเวลารับสมัครผู้สมัครรายนั้นถูกศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิในการสมัครเลือกตั้งเพราะไม่ได้ไปเลือกตั้งในครั้งก่อน จึงเกิดปัญหาว่าเขตเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีผู้สมัครเลยแม้แต่คนเดียวซึ่งจะทำให้ไม่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบตามกำหนด คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซึ่งศาลได้วินิจฉัยออกมาว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาสั่งตามสมควร
       ในส่วนประกอบที่สามมีคำถามสำคัญว่า อะไรคือประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คำตอบก็คือการวินิจฉัยกรณีปัญหาโดยยึดหลักประชาธิปไตยและหลักเกณฑ์อื่นๆอันได้แก่ จารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติมาและหลักกฎหมายมหาชน
       จะเห็นว่าการใช้มาตรา 7 นั้นอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ซึ่งมิใช่กฎหมายลายลักษณ์อักษรการวินิจฉัยโดยอ้างมาตรา 7 จึงต้องประกอบด้วยเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอเพื่อให้เกิดความชอบธรรมทำให้ปัญหายุติลงได้อย่างแท้จริง ดังเช่นกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้กล่าวถึงไปแล้วได้มีคำสั่งให้เปิดรับสมัครเลือกตั้งใหม่แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงกรณีนี้ไว้ แต่คณะกรรมการออกคำสั่งนี้โดยถือหลักว่าประชาธิปไตยต้องมีตัวแทนของปวงชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งเมื่อเกิดข้อบกพร่องทำให้เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครให้ประชาชนเลือกย่อมชอบที่จะเปิดโอกาสให้มีการสมัครอีกครั้งเพื่อให้การเลือกตั้งได้เกิดขึ้น เหตุผลเหล่านี้ทำให้คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามในที่สุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่