"ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามเป็นจริง"





อะไรเป็นผลโดยตรงของสมาธิ พระพุทธเจ้าตรัสความไว้ว่า "ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามเป็นจริง"
พระพุทธสุภาษิตนี้ คำว่า " ผู้มีจิตตั้งมั่น" คือผู้ที่บริหารจิตให้มีสมาธิได้นั่นเอง
คำว่า "ย่อมรู้ตามเป็นจริง" เป็นทั้งคำอธิบายคำจำกัดความที่เพียงพอของ "ปัญญา"


ถ้าลองคิดทบทวนข้อความที่กล่าวมาสักหน่อย ก็จะพอเห็นความได้ชัดเจนจากตัวอย่างต่าง ๆ
เช่นว่า เมื่ออ่านหนังสือ ฟังคำบรรยายคำสอน หรือแม้ฟังรายการบริหารจิตนี้ จะต้องตั้งใจอ่าน ตั้งใจฟัง
ด้วยการรวมใจเข้ามาอยู่ที่หนังสือที่อ่านหรือเรื่องที่ฟังจึงจะรู้เรื่อง ความตั้งใจดังกล่าวคือความทำจิตให้เป็นสมาธิ


ความรู้เรื่องเป็นปัญญาในขั้นนี้ ตามตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า
ถ้าขาดความตั้งใจเสียแล้วจะไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว ความรู้ที่ได้จะต้องอาศัยความตั้งใจทุกคราวไป
ฉะนั้น จึงควรทราบไว้ก่อนว่าผลโดยตรงของสมาธิ คือ ปัญญา และเป็นผลที่มุ่งหวังโดยตรงด้วย
เรื่องนี้ได้กล่าวรวม ๆ มาโดยลำดับแล้ว เพียงแต่ยังมิได้แยกออกมาต่างหากเท่านั้น


เพราะการจะทำอะไรให้สำเร็จเป็นผลดีนั้น ต้องทำด้วยปัญญาที่ได้จากความตั้งใจให้เป็นสมาธิอยู่ในสิ่งนั้น
ถ้าลำพังแต่สมาธิก็เหมือนคนที่มีเรี่ยวแรงที่จะวิ่งไปได้ไกล แต่ตาบอดมองไม่เห็นอะไร
ปัญญาจักษุคือดวงตาของคน ชนิดที่เป็นแก้วสารพัดรู้ทีเดียว



เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ "คู่มือปัญญา"
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
http://www.sangharaja.org/index.php?option=com_content&view=article&id=1&Itemid=3
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่