ความพอดีของคนเรานั้นอยู่ตรงไหน

คนเราทุกคนเกิดมาต้องดิ้นรนเสาะแสวงหาความพอดีให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครพบความพอดีให้กับตนเองง่ายๆ หรือไม่ก็ไม่เคยพบเห็นไม่เคยรู้มาก่อนว่าความพอดีของต้องการนั้นอยู่ที่ไหน บางครั้งก็พบความพอดีชั่วคราว ไม่ยั่งยืนตามที่คนเราจริงๆ นั้นต้องการ คนเรามีวิธีการเสาะหาความพอดีต่างๆ กันไป ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราเกิดมาไม่มีความรู้เพียงพอที่จะนำไปเสาะหาความพอดีให้กับตนเอง แม้กระทั่งความรู้เกี่ยวกับตนเอง คนเรายังไม่รู้จักทั้งๆ ที่อยู่กับตัวเองนี่แหละ

เพื่อจะได้มีความเข้าใจถูกต้อง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร คนเราเกิดมาเพื่อจะหนีทุกข์ไปหาสุขกันทุกคน สุขนั้นก็ต้องเป็นสุขถาวรตลอดไป สุขชั่วคราวนั้นไม่ใช่จุดหมาย สุขถาวรที่ทุกคนต้องการแปลเป็นภาษาธรรม เรียกว่า นิพพาน ทุกคนเกิดมาต้องการนิพพานกันทุกคน ฉะนั้นเป้าหมายของชีวิตคนเราทุกคนคือนิพพาน

ชีวิตคนเราคืออะไร ชีวิตของคนเราก็คือการเรียนศึกษาฝึกฝนตนเอง คนเราทุกคนเกิดมาไม่ได้อะไรฟรีๆ ต้องศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนเอาทั้งหมด ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ก็ไม่ได้อะไรเลย และชีวิตคนเราต้องฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วเลวยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน แล้วคนเราฝึกตนเองได้โดยเครื่องมือธรรมชาติที่มีมากับตน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียกว่า อินทรีย์ ๖ สิ่งนี้แหละที่ธรรมชาติให้มาเป็นเครื่องมือในการฝึกตนเอง คนเราจะดีหรือเลวอยู่ที่การใช้อินทรีย์ ๖ ถ้าใช้มันแต่รับรู้ความรู้สึกอย่างเดียว ชีวิตก็จะมีแต่ปัญหา ถ้าใช้ในการศึกษาเรียนรู้ ชีวิตก็จะมีปัญหาน้อย พบแต่ความสุข

บุคลที่รู้เรื่องราวโลกและชีวิตดีที่สุดในโลก ก็คือ พระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลก เป็นผู้รู้แจ้งโลกและชีวิต หาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ โลกนี้หรือโลกไหนๆ พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนมนุษย์และเทวดาอยู่ ๔๕ พรรษา รวมคำสอนได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปได้เพียงแต่ว่า พระองค์ท่านสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น คำสอนของพระองค์ท่านถูกจารึกไว้ในพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม ถ้ามนุษย์ต้องการความพอดีในชีวิต ต้องเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ แล้วท่านจะหาความพอดีให้กับชีวิตได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสุดโต่งของมนุษย์ มี ๒ ด้าน คือ ความพอใจสุดโต่ง (กาลสุขัลลิกานุฌยค) และความไม่พอใจสุดโต่ง (อัตตกิลมถานุโยค) มนุษย์ส่วนมากจะตกไปอยู่ในที่สุด ๒ ด้านนี้ตลอด ความพอใจก็คือความโลภ ความไม่พอใจก็คือความโกรธ ตามความพอใจกับไม่พอใจไม่ทันก็คือความหลง ชีวิตของคนเราจึงไปหลงพอใจไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา ไม่มีโอกาสพบความพอดีในชีวิต ความพอดีของชีวิตก็คือหลักทางสายกลาง หรือหลักความจริง รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต ไม่ไปเกี่ยวข้องกับความพอใจ ไม่พอใจ กฎธรรมชาติ ๒ กฎที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ เกิดขึ้น คงอยู่ ดับไป และกฎของเหตุปัจจัย หรือ อิทัปปัจจยนตา ปกิจจสมุปบาท ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ มีเหตุปัจจัยให้เกิดเสมอ

เมื่อคนเราฝึกตนเองให้รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตแล้ว รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบเราหรืออินทรีย์ ๖ ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า สิ่งทั้งปวงไม่เทียง เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็ไม่หลงไปพอใจและไม่พอใจต่อสิ่งที่มากระทบ สัมมาทิฏฐิหรือปัญญาเกิดขึ้นทันที แล้วองค์ธรรมของมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นตามมา คือ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ หรือศีลเกิดขึ้นในตัวเรา จากนั้น สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็จะเกิดตามมาบริบูรณ์ นี่คือหลักความจริง หรือหลักทางสายกลาง หรือหลักความพอดี ความพอดีของคนเราอยู่ตรงนี้

การที่เอาความจริงของโลกและชีวิตและกฎธรรมชาติ ๒ กฎดังกล่าวมาตั้งไว้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นทางแห่งการเกิดทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าเอาความจริงหรือปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ มาตั้งรับกระทบสัมผัส จะทำให้ความคิดถูกต้องขั้น เมื่อคนเราปฏิบัติแบบนี้ พิจารณาขันธ์ ๕ อินทรีย์ ๖ อย่างนี้ตลอดเวลา องค์ธรรมของการบรรลุมรรคผล นิพพาน เกิดขึ้นครบโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปทาน ๔ อิธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ เมื่อมีองค์ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นครบเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ชีวิตของเราก็จะพบความสุขความพอดีที่ถาวร

ความต้องการนี้อยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคน ถ้าสภาวะจิตเบาบางจากกิเลสตัณหาลงไปบ้างจะมองเห็นความจริงอันนี้ได้

ความจริงในโลกและชีวิต สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงเกิดดับ เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว ไม่มีตัวตนเป็นของตน ว่างจากตนและของตน รู้เห็นอย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทแล้วก็จะพาตัวเองตั้งอยู่ในความพอดีของชีวิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่